แก้ไขล่าสุด 03/09/2024

หน้าแรก » ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับผู้ใหญ่ » อุดฟัน – ตอบทุกปัญหาคาใจ

อุดฟัน - ตอบทุกปัญหาคาใจ

อุดฟัน คือ การบูรณะเนื้อฟันที่สูญเสียไปจากสาเหตุต่างๆ เช่น จากฟันผุ หรือฟันแตกหักไป ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้เนื้อฟันตามธรรมชาติต้องถูกทำลายไป อาจจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด, ความไม่สวยงาม และการไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างเต็มที่ ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางทันตกรรมได้มีการพัฒนาไป จนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทำให้การอุดฟัน นอกจากจะทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติแล้ว ยังทำให้การอุดฟันมีความสวยงาม ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ หรือในบางกรณี สวยกว่าฟันธรรมชาติเดิมเสียอีก

อุดฟัน
การอุดฟัน

ทางคลินิกทันตกรรมสมายล์ มีทีมทันตแพทย์เฉพาะทางอุดฟัน และทีมทันตแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆประจำที่คลินิก เพื่อให้การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ของทุกคน ทั้งในด้านของงานทันตกรรมป้องกัน การ อุดฟันหน้า เพื่อความสวยงาม การบูรณะฟันที่มีรอยผุ หรือแตกหักไป และการทำวีเนียร์ เพื่อสร้างรอยยิ้มที่มั่นใจ และบุคลิกภาพที่ดีให้กับทุกท่านค่ะ

การอุดฟัน คืออะไร?
การอุดฟัน คืออะไร?

อุดฟัน คืออะไร

การอุดฟัน คือการเสริม หรือเติมส่วนของเนื้อฟันที่สูญเสียไป จากสาเหตุต่างๆ เช่น ฟันผุ ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันกร่อน โดยวัสดุที่ใช้ในการอุดฟัน จะเป็นวัสดุสังเคราะห์ ที่เลียนแบบเนื้อฟันธรรมชาติ วัตถุประสงค์หลักของการอุดฟัน คือ เพื่อทำให้ฟันซี่นั้นๆ กลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ทั้งในแง่ของการใช้งาน และความสวยงาม

วัสดุอุดฟัน มีกี่ประเภท

โดยทั่วไป จะสามารถแบ่งประเภทของวัสดุอุดฟัน ออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ วัสดุอุดสีเหมือนฟัน และวัสดุอุดสีโลหะ ซึ่งความแตกต่างของวัสดุทั้ง 2 ประเภท และข้อดีข้อเสีย ของวัสดุ มีดังรายละเอียดต่อไปนี้

อุดฟัน - วัสดุอุดฟันอมัลกัม (Amalgam Filling)
อุดฟัน – วัสดุอุดฟันสีเงินอมัลกัม (Amalgam Filling)

วัสดุอุดฟันสีโลหะ

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามชนิดของโลหะ คือ

  1. วัสดุอมัลกัม (Amalgam) หรือวัสดุอุดฟันแบบโลหะสีเงิน ซึ่งอมัลกัม แปลตามรากศัพท์ คือ โลหะเข้าปรอท วัสดุชนิดนี้ เป็นสารประกอบร่วมกันของ เงิน ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง และอาจมีส่วนประกอบอื่นๆร่วมด้วยอีกเล็กน้อย รวมตัวกันอยู่ในรูปของโลหะผสม หรืออัลลอย (alloy) เวลาใช้งาน จะนำมาผสมกับปรอทบริสุทธิ์ 99.99% เมื่อผสมส่วนประกอบเข้าด้วยกันทั้งหมด จะมีลักษณะ นุ่ม กึ่งเหลว ซึ่งทันตแพทย์สามารถกดอัดเข้ากับโพรงฟัน และตกแต่งให้มีรูปร่างคล้ายกับฟันธรรมชาติได้ โดยจะมีการแข็งตัวอย่างเต็มที่ 100% ที่ 24 ชั่วโมง วัสดุอมัลกัมนี้ มีการใช้งานมาอย่างยาวนานนับร้อยปี มีข้อดีหลักๆคือ ใช้งานได้ง่าย มีความแข็งแรง คงทน ราคาไม่แพง และมีปฏิกิริยาต่อความชื้นต่ำ แต่มีข้อเสียหลักๆ คือ เรื่องของความสวยงาม เนื่องจากสีของตัวอมัลกัมนั้น เป็นสีเงิน ซึ่งมีความแตกต่างกับสีขาวของตัวฟันค่อนข้างมาก ไม่สามารถใช้ อุดฟันหน้า ได้ ตัววัสดุอมัลกัม จึงนิยมใช้เฉพาะในกรณีอุดฟันหลัง ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องของความสวยงามมากนัก
  2. การอุดฟันด้วยทอง เนื่องจาก ทอง เป็นโลหะที่มีความเข้ากันกับร่างกายได้ดีมาก มีปฏิกิริยาระคายเคืองเหงือกน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่นๆ จึงมีบางกรณี ที่เลือกใช้ทองเป็นวัสดุบูรณะฟัน แต่โดยส่วนใหญ่ จะเป็นในรูปแบบของการทำอินเลย์ ซึ่งจะต้องมีการขึ้นรูปของทองในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงนำมายึดติดกับตัวฟันที่มีการกรอเตรียมเอาไว้ โดยทองคำ เป็นวัสดุบูรณะฟันที่ดีที่สุด ทั้งในแง่ของการใช้งาน ที่อาจยืนยาวได้ถึงมากกว่า 20 ปี, ความแข็งแรง การรับแรงบดเคี้ยวที่ใกล้เคียงกับฟัน เวลาฟันซี่ตรงข้ามกัดโดนถูกทอง จะไม่ทำให้ฟันคู่สบสึก หรือกร่อนไป รวมถึงในเรื่องของผลข้างเคียงที่อาจเกิดกับผู้ที่แพ้โลหะ เพราะทอง เป็นวัสดุที่มีโอกาสเกิดอาการแพ้ได้น้อยที่สุด นั่นคือ สามารถเข้ากับร่างกายได้ดีที่สุดในกระบวนโลหะทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ดี การใช้ทองเป็นวัสดุบูรณะฟัน จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง ได้แก่ เรื่องราคา อาจกล่าวได้ว่า การ อุดฟัน ราคา แพงที่สุดคือการอุดฟันด้วยทองคำ, อาจต้องใช้เวลาในการมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง ทั้งการกรอแต่งฟัน การพิมพ์ปากเพื่อส่งห้องปฏิบัติการ การลองชิ้นงาน และ การยึดชิ้นงานลงในตัวฟัน รวมถึงข้อจำกัดในเรื่องของความสวยงาม ที่มีความแตกต่างกับสีของเนื้อฟันธรรมชาติ จึงไม่สามารถใช้ทองคำ ในการ อุดฟันหน้า ได้

การอุดฟันด้วยโลหะ ส่วนใหญ่แล้วจะมีข้อดีในแง่ของความคงทน และยืนยาวของวัสดุ แต่มีข้อด้อยหลักๆเลย ก็คือ เรื่องของความสวยงาม เพราะสีของโลหะ จะแตกต่างจากสีของเนื้อฟันธรรมชาติมาก หลายๆคน จึงเลือกใช้วัสดุที่มีสีเดียวกับฟัน ในกรณีของการ อุดฟันหน้า หรือ การอุดฟันหลังที่ต้องการความสวยงาม

อุดฟัน - วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน (Composite Resin)
อุดฟัน – วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน (Composite Resin)

วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน

สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. วัสดุคอมโพสิต เรซิน (Composite Resin) วัสดุชนิดนี้ นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นวัสดุที่ดูสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ มีความแข็งแรงพอประมาณ สามารถใช้ได้ทั้งการ อุดฟันหน้า และ อุดฟันหลัง โดยจะมีขั้นตอนในการทำยุ่งยากกว่าการอุดฟันด้วยอมัลกัม เนื่องจากวัสดุคอมโพสิต เรซิน นี้ จะอ่อนไหวต่อความชื้น ทันตแพทยจะต้องทำการควบคุมความชื้นระหว่างการอุดฟันให้ได้ 100% เพื่อไม่ให้วัสดุหลุดภายหลังอุดฟันไป ซึ่งขั้นตอนในการควบคุมความชื้น หรือที่เรียกกันว่า การกั้นน้ำลาย นั้น จะต้องใช้ผ้าก๊อซใส่ไว้ในช่องปาก บริเวณกระพุ้งแก้ม และลิ้น ร่วมกับการใช้เครื่องดูดน้ำลาย เพื่อดูดเอาของเหลวส่วนเกินออกทั้งหมด วัสุดคอมโพสิต เรซินนี้ จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม คล้ายแป้งโดว์ เวลาใช้งาน ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ไม่ทำให้วัสดุติดสี ตักวัสดุใส่ในโพรงฟันที่ได้รับการกรอแต่งเอาไว้แล้ว จากนั้น จะฉายแสงสีฟ้า เพื่อให้วัสดุแข็งตัว หลังจากนั้น จะทำการขัดแต่งให้ได้รูปทรงตามต้องการ วัสดุชนิดนี้ จะแข็งตัวเต็มที่ทันทีภายหลังการฉายแสง คุณจึงสามารถเคี้ยวอาหารและใช้งานได้ทันทีภายหลังการอุดฟัน แต่ทั้งนี้ วัสดุนี้ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง คือ ความแข็งแรงไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยโลหะ หากอุดในฟันหน้า ต้องระวังอย่าไปกัดหรือเคี้ยวของแข็ง เพราะจะทำให้วัสดุแตกหักได้, อาจมีการติดสีจากชา หรือกาแฟ ที่ตัววัสดุได้ รวมถึงถ้าเปรียบเทียบเรื่องของค่าใช้จ่าย หากใช้คอมโพสิต เรซิน อุดฟัน ราคา จะแพงกว่าการอุดฟันด้วยอมัลกัม
  2. การอุดฟันด้วย พอร์ซเลน (Porcelain) ซึ่งเป็นวัสดุเซรามิก มีความแข็งมาก แต่เปราะ นิยมใช้ในการบูรณะฟันแบบอินเลย์ หรือ ออนเลย์ ซึ่งจะต้องมีการขึ้นรูปในห้องปฏิบัติการ และนำชิ้นงานมายึดติดกับฟันที่ได้รับการกรอแต่งเอาไว้แล้ว ข้อดีหลักๆของการบูรณะฟันด้วยพอร์ซเลน คือ เรื่องของความสวยงาม เนื่องจากชิ้นงาน จะมีสีที่เหมือนกับเนื้อฟันธรรมชาติมาก รวมถึงสามารถใช้ในกรณีของการอุดฟันที่ใหญ่ หรือกว้างมากๆ ซึ่งไม่สามารถอุดด้วยวัสดุชนิดอื่นอยู่ แต่ข้อเสียของการบูรณะฟันด้วยพอร์ซเลนก็คือ ราคาจะสูงใกล้เคียงกับการบูรณะฟันด้วยทอง และมีขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยาก ต้องทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการบูรณะฟันที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี รวมถึง คุณต้องมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง
  3. วัสดุอุดฟันสีขาว ชนิดกลาส ไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer) เป็นวัสดุอุดฟันสีขาว ที่มีข้อดีหลักๆคือ สามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมาจากตัววัสดุอุดได้ และสามารถยึดติดกับเนื้อฟันได้ด้วยพันธะทางเคมี รวมถึง ไม่ค่อยอ่อนไหวต่อความชื้นมากนัก จึงเหมาะมากในการบูรณะฟันที่มีอาการเสียวฟันมากๆ หรือการอุดฟันในกรณีที่อาจควบคุมความชื้นได้ไม่ดีนัก เช่น การผุบริเวณคอฟัน หรือจุดที่ใกล้กับขอบเหงือกมากๆ ซึ่งจะมีของเหลวจากเหงือกซึมมาบริวณโพรงฟันที่ได้รับการกรอแต่งไว้อยู่ตลอดเวลา แต่ข้อเสียหลักๆของวัสดุชนิดนี้ คือ อาจไม่สวยงามเท่ากับวัสดุอุดฟันสีขาว 2 ประเภทแรก และวัสดุกลาส ไอโอโนเมอร์ จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าวัสดุอื่นค่อนข้างมาก จึงเหมาะในการอุดฟันน้ำนม หรือฟันแท้จุดที่ไม่ได้รับแรงบดเคี้ยวโดยตรง เช่น บริเวณคอฟัน แต่อย่างไรก็ดี หากคุณมีฟันผุในช่องปากมากๆ หรือมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดี ทันตแพทย์ อาจพิจารณาใช้วัสดุตัวนี้ในการอุดฟันให้กับคุณ เนื่องจากคุณสมบัติในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมาจากเนื้อวัสดุได้ตลอดอายุการใช้งาน จะมีผลดีในการป้องกันฟันผุซ้ำในบริเวณที่อุดด้วยวัสดุกลาส ไอโอโนเมอร์ไป ซึ่งค่าใช้จ่ายเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้คอมโพสิต เรซิน อุดฟัน ราคา จะใกล้เคียงกันค่ะ

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน เนื่องจากความตื่นกลัวพิษของปรอท ที่อาจส่งผลต่อระบบต่างๆของร่างกาย รวมถึงประเทศในยุโรปบางประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้มีการอุดฟันด้วยโลหะอมัลกัมเด็ดขาด และความตื่นตัวเกี่ยวกับเวชศาสตร์ชะลอวัย ที่มีความกังวลเกี่ยวกับพิษของโลหะหนัก ที่จะเข้ามาอยู่ในร่างกายและช่องปาก หลายๆคน จึงเลือกใช้วัสดุสีขาว เป็นทางเลือกหลักในการบูรณะฟัน

กลับสู่สารบัญ

ขั้นตอนการ อุดฟัน
ขั้นตอนการอุดฟัน

ขั้นตอนการอุดฟัน

ในกรณีที่สมควรได้รับการอุดฟัน ขั้นตอนในการรักษาจะเป็นดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปาก เพื่อดูขอบเขตของรอยผุ หรือรอยแตก เพื่อพิจารณาหาชนิดของวัสดุอุดฟันที่เหมาะสมในการบูรณะฟันของคุณ
  2. ทำการถ่ายภาพรังสี เพื่อประกอบการวินิจฉัย หากพบว่ารอยผุได้ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันแล้ว ฟันซี่ดังกล่าวจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน แต่อาจจะต้องรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน
  3. อาจต้องมีการใส่ยาชาในบางกรณีที่รอยผุลุกลามเข้าไปลึก หรือในกรณีที่อาจมีอาการเสียวฟันขณะกรอกำจัดรอยผุออก เนื่องจากยาชาจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้น และเพื่อที่ทันตแพทย์จะได้สามารถตอบคำถามที่ว่า อุดฟัน เจ็บไหม ได้อย่างเต็มปากว่า อุดฟันไม่เจ็บ (เพราะฟันชาอยู่)
  4. บางกรณีที่ทันตแพทย์จะอุดฟันด้วยวัสดุอุดสีขาว ชนิดคอมโพสิต เรซิน อาจต้องพิจารณาใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายเพื่อช่วยในการควบคุมความชื้น เพราะความชี้นส่วนเกินจากน้ำลาย หรือของเหลวอื่นๆ จะส่งผลต่อการยึดติดของวัสดุกับเนื้อฟัน ทำให้วัสดุยึดกับฟันได้ไม่แน่น และข้อดีของการใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายอีกข้อ คือ จะลดปริมาณน้ำที่เกิดจากการกรอฟัน ไม่ให้ไหลลงไปในคอของคุณ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่คุณจะสำลักน้ำระหว่างทำฟันได้
  5. ทันตแพทย์จะทำการกรอฟัน เพื่อกำจัดรอยผุออกทั้งหมด ในกรณีของฟันแตก ทันตแพทย์อาจต้องมีการกรอฟันเพื่อปรับโพรงฟันให้มีลักษณะเหมาะสมกับการยึดติดของวัสดุอุดฟันแต่ละประเภท
  6. เมื่อทันตแพทย์กำจัดรอยผุออก และเตรียมโพรงฟันเรียบร้อยแล้ว หากพบว่า อยู่ใกล้กับโพรงประสาทฟัน หรือมีโอกาสที่จะเกิดอาการเสียวฟันภายหลังอุด ทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่วัสดุรองพื้นลงไปในโพรงฟันก่อน ซึ่งวัสดุรองพื่น จะมีคุณสมบัติในการปลดปล่อยฟลูออไรด์เพื่อช่วยลดอาการเสียงฟัน และปกป้องโพรงฟัน ไม่ให้เกิดการอักเสบในอนาคต
  7. จากนั้น จะทำการอุดฟันด้วย โดยขั้นตอนของวัสดุแต่ละประเภท จะแตกต่างกันเล็กน้อย
    • วัสดุอมัลกัม: ทันตแพทย์จะนำวัสดุใส่เข้าไปในโพรงฟัน กดแต่งให้เต็ม และตกแต่งรูปร่างของวัสดุให้ใกล้เคียงกับรูปร่างของฟัน จากนั้น จะรอให้แข็งซักเล็กน้อย คุณจะสามารถเคี้ยวอาหาร และใช้งานได้เต็มที่ในเวลา 24 ชั่วโมงภายหลังอุดฟัน เพราะอมัลกัมจะแข็งตัวสมบูรณ์แล้ว
    • วัสดุคอมโพสิต เรซิน: ทันตแพทย์จะปรับสภาพฟันด้วยกรด ความเข้มข้น 37% จากนั้น ล้างออกด้วยน้ำสะอาด ภายหลังฟันได้รับการปรับสภาพแล้ว จะต้องไม่โดนของเหลวอื่นใดอีก ไม่ว่าจะเป็นน้ำ หรือน้ำลาย โดยลักษณะของฟันภายหลังปรับสภาพ จะกลายเป็นรูพรุนที่เล็กมากๆ ระดับไมครน ที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จากนั้น ทันตแพทย์จะกั้นน้ำลาย และทาวัสดุยึดติดลงไปที่ตัวฟัน โดยวัสดุยึดติดนี้ จะมีคุณสมบัติเหมือนกับวัสดุอุดฟัน แต่จะมีความเหลวมากๆ โดยจะไหลลงไปตามรูพรุนที่ตัวฟัน ลังจากทันตแพทย์ฉายแสงให้วัสดุยึดติดแข็งตัว จะเกิดเป็นเสาเล็กๆจำนวนนับไม่ถ้วน เกาะยึดระหว่างตัวฟันกับวัสดุอุดฟัน จากนั้น จะทำการใส่วัสดุอุดฟันลงไปในโพรงฟัน ทำการแต่งรูปร่างให้เหมือนกับฟันธรรชาติเดิม แล้วจึงฉายแสงสีฟ้า เป็นเวลาประมาณ 40 วินาที เพื่อให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ แล้วจึงทำการขัดแต่งรูปร่าง และกำจัดวัสดุอุดฟันส่วนเกินออก
    • กลาสไอโอโนเมอร์: ทันตแพทย์จะปรับสภาพฟันด้วยกรดอ่อนๆ ประมาณ 15 วินาที จากนั้น ล้างกรดส่วนเกินออกด้วยน้ำสะอาด ซึ่งวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ มีทั้งรูปแบบที่ต้องผสมผงกับน้ำด้วยมือ และแบบที่เป็นแคปซูล โดยภายหลังผสมวัสดุอุดเรียบร้อย ทันตแพทย์จะนำวัสดุใส่เข้าไปในโพรงฟัน ตกแต่งรูปร่าง และฉายแสงสีฟ้าให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ อาจมีวัสดุบางรุ่นที่แข็งตัวได้เองในระยะเวลา 4 นาที โดยไม่ต้องฉายแสง และทันตแพทย์ จะทำการขัดแต่งวัสดุให้มีรูปร่างสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติเดิม
  8. ทันตแพทย์จะตรวจเช็คการสบของฟัน โดยวัสดุอุดที่ดี จะต้องกัดพอดีกับฟันเดิมในช่องปาก ไม่สูงจนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันหลังอุด
  9. อาจมีการนัดหมายเพื่อตรวจเช็คภายหลังอุดฟัน 1-2 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขจุดสบที่สูงเล็กๆน้อยๆ ที่หาไม่พบในตอนอุดฟันเสร็จใหม่ๆ

ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้ในการอุดฟันของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่า ฟันซี่นั้นๆต้องอุดใหญ่ หรือเล็ก ซึ่งคุณสามารถนัดหมายเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ เพื่อประเมินเวลาและค่าใช้จ่ายในการอุดฟันได้ค่ะ

กลับสู่สารบัญ

การเตรียมตัวก่อนการอุดฟัน

เพื่อให้การอุดฟันประสบผลสำเร็จอย่างดีที่สุด คุณควรมีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอุดฟัน ดังนี้

  1. นัดหมายเวลาเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ และตรวจสุขภาพเหงือกและฟันโดยรวมก่อน เพื่อประเมินว่า ต้องรักษาโรคเหงือกหรือขูดหินปูนก่อนมั้ย หากคุณมีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาชนิดใด หรือทานยาอะไรอยู่ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย
  2. ทำความสะอาดช่องปาก ด้วยการแปรงฟันมาให้เรียบร้อย
  3. หากคุณมีฟันปลอมชนิดถอดได้ หรือมีรีเทนเนอร์ ควรนำมาด้วย เพื่อให้ฟันที่อุด ใส่ได้พอดีกับเครื่องมือเดิมของคุณ

หากคุณเตรียมตัวมาได้ครบถ้วนดังนี้ การอุดฟันของคุณ ก็มักจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น และประสบผลสำเร็จในการอุดฟันค่ะ

กลับสู่สารบัญ

คำแนะนำภายหลังการ อุดฟัน
คำแนะนำภายหลังการอุดฟัน

คำแนะนำภายหลังอุดฟัน

ภายหลังจากอุดฟันเรียบร้อยแล้ว หลายๆคนคงจะมีข้อสงสัย ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้วัสดุอุดฟันคงอยู่ในช่องปากให้ได้นานที่สุด ซึ่งเรารวบรวมมาให้เป็นข้อๆดังนี้ค่ะ

  1. ภายหลังการอุดฟัน อาจจะมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้บ้าง หากอาการเสียวคงอยู่ไม่นาน คือไม่เกิน 24ชั่วโมง และอาการค่อยๆหายไปเอง จะถือว่าเป็นปกติ แต่ถ้าหากอาการเสียวคงอยู่นานเกินกว่า 1 วัน โดยไม่มีทีท่าจะหายไป หรือเเสียวฟันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มมีอาการปวด คุณควรจะรีบนัดหมายเพื่อกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี ซึ่งอาจแปลว่า รอยผุ ได้ทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน และอาจต้องเข้ารับการรักษารากฟันค่ะ
  2. ควรทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันตามปกติในคืนนั้น หลังจากการอุดฟัน โดยเลือกใช้แปรงขนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบจุลินทรีย์สะสม จนเป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบค่ะ
  3. อาจใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือบ้วนน้ำเกลืออุ่นๆ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปากและตามซอกฟันออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
  4. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งมากๆ หรือกรุบกรอบมากในช่วงแรกก่อน เช่น น้ำแข็ง กระดูกอ่อน หรือเมล็ดถั่ว เนื่องจากอาจทำให้วัสดุบิ่นแตก หรือหลุดได้
  5. ในช่วง 1-2 วันแรก ที่อาจยังมีอาการเสียวฟัน คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่เย็นจัดหรือร้อนจัด เพื่อสังเกตอาการตนเองภายหลังการอุดฟันดูก่อน
  6. กรณีที่อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม ควรต้องรอประมาณ 24 ชั่วโมง จึงค่อยเคี้ยวอาหารด้วยฟันซี่ที่อุดไป เนื่องจากต้องรอให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ก่อน
  7. และที่สำคัญ อย่าลืมนัดหมายทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจเช็คสุขภาพฟันเป็นประจำนะคะ

กลับสู่สารบัญ

กรณีใดที่จำเป็นต้องอุดฟัน

ฟันที่เข้าข่ายจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการอุดฟัน มีดังต่อไปนี้

  1. ฟันผุ: ไม่ว่าจะเป็นฟันผุรูเล็กหรือรูใหญ่ ก็สมควรได้รับการรักษาโดยการอุดฟันทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าฟันซี่ที่ผุ จะยังไม่มีอาการปวดหรือเสียวฟันก็ตาม เนื่องจากหากปล่อยเอาไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ฟันผุ อาจขยายขนาดกว้าง และลึกขึ้น จนเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันได้ค่ะ
  2. ฟันแตก: กรณีที่ไปกัดหรือเคี้ยวโดนของแข็ง จนทำให้เนื้อฟันแตกหัก ก็สมควรจะได้รับการซ่องแซมฟันซี่ดังกล่าวโดยการ อุดฟัน เนื่องจาก หากปล่อยเอาไว้โดยไม่ทำการรักษา จุดที่เนื้อฟันแตกหักไป จะกลายเป็นที่สะสมของเศษอาหาร และทำความสะอาดได้ยาก อันจะส่งผลให้เกิดฟันผุในจุดที่ฟันแตกหักไป ซึ่งฟันผุในจุดที่ทำความสะอาดได้ยากเช่นนี้ จะมีโอกาสลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันได้ง่ายมาก
  3. ฟันบิ่นไป เนื่องจากอุบัติเหตุ: กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือมีการพลัดตกหกล้ม จนฟันมีการบิ่น หรือแตกหักไป สมควรได้รับการ อุดฟันหน้า เพื่อเสริมให้เนื้อฟันกลับมาเต็มซี่เหมือนดังเดิม เนื่องจากเหตุผลทั้งในแง่ความสวยงาม, การป้องกันไม่ให้เกิดการเสียวฟัน รวมถึงป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียแทรกซึมจากเนื้อฟันที่แตก จนเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดรากฟันอักเสบได้ในที่สุด
  4. ช่องห่างระหว่างฟันหน้า: ในกรณีเช่นนี้ หากเป็นกังวลเกี่ยวกับความสวยงาม ก็สมควรได้รับการ อุดฟันหน้า เพื่อปิดช่องว่างที่ห่างนั้น ซึ่งภายหลังจากอุดปิดช่องว่างเรียบร้อยแล้ว คุณจะมีรอยยิ้มที่มั่นใจมากขึ้น
  5. คอฟันสึก: อาจเกิดจากการแปรงฟันที่รุนแรง ไม่ถูกวิธี รวมถึงใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ ทำให้ผิวฟันบริเวณคอฟัน เกิดสึกกร่อนไป กรณีเช่นนี้ สมควรได้รับการอุดฟัน เนื่องจากหากไม่อุด จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ และเนื้อฟันจะสึกมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนมีโอกาสทะลุโพรงประสาทฟันได้
อุดฟัน - อุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน
อุดฟัน – อุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน

อุดฟัน อุดคอฟัน การอุดฟัน
อุดฟัน – อุดคอฟัน

กลับสู่สารบัญ

การอุดฟัน เจ็บไหม?

การอุดฟัน นับเป็นงานทันตกรรมพื้นฐานที่หลายคนอาจจะต้องเคยมีประสบการณ์สัมผัส แต่หากจะถามว่า การอุดฟันเจ็บมั๊ย? ก็คงจะต้องตอบตามความจริงว่า อาจจะมีการเสียวฟันบ้าง หากว่าฟันซี่นั้นๆมีรอยผุที่ลึกหรือใหญ่ ใกล้กับโพรงประสาทฟัน เนื่องจากกระบวนการกรอฟันจะทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของของเหลวที่อยู่ภายในท่อเล็กๆ ที่เรียกว่าท่อเนื้อฟันซึ่งจะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน รวมถึงเมื่อมีการกรอฟันลงไปใกล้กับบริเวณโพรงประสาทฟันที่เป็นที่อยู่ของเส้นประสาทมากมายก็จะทำให้เกิดอาการปวดฟันขึ้นมาได้

แต่ถ้าหากตรวจพบรอยผุตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และรอยผุนั้นยังมีขนาดเล็กไม่ลึก หากถามด้วยคำถามเดียวกันว่า อุดฟัน เจ็บไหม? คำตอบก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ก็คือ ไม่เจ็บและแทบจะไม่มีความรู้สึกอะไรเลย เพราะระยะที่ทำการกรอฟันอยู่ห่างจากโพรงประสาทฟันมากนั่นเอง

ดังนั้นในกรณีที่มีรอยผุที่ลึกและกว้างที่สมควรได้รับการรักษาโดยการอุดฟัน ทันตแพทย์มักจะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่ เพื่อจะได้ให้ฟันชาขณะอุดฟัน และทำให้ไม่มีความรู้สึกเจ็บค่ะ

กลับสู่สารบัญ

ทันตแพทย์อุดฟันเฉพาะทาง

คุณหมอเฉพาะทางสำหรับการอุดฟัน หรือที่เรียกในภาษาทางการว่า ทันตแพทย์เฉพาะทาง ทันตกรรมหัตถการ คือคุณหมอฟันที่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการอุดฟันมาโดยเฉพาะ สามารถบูรณะฟันได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นฟันที่ผุลึก ฟันที่ผุใหญ่ ฟันที่ผุกว้าง หรือการ อุดฟันหน้า เพื่อความสวยงาม รวมทั้ง สามารถออกแบบรอยยิ้ม เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคุณ ในกรณีที่คุณต้องการสร้างความประทับใจด้วยรอยยิ้มค่ะ

ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรมอุดฟัน ประจำคลินิกทันตกรรมสมายล์

ทพญ. ประภาพรรณ ใจกล้า (หมอเบียร์)
สาขา : ทันตกรรมหัตถการ/ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม
ทพญ.นิชาพร ต่อสุวรรณ (หมอเอ๊ะ)
สาขา : ทันตกรรมหัตถการ/ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม
ผศ.ทพญ.พิมพ์มาดา เกษรักษ์ (หมอขวัญ)
สาขา : ทันตกรรมหัตถการ/ทันตกรรมเพื่อความสวยงาม

นอกจากนี้ ทางคลินิกทันตกรรม SmileDC ยังมีทันตแพทย์เฉพาะทางทุกสาขา ไว้คอยให้บริการทางทันตกรรมครบวงจร โดยสามารถกดปุ่มด้านล่างเพื่อตรวจสอบรายชื่อคุณหมอได้เลยค่ะ

กลับสู่สารบัญ

อุดฟัน ราคาเท่าไหร่?

ค่าบริการทันตกรรม อุดฟัน
ค่าบริการ-ทันตกรรม อุดฟัน

ตารางค่าบริการอุดฟัน

วัสดุอมัลกัมราคา 1,000 – 1,700 บาท
วัสดุคอมโพสิตเรซิน (ฟันหน้า)ราคา 1,000 – 1,700 บาท
วัสดุคอมโพสิตเรซิน (ฟันกราม)ราคา 1,000 – 1,700บาท
อุดฟันพร้อมเคลือบหลุมร่องฟันราคา 1,300 บาท
อุดปิดช่องว่างระหว่างฟันหน้าอุดฟันหน้า ราคา เริ่มต้น 3,000 บาท

กรณีที่ลูกค้ามีสิทธิทำฟัน ประกันสังคมสามารถใช้สิทธิทำฟันได้ฟรี 900 บาทต่อปี สำหรับการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และการผ่าฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแค่พกบัตรประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบสิทธิยืนยันการใช้สิทธิประกันสังคม ทันตกรรมได้เลยนะคะ และเพื่อความสะดวกในการใช้บริการ สามารถจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร 096-9420057 ขอบพระคุณมากค่ะ

สามารถตรวจสอบ ราคาอุดฟัน ทั้งฟันหน้า ฟันกราม รวมถึงค่าบริการทางทันตกรรมประเภทอื่นๆที่คลินิกทันตกรรม SmileDC ได้ที่ปุ่มด้านล่างนี้เลยค่ะ

คลินิกทันตกรรม SmileDC อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนที่มีสิทธิทำฟันประกันสังคมสามารถ ใช้สิทธิประกันสังคม-ทันตกรรม ในการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง ไม่ต้องสำรองจ่าย ปีละ 900 บาท ได้โดยตรงที่คลินิกเลยค่ะ

กลับสู่สารบัญ

บทสรุปการอุดฟัน

การอุดฟันเป็นทันตกรรมบูรณะที่ใช้เสริมเนื้อฟันที่สูญเสียไปให้กลับมาเต็ม และสามารถใช้งานได้ใกล้เคียงกับเนื้อฟันเดิม แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีวัสดุอุดฟันชนิดใดที่มีคุณสมบัติดีเทียบเท่ากับเนื้อฟันตามธรรมชาติ ดังนั้นการหมั่นดูแลรักษาทำความสะอาดช่องปาก ควบคู่ไปกับการระมัดระวังการใช้งานฟันไม่ไปใช้งานผิดหน้าที่ และการหมั่นมาพบทันตแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน จะช่วยลดโอกาสที่ฟันของคุณจะต้องโดนอุดฟันได้ค่ะ

กลับสู่สารบัญ

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ การอุดฟัน

อุดฟันแล้วปวด เป็นอะไรไหม?

บางกรณีที่ฟันผุลึกหรือใกล้โพรงประสาทฟันมาก ภายหลังการอุดฟันไป 2-3 วันแรก อาจจะมีอาการปวดเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในระหว่างการกรอฟัน อาจกระตุ้นให้ของเหลวในท่อเนื้อฟันเกิดการเคลื่อนที่ แต่หากอาการปวดค่อยๆดีขึ้น และหายไป ก็ไม่เป็นอะไรค่ะ แต่ถ้ากลับกัน คือ อาการปวดเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ คุณต้องรีบกลับมาพบทันตแพทย์แล้วล่ะค่ะ

อุดฟัน ใช้เวลานานไหม?

การอุดฟันแต่ละซี่จะใช้เวลาไม่เท่ากัน หากอุดฟันเล็กๆ ทันตแพทย์จะใช้เวลาประมาณ 15-30 นาที ต่อซี่ แต่ถ้าหาก อุดฟันที่ผุลึก หรือกว้าง หรืออุดฟันเพื่อความสวยงาม อาจใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ค่ะ

อุดฟันแล้วแตกหลายรอบ ต้องทำอย่างไร?

เบื้องต้น อาจต้องพิจารณาเรื่องของการสบฟันก่อน ว่าฟันที่อุดไปแล้วหลุด เกิดเนื่องมาจากการสบฟันที่ลงแรงตรงวัสดุอุดโดยตรงหรือเปล่า หากเป็นเช่นนั้น การกรอลดจุดสบกระแทก จะช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าหากอุดแล้วแตก เกิดมาจากวัสดุอุดใหญ่เกินไป หรือเนื้อฟันเหลือน้อยเกินไป อาจต้องพิจารณาทำเป็นครอบฟันแทน ทั้งนี้การทำครอบฟันในผู้ใหญ่และการทำครอบฟันเด็ก จะมีความแตกต่างกันไปทั้งตัววัสดุที่ใช้และวิธีการรักษาค่ะ

อุดฟันหน้า ทำไมหมอห้ามกัดของแข็ง?

เนื่องจากการอุดฟันหน้า จะเป็นการเสริมวัสดุคอมโพสิต เรซิน แปะไปบนฟันโดยตรง ซึ่งฟันหน้า จะมีพื้นที่ให้วัสดุยึดเกาะน้อยกว่าในฟันกรามอยู่แล้ว รวมถึงความแข็งแรงของวัสดุคอมโพสิต เรซิน จะไม่ได้แข็งเท่ากับฟันธรรมชาติ ดังนั้น หากได้รับแรงโดยตรงจากการกัดของแข็ง ซ้ำๆ บ่อยๆ อาจทำให้วัสดุอุดฟันบิ่น แตกหัก หรือหลุดออกได้ค่ะ

กลับสู่สารบัญ

แผนที่ SmileDC คลินิกทันตกรรม-สำหรับการ อุดฟัน ทันตกรรมเด็ก และทันตกรรมเฉพาะทางทุกสาขา

SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ของเรา ซึ่งเป็น คลินิกทันตกรรมเด็ก ให้บริการทันตกรรมเด็กเฉพาะทาง ตั้งอยู่ใน เขตสะพานสูง ในโครงการดิไอเฟล บน ถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) ค่ะ

แผนที่ SmileDC
แผนที่ SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์

กลับสู่สารบัญ

เวลาทำการ

จันทร์-เสาร์10:00 – 19:00 น.
อาทิตย์10:00 – 12:00 น.

กลับสู่สารบัญ

สอบถามนัดหมาย – สำหรับการอุดฟัน

ในกรณีที่คุณลูกค้า มีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ อุดฟัน สามารถติดต่อสอบถาม หรือ ทำนัดหมายได้ ทางช่องทาง ดังต่อไปนี้ค่ะ

โทร 096-942-0057 คลินิกทันตกรรม SmileDC
เฟสบุ๊คแชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC
ไลน์แชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC

กลับสู่สารบัญ

บทความที่น่าสนใจ: เคลือบหลุมร่องฟัน