แก้ไขล่าสุด 16/05/2024

หน้าแรก » ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับผู้ใหญ่ » ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการอุดฟัน แก้ฟันผุ-ฟันหักให้สวยดังเดิม

ตอบทุกคำถามเกี่ยวกับการอุดฟัน แก้ฟันผุ-ฟันหักให้สวยดังเดิม

การสูญเสียฟันบางส่วนจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ฟันผุ หรือฟันแตกหัก ซึ่งทำให้เนื้อฟันตามธรรมชาติต้องถูกทำลายไป อาจจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด และไม่สวยงาม รวมถึงทำให้ไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีทางทันตกรรมได้มีการพัฒนาจนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก จึงสามารถทำให้ฟันกลับมาใช้งานได้ตามปกติ และมีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติ หรือในบางกรณีอาจสวยกว่าฟันธรรมชาติเดิม ด้วยการ “อุดฟัน” นั่นเอง

ทันตแพทย์ทำการอุดฟันให้คนไข้

ทางคลินิกทันตกรรมสมายล์ มีทีมทันตแพทย์เฉพาะทางอุดฟัน และทีมทันตแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆประจำที่คลินิก เพื่อให้การดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ของทุกคน ทั้งในด้านของงานทันตกรรมป้องกัน การ อุดฟันหน้า เพื่อความสวยงาม การบูรณะฟันที่มีรอยผุ หรือแตกหักไป และการทำวีเนียร์ เพื่อสร้างรอยยิ้มที่มั่นใจ และบุคลิกภาพที่ดีให้กับทุกท่านค่ะ

การอุดฟัน คืออะไร?

การอุดฟันคืออะไร ?

การอุดฟัน คือ การเสริมหรือเติมส่วนของเนื้อฟันที่สูญเสียไปจากฟันผุ ฟันแตก ฟันบิ่น หรือฟันกร่อน โดยวัตถุประสงค์หลักของการอุดฟัน คือการช่วยทำให้ฟันซี่นั้น ๆ กลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ทั้งในแง่ของการใช้งาน และความสวยงาม ซึ่งจะมีการนำวัสดุสำหรับอุดฟันประเภทต่าง ๆ มาใช้เลียนแบบเนื้อฟันธรรมชาติ

การอุดฟันมีกี่แบบ ? วัสดุอุดฟันมีกี่ประเภท ?

โดยทั่วไป จะสามารถแบ่งประเภทของวัสดุอุดฟัน ออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  1. วัสดุอุดฟันแบบโลหะ
  2. วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน

ซึ่งวัสดุอุดฟันทั้ง 2 ประเภทนี้ มีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกันดังนี้

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเงินอมัลกัม (Amalgam Filling)

วัสดุอุดฟันสีโลหะ

การอุดฟันด้วยโลหะ มีข้อดีในแง่ของความคงทนและยืนยาวของวัสดุ แต่สีของโลหะจะแตกต่างจากสีของเนื้อฟันธรรมชาติมาก ทำให้ไม่สวยงาม วัสดุอุดฟันแบบโลหะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ตามชนิดของโลหะ คือ

  1. วัสดุอมัลกัม (Amalgam)
    วัสดุอมัลกัม หรือวัสดุอุดฟันแบบโลหะสีเงิน เป็นสารประกอบร่วมกันของ เงิน ตะกั่ว ดีบุก ทองแดง และอาจมีส่วนประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วยอีกเล็กน้อย รวมตัวกันอยู่ในรูปของโลหะผสม หรืออัลลอย (Alloy) เวลาใช้งาน จะนำมาผสมกับปรอทบริสุทธิ์ 99.99% เมื่อผสมส่วนประกอบเข้าด้วยกันทั้งหมด จะมีลักษณะ นุ่ม กึ่งเหลว ซึ่งทันตแพทย์สามารถกดอัดเข้ากับโพรงฟัน และตกแต่งให้มีรูปร่างคล้ายกับฟันธรรมชาติได้
  2. การอุดฟันด้วยทอง
    “ทอง” เป็นโลหะที่เข้ากันกับร่างกายมนุษย์ได้ดีมาก จึงมีปฏิกิริยาระคายเคืองเหงือกน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับโลหะชนิดอื่น ๆ จึงมีบางกรณีที่เลือกใช้ทองเป็นวัสดุอุดฟัน ซึ่งการใช้ทองอุดฟันนั้นจะต้องมีการขึ้นรูปของทองในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงนำมายึดติดกับตัวฟันที่มีการกรอเตรียมเอาไว้ โดยทองคำมีความแข็งแรง รับแรงบดเคี้ยวที่ใกล้เคียงกับฟัน ดังนั้นเวลาฟันซี่ตรงข้ามกัดโดนถูกทอง จะไม่ทำให้ฟันคู่สบสึก หรือกร่อนไป อย่างไรก็ตามการใช้ทองอุดฟันนั้นมีราคาแพงที่สุด และอาจต้องใช้เวลาในการมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง รวมถึงยังมีข้อจำกัดในเรื่องของความสวยงามและใกล้เคียงสีฟันธรรมชาติด้วย
การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน (Composite Resin)

วัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน

การอุดฟันด้วยวัสดุสีเหมือนฟัน เป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะมีข้อดีด้านความสวยงาม มีสีใกล้เคียงกับฟันจริงมาก และยังลดความตื่นกลัวพิษของปรอท ที่อาจส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงประเทศในยุโรปบางประเทศ ที่ไม่อนุญาตให้มีการอุดฟันด้วยโลหะอมัลกัมเด็ดขาดด้วย โดยวัสดุอุดฟันสีเหมือนฟันสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. วัสดุคอมโพสิต เรซิน (Composite Resin)
    วัสดุคอมโพสิต เรซิน นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นวัสดุที่ดูสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ มีความแข็งแรงพอประมาณ สามารถใช้ได้ทั้งการอุดฟันหน้าและอุดฟันหลัง วัสดุคอมโพสิต เรซินนี้จะมีลักษณะอ่อนนุ่ม คล้ายแป้งโดว์ เมื่อถึงเวลาใช้งานทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ไม่ทำให้วัสดุติดสี ตักวัสดุใส่ในโพรงฟันที่ได้รับการกรอแต่งเอาไว้แล้ว จากนั้นจะฉายแสงสีฟ้า เพื่อให้วัสดุแข็งตัว หลังจากนั้นจะทำการขัดแต่งให้ได้รูปทรงตามต้องการ ซึ่งวัสดุชนิดนี้จะแข็งตัวเต็มที่ทันทีภายหลังการฉายแสง คุณจึงสามารถเคี้ยวอาหารและใช้งานได้ทันทีภายหลังการอุดฟัน อย่างไรก็ตามวัสดุนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือความแข็งแรงที่ไม่เท่ากับการอุดฟันด้วยโลหะ และหากใช้อุดฟันหน้า ต้องระวังอย่าไปกัดหรือเคี้ยวของแข็ง เพราะจะทำให้วัสดุแตกหักได้ หรืออาจมีการติดสีจากชาหรือกาแฟที่ตัววัสดุได้
  2. การอุดฟันด้วยพอร์ซเลน (Porcelain)
    พอร์ซเลน (Porcelain) ซึ่งเป็นวัสดุเซรามิก มีความแข็งแต่เปราะ ซึ่งจะต้องมีการขึ้นรูปในห้องปฏิบัติการ และนำชิ้นงานมายึดติดกับฟันที่ได้รับการกรอแต่งเอาไว้แล้ว ข้อดีหลัก ๆของการบูรณะฟันด้วยพอร์ซเลนคือเรื่องของความสวยงาม เนื่องจากจะมีสีที่เหมือนกับเนื้อฟันธรรมชาติมาก รวมถึงสามารถใช้ในกรณีของการอุดฟันที่ใหญ่ หรือกว้างมาก ๆ ซึ่งไม่สามารถอุดด้วยวัสดุชนิดอื่นได้ แต่ข้อจำกัดของการบูรณะฟันด้วยพอร์ซเลนก็คือ ราคาจะสูงใกล้เคียงกับการบูรณะฟันด้วยทอง และมีขั้นตอนการทำค่อนข้างยุ่งยาก ต้องทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการบูรณะฟันที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี รวมถึงคนไข้ต้องมาพบทันตแพทย์หลายครั้ง
  3. วัสดุอุดฟันสีขาว ชนิดกลาส ไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer)
    วัสดุอุดฟันแบบกลาส ไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer) เป็นวัสดุอุดฟันสีขาว ที่มีข้อดีหลัก ๆ คือ สามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมาจากตัววัสดุอุดได้ และสามารถยึดติดกับเนื้อฟันได้ด้วยพันธะทางเคมี รวมถึงไม่ค่อยอ่อนไหวต่อความชื้นมากนัก จึงเหมาะมากในการบูรณะฟันที่มีอาการเสียวฟันมาก ๆ หรือการอุดฟันในกรณีที่อาจควบคุมความชื้นได้ไม่ดีนัก เช่น การผุบริเวณคอฟัน หรือจุดที่ใกล้กับขอบเหงือกมาก ซึ่งจะมีของเหลวจากเหงือกซึมมาบริเวณโพรงฟันที่ได้รับการกรอแต่งไว้อยู่ตลอดเวลา แต่ข้อจำกัดหลัก ๆ ของวัสดุชนิดนี้คือ อาจไม่สวยงามเท่ากับวัสดุอุดฟันสีเหมือนฟัน 2 ประเภทแรก และวัสดุกลาส ไอโอโนเมอร์ จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าวัสดุอื่นค่อนข้างมาก จึงเหมาะในการอุดฟันน้ำนม หรือฟันแท้จุดที่ไม่ได้รับแรงบดเคี้ยวโดยตรง
ขั้นตอนการอุดฟันโดยทันตแพทย์

ขั้นตอนการ อุดฟัน

ในกรณีที่สมควรได้รับการอุดฟัน ขั้นตอนในการรักษาจะเป็นดังนี้

  1. ทันตแพทย์จะทำการตรวจในช่องปาก เพื่อดูขอบเขตของรอยผุ หรือรอยแตก เพื่อพิจารณาหาชนิดของวัสดุอุดฟันที่เหมาะสมในการบูรณะฟันของคุณ
  2. ทำการถ่ายภาพรังสี เพื่อประกอบการวินิจฉัย หากพบว่ารอยผุได้ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันแล้ว ฟันซี่ดังกล่าวจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟัน แต่อาจจะต้องรักษารากฟัน หรือถอนฟันแทน
  3. อาจต้องมีการใส่ยาชาในบางกรณีที่รอยผุลุกลามเข้าไปลึก หรือในกรณีที่อาจมีอาการเสียวฟันขณะกรอกำจัดรอยผุออก เนื่องจากยาชาจะช่วยให้คุณรู้สึกสบายมากขึ้น
  4. กรณีที่อุดฟันด้วยวัสดุอุดสีขาว ชนิดคอมโพสิต เรซิน อาจต้องพิจารณาใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายเพื่อช่วยในการควบคุมความชื้น เพราะความชี้นส่วนเกินจากน้ำลาย หรือของเหลวอื่น ๆ จะส่งผลต่อการยึดติดของวัสดุกับเนื้อฟัน ทำให้วัสดุยึดกับฟันได้ไม่แน่น และอีกข้อดีของการใส่แผ่นยางกั้นน้ำลายคือ จะลดปริมาณน้ำที่เกิดจากการกรอฟัน ไม่ให้ไหลลงไปในคอของคนไข้ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสสำลักน้ำระหว่างทำฟันได้
  5. ทันตแพทย์จะกรอฟันเพื่อกำจัดรอยผุออกทั้งหมด ในกรณีของฟันแตก ทันตแพทย์อาจต้องมีการกรอฟันเพื่อปรับโพรงฟันให้มีลักษณะเหมาะสมกับการยึดติดของวัสดุอุดฟันแต่ละประเภท
  6. เมื่อทันตแพทย์กำจัดรอยผุออก และเตรียมโพรงฟันเรียบร้อยแล้ว หากพบว่าอยู่ใกล้กับโพรงประสาทฟัน หรือมีโอกาสที่จะเกิดอาการเสียวฟันภายหลังการอุด ทันตแพทย์อาจพิจารณาใส่วัสดุรองพื้นลงไปในโพรงฟันก่อน ซึ่งจะมีคุณสมบัติในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ เพื่อช่วยลดอาการเสียวฟันและปกป้องโพรงฟันไม่ให้เกิดการอักเสบในอนาคต
  7. จากนั้นจะทำการอุดฟัน โดยขั้นตอนของวัสดุแต่ละประเภทจะแตกต่างกันเล็กน้อย
  8. ทันตแพทย์จะตรวจเช็กการสบของฟัน โดยวัสดุอุดที่ดีจะต้องกัดพอดีกับฟันเดิมในช่องปาก ไม่สูงจนอาจทำให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันหลังอุด
  9. อาจมีการนัดหมายเพื่อตรวจเช็กภายหลังอุดฟัน 1-2 สัปดาห์ เพื่อแก้ไขจุดสบที่สูงเล็ก ๆน้อย ๆ ที่อาจหาไม่พบตอนอุดฟันเสร็จใหม่ ๆ

ทั้งนี้ ระยะเวลาที่ใช้ในการอุดฟันของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าฟันซี่นั้น ๆ ต้องอุดใหญ่ หรือเล็ก ซึ่งคุณสามารถนัดหมายเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ เพื่อประเมินเวลาและค่าใช้จ่ายในการอุดฟันได้

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอุดฟัน

เพื่อให้การอุดฟันประสบผลสำเร็จอย่างดีที่สุด คุณควรมีการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการอุดฟัน ดังนี้

  1. นัดหมายเวลาเพื่อเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์ และตรวจสุขภาพเหงือกและฟันโดยรวมก่อน เพื่อประเมินว่า ต้องรักษาโรคเหงือกหรือขูดหินปูนก่อนหรือไม่ หากคุณมีโรคประจำตัวอะไร แพ้ยาชนิดใด หรือทานยาอะไรอยู่ ควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบด้วย
  2. ทำความสะอาดช่องปาก ด้วยการแปรงฟันมาให้เรียบร้อย
  3. หากคุณมีฟันปลอมชนิดถอดได้ หรือมีรีเทนเนอร์ ควรนำมาด้วย เพื่อให้ฟันที่อุด ใส่ได้พอดีกับเครื่องมือเดิมของคุณ

หากคุณเตรียมตัวมาได้ครบถ้วนดังนี้ การอุดฟันของคุณ ก็มักจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น และประสบผลสำเร็จในการอุดฟัน

คำแนะนำภายหลังการ อุดฟัน

คำแนะนำภายหลังการอุดฟัน

ภายหลังจากอุดฟันเรียบร้อยแล้ว หลาย ๆ คนคงจะมีข้อสงสัยว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้วัสดุอุดฟันคงอยู่ในช่องปากได้นานที่สุด ซึ่งเรารวบรวมมาให้เป็นข้อ ๆ ดังนี้

  1. ภายหลังการอุดฟัน อาจจะมีอาการเสียวฟันเกิดขึ้นได้บ้าง หากอาการเสียวคงอยู่ไม่นาน คือไม่เกิน 24 ชั่วโมง และอาการค่อย ๆ หายไปเอง จะถือว่าเป็นปกติ แต่ถ้าหากอาการเสียวคงอยู่นานเกินกว่า 1 วัน โดยไม่มีทีท่าจะหายไป หรือเสียวฟันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มมีอาการปวด คุณควรจะรีบนัดหมายเพื่อกลับมาพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะนั่นเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดี ซึ่งอาจแปลว่า รอยผุได้ทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน และอาจต้องเข้ารับการรักษารากฟัน
  2. ควรทำความสะอาดฟันโดยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันตามปกติหลังอุดฟัน โดยเลือกใช้แปรงขนนุ่ม และยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคราบจุลินทรีย์สะสมซึ่งเป็นสาเหตุของเหงือกอักเสบ
  3. อาจใช้น้ำยาบ้วนปาก หรือบ้วนน้ำเกลืออุ่น ๆ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อช่วยกำจัดเศษอาหารที่ตกค้างอยู่ในช่องปาก และตามซอกฟันออก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
  4. หลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่มีความแข็งมาก ๆ หรือกรุบกรอบมากในช่วงแรก เช่น น้ำแข็ง กระดูกอ่อน หรือเมล็ดถั่ว เนื่องจากอาจทำให้วัสดุบิ่นแตก หรือหลุดได้
  5. ในช่วง 1-2 วันแรก ที่อาจยังมีอาการเสียวฟัน คุณควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่เย็นจัด-ร้อนจัด เพื่อสังเกตอาการตนเองภายหลังการอุดฟันก่อน
  6. กรณีที่อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม ควรต้องรอประมาณ 24 ชั่วโมง จึงค่อยเคี้ยวอาหารด้วยฟันซี่ที่อุดไป เนื่องจากต้องรอให้วัสดุแข็งตัวเต็มที่ก่อน
  7. อย่าลืมไปพบทันตแพทย์ตามนัดหมายทุก 6 เดือน เพื่อตรวจเช็กสุขภาพฟันเป็นประจำนะคะ

กรณีไหนบ้างที่จำเป็นต้องอุดฟัน

  1. ฟันผุฟันผุ
    ไม่ว่าจะเป็นฟันผุรูเล็ก หรือรูใหญ่ ก็สมควรได้รับการรักษาโดยการอุดฟันทั้งสิ้น เนื่องจากหากปล่อยเอาไว้โดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม ฟันผุอาจขยายขนาดกว้าง และลึกขึ้น จนเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันได้
  2. ฟันแตกฟันแตก
    กรณีที่ไปกัดหรือเคี้ยวโดนของแข็ง จนทำให้เนื้อฟันแตกหัก ควรจะได้รับการอุดฟัน เนื่องจาก หากปล่อยเอาไว้โดยไม่ทำการรักษา จุดที่เนื้อฟันแตกหักไปจะกลายเป็นที่สะสมของเศษอาหาร และทำความสะอาดได้ยาก อันจะส่งผลให้เกิดฟันผุในจุดที่ฟันแตกหักไป ซึ่งฟันผุในจุดที่ทำความสะอาดได้ยากเช่นนี้ จะมีโอกาสลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟันได้ง่ายมาก
  3. ฟันบิ่นไป เนื่องจากอุบัติเหตุฟันบิ่นไป เนื่องจากอุบัติเหตุ
    กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือมีการพลัดตกหกล้ม จนฟันมีการบิ่น หรือแตกหัก สมควรได้รับการอุดฟัน เพื่อเสริมให้เนื้อฟันกลับมาเต็มซี่เหมือนดังเดิม เพื่อความสวยงาม ป้องกันไม่ให้เกิดการเสียวฟัน รวมถึงป้องกันไม่ให้เชื้อแบคทีเรียแทรกซึมจากเนื้อฟันที่แตก จนเข้าสู่โพรงประสาทฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดรากฟันอักเสบได้ในที่สุด
  4. ช่องห่างระหว่างฟันหน้า
    ในกรณีเป็นกังวลเรื่องความสวยงามที่เกิดจากช่องห่างระหว่างฟันหน้า ควรได้รับการอุดฟันหน้าเพื่อปิดช่องว่างที่ห่างนั้น ซึ่งภายหลังจากอุดปิดช่องว่างเรียบร้อยแล้ว คุณจะมีรอยยิ้มที่มั่นใจมากขึ้น
  5. คอฟันสึกคอฟันสึก
    คอฟันสึก อาจเกิดจากการแปรงฟันที่รุนแรง หรือไม่ถูกวิธี รวมถึงใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดหยาบ ทำให้ผิวฟันบริเวณคอฟันเกิดสึกกร่อนไป กรณีเช่นนี้ ควรได้รับการอุดฟัน เนื่องจากหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดอาการเสียวฟัน และเนื้อฟันจะสึกมากขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมีโอกาสทะลุโพรงประสาทฟันได้
ภาพเปรียบเทียบก่อนและหลังอุดฟัน เพื่อปิดช่องว่างระหว่างฟันหน้า
ภาพตัวอย่างคอฟันที่สึกหรอ

การอุดฟันเจ็บไหม ?

อาจมีการเสียวฟันและปวดได้บ้าง หากว่าฟันซี่นั้น ๆ มีรอยผุที่ลึก ใหญ่ หรือใกล้กับโพรงประสาทฟัน แต่หากตรวจพบรอยผุตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และรอยผุนั้นยังมีขนาดเล็ก ไม่ลึก ก็แทบจะไม่มีรู้สึกเจ็บ หรือปวดเลย

บริการอุดฟันราคาเท่าไหร่?

ค่าบริการทันตกรรมอุดฟัน คลินิกทันตกรรม SmileDC

ค่าบริการอุดฟันจะขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้อุดฟัน ดังนี้

  • วัสดุอมัลกัม
  • วัสดุคอมโพสิตเรซิน (ฟันหน้า)
  • วัสดุคอมโพสิตเรซิน (ฟันกราม)

ราคา 1,000-1,700 บาท / ซี่

  • อุดฟันพร้อมเคลือบหลุมร่องฟัน

ราคา 1,300 บาท / ซี่

  • อุดปิดช่องว่างระหว่างฟันหน้า

ราคา เริ่มต้น 3,000 บาท / ซี่

กรณีที่ลูกค้ามีสิทธิทำฟันประกันสังคมสามารถใช้สิทธิทำฟันได้ฟรี 900 บาทต่อปี สำหรับการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และการผ่าฟันคุด โดยไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแค่พกบัตรประชาชนเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการตรวจสอบสิทธิยืนยันการใช้สิทธิประกันสังคมทันตกรรมได้เลย

หากมีปัญหาฟันผุ ฟันแตก หัก บิ่น สามารถใช้บริการอุดฟันเพื่อคืนความสวยงามและประสิทธิภาพการใช้งานของฟันได้เลย และอย่าลืมเลือกคลินิกทันตกรรม SmileDC ที่ให้บริการทันตกรรมโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พร้อมเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน การจัดฟัน การผ่าฟันคุด หรือแม้แต่การรักษาโรคเหงือก และบริการเกี่ยวกับทันตกรรมอื่น ๆ ก็พร้อมให้บริการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 096-942-0057

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. When do you Need a Dental Filling?. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 จาก https://newlookdentalcare.com/blog/when-do-you-need-a-dental-filling/