เผยแพร่ครั้งแรก 24 เมษายน 2019
แก้ไขล่าสุด 07/01/2024
อุดฟันน้ำนม: สำคัญยังไง? วิธีและวัสดุอุดฟันเด็กที่ปลอดภัย
อุดฟันน้ำนม หรือ อุดฟันเด็ก ถือเป็นกระบวนการรักษาทางทันตกรรมเด็ก ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ฟันน้ำนมที่ผุซี่นั้นๆ สามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยอาการฟันน้ำนมผุหรือฟันผุในเด็กเล็ก สามารถพบได้บ่อยตั้งแต่เด็กๆเริ่มมีฟันน้ำนมซึ่แรกขึ้นมาภายในช่องปาก ได้แก่ ช่วงอายุประมาณ 6 เดือน
โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่า ฟันน้ำนมซี่หน้าบน จะมีโอกาสผุได้ง่ายกว่าฟันน้ำนมซี่หน้าด้านล่าง นอกจากนี้ยังพบว่า ฟันกรามด้านบดเคี้ยวก็เป็นอีกซี่หนึ่งที่มีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายเช่นเดียวกัน เพราะเป็นฟันที่อยู่ด้านใน มักจะมีเศษอาหารติดตามร่องฟัน และเพิ่มโอกาสเกิดฟันผุในเด็กเล็กได้ค่ะ
การอุดฟันน้ำนม คืออะไร?
การอุดฟันน้ำนม คือ การซ่อมแซมเนื้อฟันที่มีรอยผุ เพื่อให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ โดยฟันที่จะสามารถทำอุดได้ ส่วนใหญ่จะเป็นฟันที่ยังไม่มีอาการปวดหรือบวม โดยส่วนมากแล้วฟันน้ำนมจะมีโอกาสผุง่ายกว่าฟันแท้ เพราะเนื้อฟันน้ำนมมีความหนาน้อยกว่าและขนาดที่เล็กกว่าฟันแท้มาก
แต่ทั้งนี้ ในเด็กที่มีอายุประมาณ 6-7 ปี จะพบว่า ฟันกรามแท้ซี่ในสุด จะมีโอกาสผุสูงเช่นกัน สำหรับการอุดฟันเด็กนั้น ฟันซี่ไหนเหมาะสมกับวัสดุอุดฟันประเภทใด จะแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของทันตแพทย์เด็กเป็นสำคัญค่ะ
หัวข้อที่น่าสนใจของการอุดฟันเด็ก
อุดฟันน้ำนม มีกี่ประเภท?
อุดฟันน้ำนม หรือ อุดฟันเด็กนั้น มีวัสดุที่นิยมใช้อยู่หลายประเภท ขึ้นอยู่กับลักษณะการผุของฟันซี่นั้นๆ ว่าเหมาะสมกับวัสดุอุดฟันประเภทใด โดยคุณหมอฟันเด็กจะเป็นผู้พิจารณาว่าควรใช้วัสดุชนิดใด ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้จะมีด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่ การอุดฟันน้ำนม ด้วยวัสดุคอมโพสิตเรซิน วัสดุอมัลกัม และ วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ ซึ่งมีความแตกต่าง และ รายละเอียดดังต่อไปนี้
1. อุดฟันน้ำนม ด้วยวัสดุคอมโพสิตเรซิน (Composite Resin)
การอุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุคอมโพสิตเรซิน ซึ่งเป็นวัสดุโพลีเมอร์ที่มีสีเดียวกับเนื้อฟัน มีความแข็งแรงใกล้เคียงกับเนื้อฟัน นิยมใช้ในการอุดฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม หรืออุดฟันหลังที่ทันตแพทย์เด็ก สามารถควบคุมความชื้นจากน้ำลายในช่องปากได้
2. อุดฟันน้ำนม ด้วยวัสดุอมัลกัม (Amalgam)
การอุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุอมัลกัม จะเป็นวัสดุอุดฟันสีเงินที่มีความแข็งแรงสูง เหมาะสำหรับอุดฟันกรามที่ต้องรับแรงบดเคี้ยว หรือในฟันที่ไม่สามารถกั้นน้ำลายได้ แต่จะไม่ใช้วัสดุชนิดนี้ในการอุดฟันบริเวณที่ต้องการความสวยงาม ทั้งนี้เนื่องจากสีของวัสดุมีสีเงินไม่สวยงามเหมือนกับสีของเนื้อฟันจริง
3. อุดฟันน้ำนม ด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ (Glass Ionomer)
การอุดฟันน้ำนมด้วยกลาสไอโอโนเมอร์ จะเป็นวัสดุอุดฟันสีขาวที่มีความสามารถพิเศษในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ ออกมาได้จากเนื้อวัสดุเอง แต่จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าเนื้อฟัน วัสดุชนิดนี้ นิยมใช้ในกรณีที่ ฟันซี่ดังกล่าวอุดด้วยวัสดุตัวอื่นไปแล้วเสียวฟัน (เพราะฟลูออไรด์ที่ปล่อยออกมาจากวัสดุจะช่วยลดอาการเสียวฟันได้) หรือจะนิยมใช้ในผู้ที่มีฟันผุเยอะๆ ทั้งนี้ทันตแพทย์เด็กจะพิจารณาใช้วัสดุชนิดนี้ ในบริเวณที่ไม่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมากๆ
การอุดฟันน้ำนม มีวิธีการอย่างไร?
สำหรับวิธีการอุดฟันน้ำนม หรือ อุดฟันเด็ก จะใช้วิธีเดียวกับในผู้ใหญ่ แต่จะแตกต่างกันที่ วิธีบริหารจัดการพฤติกรรม เพื่อให้เด็กยอมรับการอุดฟัน คุณหมอฟันเด็กอาจจะมีการใช้ ยาชาเฉพาะที่ เพื่อควบคุมความเจ็บ หรือป้องกันไม่ให้เด็กเสียวฟัน ขณะทำการกรอเนื้อฟันผุออก รวมทั้งอาจพิจารณาใช้ “แผ่นยางกันน้ำลาย” เพื่อช่วยลดปริมาณของน้ำ ไม่ให้ไหลลงคอเด็ก ซึ่งรายะเอียดของขั้นตนการอุดฟันน้ำนม มีดังนี้
1.ประเมินรอยผุ ว่าควรจะบูรณะฟันซี่นั้นๆด้วยวิธีไหน
ก่อนที่ทันตแพทย์เด็กจะทำการอุดฟัน จะต้องมีการประเมินขนาดและความลึกของรอยผุก่อน เนื่องจากการอุดฟันโดยเฉพาะฟันน้ำนมที่มีขนาดเล็กซึ่งอาจจะไม่ใช่ทุกกรณีที่จะสามารถอุดฟันซี่นั้นๆได้
ทันตแพทย์เด็กจะพิจารณาอุดฟัน หากรอยผุมีขนาดใหญ่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของตัวฟัน และไม่ผุลงไปลึกจนถึงโพรประสาทฟันน้ำนม เนื่องจากหากรอยผุมีขนาดใหญ่เกินไป จะทำให้วัสดุอุดฟันไม่แข็งแรง แตกหัก และหลุดได้ง่าย
อีกทั้งหากรอยผุลุกลามลงไปจนถึงบริเวณโพรงประสาทฟัน ก็จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันเช่นเดียวกันค่ะ เนื่องจากหากอุดฟันซี่นั้นๆไป จะทำให้เกิดอาการปวดฟันตามมาอย่างแน่นอนค่ะ
ซึ่งขั้นตอนการตรวจประเมินนี้ ทันตแพทย์เด็กหรือหมอฟันเด็ก จะทำการตรวจทางช่องปาก ซึ่งจะมีการใช้เครื่องมือเขี่ยเอาเศษอาหารที่ติดอยู่ออกทั้งหมดก่อน และอาจจะต้องทำการขัดฟันเพื่อกำจัดคราบพลัคออก จะได้เห็นรอยผุได้ชัดเจนที่สุดค่ะ
2. ทำการถ่ายภาพรังสี
ในบางกรณี จะพบว่ารอยผุที่ตรวจพบในช่องปาก มีขนาดไม่ใหญ่ ไม่กว้าง แต่มีลักษณะที่ลึกลงไปในตัวฟัน ลักษณะรอยผุดังกล่าวนี้ จะสามารถวินิจฉัยได้โดยการถ่ายภาพรังสี หรือที่เรียกกันว่า ทำการ x-ray ฟัน
การถ่ายภาพรังสี จะช่วยให้ทันตแพทย์สามารถระบุความลึกของรอยผุได้ และยังทำให้สามารถตรวจพบรอยผุที่อยู่ตามซอกฟัน ที่อาจไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากการตรวจวินิจฉัยทางคลินิกค่ะ
ซึ่งวิธีการถ่ายภาพรังสี โดยเฉพาะในเด็ก ทันตแพทย์สำหรับเด็ก จะต้องทำการใส่เสื้อกันรังสีให้เด็กก่อน แล้วจึงนำเครื่องมือในการถ่ายภาพรังสี ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าที่ใช้ในช่องปากผู้ใหญ่ และจะขอให้เด็กกัดเครื่องมือนั้นๆเอาไว้ จากนั้น ทันตแพทย์จะทำการแปลผลภาพรังสี โดยภาพถ่ายรังสี จะสามารถบอกได้ว่า รอยผุของฟันซี่นั้นๆ ไปถึงระดับไหนแล้ว ยังสามารถรักษาโดยการอุดได้หรือไม่ (หากผุไปจนถึงโพรงประสาทฟัน จะไม่สามารถอุดได้ค่ะ) และยังสามารถบอกได้อีกด้วยว่า ฟันซี่ดังกล่าว จะมีอายุอยู่ในช่องปากอีกกี่ปี เพราะถ้าหากฟันจะยังอยู่ในช่องปากน้อยกว่า 6 เดือน ทันตแพทย์ จะพิจารณาไม่อุดฟันน้ำนมซี่นั้นๆ เนื่องจากสามารถปล่อยให้หลุดไปเองได้ค่ะ
ปริมาณของรังสีที่ใช้ในการ X-Ray ฟันมีความเข้มน้อยมาก ซึ่งการถ่ายภาพรังสีในช่องปาก โดยมีการใส่เสื้อกันรังสีที่ถูกต้อง และปิดบริเวณลำคอ จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กๆค่ะ
3. ใส่ยาชา
ในขั้นตอนของการอุดฟัน หากทันตแพทย์สำหรับเด็กประเมินแล้วว่า ฟันที่จะต้องบูรณะ มีรอยผุที่ลึกถึงชั้นเนื้อฟัน ส่วนใหญ่ทันตแพทย์มักจะใส่ยาชา เพื่อไม่ให้เด็กรู้สึกเสียวฟันในระหว่างขั้นตอนการอุดฟัน
ผู้ปกครองหลายท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องฉีดยาชา เพื่อทำการอุดฟัน คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่แล้ว เด็กๆมักจะมีแนวโน้มไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการทำฟันอยู่แล้ว กระบวนการกรอฟัน จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟัน หรืออาจจะรู้สึกปวดฟันได้ในกรณีที่รอยผุลุกลามไปใกล้โพรงประสาทฟัน ดังนั้น ทันตแพทย์สำหรับเด็ก จึงจำเป็นต้องฉีดยาชา เพื่อระงับความรู้สึกเสียวและปวดที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะทำการอุดฟันค่ะ
เทคนิคการฉีดยาชาสำหรับเด็กนั้น ทันตแพทย์จะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่ป้ายไปยังบริเวณเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก จุดที่จะทำการฉีดยาชาลงไป และใช้เทคนิคทางจิตวิทยาต่างๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กก่อนการฉีดยาชา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลใจเรื่องการฉีดยาชาเลยนะคะ คุณหมอฟันเด็ก จะมีวิธีการให้เด็กๆไม่กลัวและไม่เจ็บแน่นอนค่ะ
4. ใส่แผ่นยางกันน้ำลาย
กระบวนการกรอฟันที่ผุ จะมีการใช้หัวกรอ ที่มีน้ำฉีดออกมาเพื่อลดความร้อน ซึ่งถ้าไม่มีน้ำคอยมาหล่อเย็นบริเวณหัวกรอฟัน เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันอาจจะได้รับความเสียหายจากความร้อนที่เกิดขึ้นขณะกรอฟัน
ซึ่งน้ำที่เกิดขึ้นในระหว่างการกรอฟัน รวมถึงน้ำที่ต้องใช้ในกระบวนการอุดฟัน อาจจะทำให้เด็กบางคนเกิดสำลักน้ำ หรือเกิดความรู้สึกไม่ค่อยสบาย ที่มีน้ำอยู่ในลำคอ ถึงแม้ว่าจะมีการใช้ที่ดูดน้ำลาย คอยดูดน้ำส่วนเกินที่เกิดขึ้นออกอยู่ตลอดเวลา แต่เด็กหลายๆคน ก็ยังไม่ค่อยชอบที่มีน้ำอยู่ในช่องปาก
การใส่แผ่นยางกันน้ำลาย จะช่วยลดการเกิดปัญหาการสำลักน้ำดังกล่าวข้างต้นได้ เนื่องจากแผ่นยางนี้ จะทำหน้าที่เป็นตัวแยกฟันที่จะทำการรักษาออกจากส่วนอื่นๆในช่องปาก คุณหมอฟันเด็กหลายๆคน จะบอกกับเด็กๆว่า จะทำการกางร่ม หรือใส่เสื้อกันฝนให้กับฟันของเด็กๆ และเด็กๆ จะไม่รู้สึกว่ามีน้ำส่วนเกินอยู่ในช่องปากและลำคอ เด็กส่วนใหญ่จะรู้สึกสบาย และให้ความร่วมมือในการทำฟันมากขึ้นค่ะ
5. กำจัดเนื้อฟันส่วนที่ผุออก
จากนั้นทันตแพทย์สำหรับเด็กจะทำการกำจัดเนื้อฟันส่วนที่เสีย หรือส่วนที่ผุออกทั้งหมด เพื่อเป็นการหยุดยั้งกระบวนการเกิดฟันผุ เนื่องจากฟันผุจัดเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง หากเราไม่ทำการกำจัดเชื้อแบคทีเรียในฟัน ที่อาศัยอยู่ในฟันที่ผุออกจนหมด โรคฟันผุ จะยังคงสามารถเกิดผุต่อลุกลามไปได้ แม้ว่าจะอุดฟันซี่นั้นๆไปแล้วก็ตาม
การกำจัดเนื้อฟันที่ผุออก ทันตแพทย์อาจจะใช้ร่วมกันทั้งหัวกรอเร็ว (ที่มีน้ำเป็นตัวลดความร้อนขณะกรอฟัน) หัวกรอช้า (ที่อาจทำให้รู้สึกสั่นๆขณะกรอ) และใช้เครื่องมือในการขูดเอาเนื้อฟันที่มีรอยผุออก ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือชนิดใด จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทันตแพทย์เด็ก และขึ้นอยู่กับระยะของการผุค่ะ
6. ใส่วัสดุรองพื้น เพื่อป้องกันการเสียวฟัน
ภายหลังจากที่ทันตแพทย์ทำการกรอเอาเนื้อฟันส่วนที่มีรอยผุออกทั้งหมดแล้ว หากพบว่า เนื้อฟันสูญเสียไปมาก จนถึงระดับชั้นเนื้อฟัน (หรือชั้น dentin) ซึ่งฟันชั้นนี้ จะมีท่อเนื้อฟันอยู่เป็นจำนวนมาก และหากมีการกระตุ้นท่อเนื้อฟันเหล่านี้ ด้วยความเย็น ความร้อน หรือกระตุ้นด้วยของหวาน จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันภายหลังการอุดฟันได้
ทันตแพทย์ มักจะทำการปิดชั้นเนื้อฟันนี้ ด้วยวัสดุที่มีคุณสมบัติในการลดการเสียวฟัน และสามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อฟันมาปิดผนึกท่อฟันเหล่านี้ ซึ่งวัสดุที่นิยมใช้ในการรองพื้นเพื่อลดอาการระคายเคืองภายหลังการอุฟัน คือ กลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ ที่มีคุณสมบัติเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อในร่างกาย และยังสามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมาได้ในปริมาณมาก เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายมากที่สุดภายหลังการอุดฟัน
บางกรณี ที่รอยผุใกล้จะทะลุไปถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์อาจจะพิจารณาเหลือรอยผุในบริเวณที่ลึกมากๆเอาไว้ เนื่องจากถ้ากรอเอารอยผุบริเวณจุดที่ลึกมากๆออก อาจจะเกิดทะลุโพรงประสาทฟัน จนไม่สามารถรักษาฟันซี่นั้นๆด้วยการอุดฟันธรรมดาได้ (เนื่องจากต้องรักษารากฟันแทนค่ะ) ทันตแพทย์จะมีการนำเอาสารที่มีค่าความเป็นด่างที่สูง (เช่น แคลเซียมไฮดรอกไซด์) มาฉาบปิดเอาไว้ เพื่อยับยั้งแบคทีเรียที่ยังคงหลงเหลืออยู่นปริมาณน้อย ไม่ให้เกิดลุกลามเข้าไปในโพรงประสาทฟัน รวมทั้งยังมีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดชั้นเนื้อฟันขึ้น เพื่อลดอาการเสียวหรือปวดภายหลังการรักษาฟันที่ผุลึกๆอีกด้วยค่ะ
แต่ทั้งนี้ วัสดุอุดฟันบางประเภท เช่น วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์แบบที่แข็งตัวด้วยแสง ที่มีการเสริมความแข็งแรง ให้รับแรงบดเคี้ยวได้มากเป็นพิเศษ สามารถนำมาใช้เป็นทั้งวัสดุรองพื้น และวัสดุอุดฟันได้ด้วยตัวของมันเองเลยค่ะ เนื่องจากตัวของวัสดุดังกล่าวนี้ จะสามารถปลดปล่อยฟลูออไรด์ออกมา ได้ตลอดอายุการใช้งานของวัสดุ จึงช่วยลดภาวะเสียวฟันหลังอุดฟันได้เป็นอย่างดีค่ะ
7. อุดฟันน้ำนม
ภายหลังจากทันตแพทย์กรอเอาเนื้อฟันที่ผุออกไป จะต้องมีการอุดฟัน เพื่อให้มีวัสดุมาทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหารแทนเนื้อฟันที่สูญเสียไป กระบวนการบูรณะฟันดังกล่าวนี้ เรียกว่า การอุดฟัน
วัสดุที่จะนำมาใช้ในการอุดฟัน มีด้วยกันหลากหลายประเภท ซึ่งแต่ละประเภท จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ซึ่งทันตแพทย์สำหรับเด็ก จะทำการพิจารณาเลือกวัสดุชนิดที่เข้ากันได้ดีที่สุดกับลักษณะฟันที่เหลืออยู่ของเด็ก เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความสวยงาม และอายุการใช้งานของวัสดุ ก็จะต้องยืนยาวได้จนฟันน้ำนมดังกล่าวหมดอายุไป
ในฟันหลัง อาจจะเลือกใช้วัสดุสีขาวหรือสีเงิน ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆเช่าน ถ้าเป็นบริเวณที่กั้นน้ำลายได้ยาก อาจพิจารณาใช้วัสดุสีเงิน ที่มีความอ่อนไหวต่อความชื้นน้อยกว่า หรือถ้าเด็กมีลักษณะการใช้งานฟันมากๆ (เช่น มีฟันสึก หรือเด็กเคี้ยวของแข็งมากๆ) วัสดุสีเงิน จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากมีความแข็งแรง และรับแรงบดเคี้ยวได้มากกว่าวัสดุสีขาวค่ะ แต่ถ้าเป็นฟันที่มีรอยผุขนาดเล็กๆ ที่มีเนื้อฟันส่วนที่ยังไม่ผุอยู่ด้วย ทันตแพทย์สำหรับเด็ก อาจพิจารณาอุดเป็นวัสดุสีขาว และเคลือบหลุมร่องฟันทับไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อฟันจุดที่ยังไม่ผุ เกิดปัญหาขึ้นมาค่ะ
แต่ถ้าเป็นฟันหน้า ทันตพทย์จะไม่เลือกวัสดุอุดฟันสีเงินในการอุดฟันให้กับเด็กๆค่ะ เนื่องจากเหตุผลด้านความสวยงาม เพราะคงไม่มีเด็กคนไหน หรือผู้ปกครองท่านใด อยากยิ้มออกมาเห็นวัสดุอุดฟันสีเงินในฟันหน้าแน่นอนค่ะ ซึ่งวัสดุสีขาว ก็จะต้องให้ทันตแพทย์พิจารณาปลีกย่อยลงไปอีก ว่าเนื้อฟันที่เหลืออยู่ เหมาะกับการอุดฟันด้วยวัสดุคอมโพสิต เรซิน หรือวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ มากกว่ากันค่ะ
8. ตรวจเช็คการสบฟัน และขัดแต่งวัสดุอุดฟัน
ภายหลังจากทันตแพทย์สำหรับเด็กอุดฟันเรียบร้อยแล้ว วัสดุอุดจะยังคงมีส่วนที่เกินหรือไม่เรียบอยู่บ้างบางส่วน ซึ่งจะทำให้เด็กรู้สึกว่าสากลิ้นหรือฟันมีส่วนที่แข็งยื่นเกินออกมา คุณหมอฟันเด็กจำเป็นจะต้องทำการขัดแต่งวัสดุอุดให้มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับฟันเดิมมากที่สุด โดยขั้นตอนการขัดแต่งวัสดุอุดฟัน จะไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด หรืออาการเสียวฟันแต่อย่างใด
รวมถึงทันตแพทย์จะต้องทำการตรวจเช็คการสบฟันของเด็กด้วย โดยการอุดฟันที่ดี จะต้องไม่ทำให้การสบฟันของเด็กเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เด็กจะต้องไม่มีจุดที่ค้ำ หรือจุดที่สบสูง และไม่มีจุดที่กัดกระแทก เนื่องจากหากเกิดกรณีดังกล่าว อาจทำให้วัสดุอุดฟันแตก หรือหลุด รวมถึงอาจทำให้เกิดอาการปวดฟันหรือเสียวฟันหลังอุดได้ค่ะ
วิธีการขัดแต่งวัสดุอุดฟัน ทันตแพทย์อาจจะใช้หัวกรอแบบเร็ว (มีน้ำหล่อเย็น) หรือแบบช้าในการขัดแต่ง ซึ่งทันตแพทย์จะทำการขัดแต่งให้ได้รูปทรงที่สวยงามโดยที่ยังใส่แผ่นยางกันน้ำลายอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กสำลักน้ำที่เกิดจากการใช้ด้ามกรอฟัน แต่ทั้งนี้ การตรวจเช็คการสบฟัน จะทำได้ก็ต่อเมื่อถอดแผ่นยางกันน้ำลายออก ดังนั้น อาจมีช่วงเวลาหลังอุดฟันที่ทันตแพทย์ต้องทำการกรอแต่งฟัน โดยไม่มีแผ่นยางกันน้ำลาย แต่จะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆเท่านั้นค่ะ
9. การให้คำแนะนำภายหลังการอุดฟัน
ส่วนใหญ่แล้วหากทันตแพทย์อุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันสีขาว วัสดุมักจะแข็งตัวเรียบร้อยภายหลังการฉายแสง พร้อมใช้งานได้ทันที แต่ถ้าหากทันตแพทย์อุดฟันด้วยวัสดุอมัลกัม หรือวัสดุอุดฟันสีเงิน วัสดุดังกล่าว จะมีการแข็งตัวเต็มที่ใน 24 ชั่วโมง ดังนั้น เด็กควรจะหลีกเลี่ยงอย่าเพิ่งเคี้ยวด้านที่เพิ่งอุดไปเป็นเวลา 1 วัน แต่ในกรณีที่เด็กยังเล็ก อาจจะไม่สามารถหลีเลี่ยงการเคี้ยวในด้านที่เพิ่งอุดไปได้ ผู้ปกครอง ควรให้เด็กทานอาหารอ่อน หรืออาหารที่ไม่ต้องใช้แรงบดเคี้ยวเยอะ เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือน จนกว่าวัสดุจะแข็งตัวเต็มที่ค่ะ
บางกรณี ทันตแพทย์สำหรับเด็กอาจเลือกใช้วัสดุอุดฟันสีขาวที่ต้องใช้ระยะเวลาในการแข็งตัว (เช่น วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์บางประเภท ที่ไม่ได้แข็งตัวโดยการฉายแสง) ผู้ปกครอง ก็ควรจะให้เด็กหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียวเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกันค่ะ
หากทันตแพทย์สำหรับเด็กทำการฉีดยาชาเพื่ออุดฟัน ผู้ปกครองจะต้องคอยดูแลไม่ให้เด็กกัดปาก ดูดปาก หรือหยิกริมฝีปาก แก้ม และลิ้นของตัวเอง เนื่องจากในขณะที่ยังชาอยู่ เด็กจะสามารถกัดเนื้อเยื่อเหล่านั้นจนเป็นแผล เนื่องจากเด็กไม่ได้รู้สึกว่าเจ็บ แต่ถ้ายาชาหมดฤทธิ์ไปแล้ว แผลที่เกิดจากการกัดปากตัวเอง จะสร้างความเจ็บปวดให้เด็กเป็นอย่างมาก และต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ กว่าแผลจะกลับมาหายดีเป็นปกติ
การดูแลรักษาภายหลังการอุดฟันน้ำนม ให้ใช้งานได้ยาวนาน
เพื่อประสิทธิภาพและผลลัพธ์ของการอุดฟันที่ดีที่สุด การดูแลฟันที่อุดฟันอย่างถูกวิธี จะช่วยยืดอายุการใช้งานของวัสดุอุดฟัน และจะช่วยให้ฟันซี่ที่อุดนั้น สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพค่ะ
ซึ่งวิธีการดูแลรักษาวัสดุอุดฟันสามารถทำได้ดังนี้ คือ
1.ปฏิบัติตามคำแนะนำภายหลังการอุดฟันของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่วัสดุอุดฟันแข็งตัวเรียบร้อยภายหลังการอุด เด็กก็จะสามารถรับประทานอาหารได้ทันที แต่ถ้าหากวัสดุอุดฟันยังไม่แข็งตัวเต็มที่ ผู้ปกครองควรพิจารณาเลือกอาหารอ่อนให้เด็กรับประทานในวันที่ทำการอุดฟัน หรือตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อไม่ให้วัสดุที่ยังมีความแข็งแรงไม่มากพอเสียรูปทรง หรือหลุดออกมาจากฟันค่ะ
2. ระมัดระวังไม่กัดของแข็ง หรือเหนียวโดยตรง
หากว่ามีการบูรณะฟันหน้า หรือทำการอุดฟันหน้าขนาดใหญ่ไป การกัดอาหารที่มีความแข็ง เหนียว โดยใช้ฟันหน้ากัด จะส่งผลให้วัสดุอุดฟันแตก หรือหลุดออกมาทั้งชิ้นได้ เนื่องจากฟันน้ำนมของเด็ก มีขนาดเล็ก พื้นที่ผิวของฟันในการยึดเกาะกับวัสดุอุด จึงมีพื้นที่น้อยตามไปด้วย ส่งผลให้การอุดฟันน้ำนมมีแนวโน้มที่จะหลุดง่ายกว่าในฟันแท้อยู่แล้ว
การโดนแรงกัด หรือแรงกระแทกโดยตรง จึงเป็นการกระตุ้นให้วัสดุอุดฟันหน้า แตกหรือบิ่นได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่ วัสดุมักจะไม่แตกหรือหลุดออกมาล้วนๆ เราพบว่า มักจะมีเนื้อฟันแตกออกมาเพิ่มทุกครั้งที่วัสดุอุดฟันหลุด ส่งผลให้การอุดฟันซ้ำๆในซี่เดิม จะเป็นการอุดฟันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และถ้าหากกระบวนการนี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ฟันซี่ดังกล่าว จะสูญเสียเนื้อฟันไปมากจนไม่สามารถบูรณะได้ด้วยการอุดฟัน (อาจจะต้องครอบฟันแทนค่ะ)
ผู้ปกครองควรเน้นย้ำกับเด็ก เรื่องของการหลีกเลี่ยงการกัดอาหารหรือขนมโดยใช้ฟันหน้าโดยตรง รวมถึงช่วยหั่นอาหาร หรือผลไม้ให้เป็นชิ้นเล็กพอดีคำ เพื่อเด็กจะได้รับประทานได้โดยไม่ต้องกัดค่ะ
3. ดูแลทำความสะอาดฟันให้ดี
เพราะถ้ามีคราบจุลินทรีย์ หรือคราบพลัคสะสมมากๆ เนื้อฟันธรรมชาติที่อยู่ติดกับวัสดุอุดฟัน อาจเกิดการผุได้ และถ้าเนื้อฟันที่เป็นตัวยึดวัสดุผุ หรือสูญเสียแร่ธาตุไป จนเกิดรอยผุต่อตามขอบของวัสดุ ถ้าทิ้งเอาไว้ รอยผุ อาจลุกลามเข้าไปใต้พื้นวัสดุอุดฟัน และส่งผลให้วัสดุอุดฟันหลุดหรือแตกได้
ในกรณีที่มีการอุดฟันบริเวณซอกฟัน หรือด้านประชิดของฟัน ผู้ปกครองควรหมั่นใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ที่ติดอยู่บริเวณซอกฟัน ที่ไม่สามารถกำจัดออกได้ด้วยการแปรงฟันค่ะ
โดยการเลือกแปรงสีฟันและยาสีฟัน ทันตแพทย์สำหรับเด็กส่วนใหญ่ จะแนะนำให้เลือกใช้ยาสีฟันสำหรับเด็กที่มีฟลูออไรด์ เพื่อช่วยในการป้องกันฟันผุ และควรเลือกใช้แปรงสีฟัน ที่มีขนาดพอเหมาะกับช่องปากของเด็ก เพื่อการทำความสะอาดช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
4. หมั่นกลับมาตรวจเช็คตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย
ส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะทำการนัดตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ ทุกๆ 3 เดือน หรือ 6 เดือน แล้วแต่ระดับความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ ผู้ปกครองควรจะพาเด็กๆมาตามที่ทันตแพทย์นัดหมาย เนื่องจากหากมีรอยผุในระยะเริ่มต้น หรือมีวัสดุที่แตกหัก หรือบิ่นไป จะได้ตรวจเจอตั้งแต่ในระยะแรก หากปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนาน ปัญหาอาจลุกลามไปมากจนเกินแก้ไขได้
การมาพบทันตแพทย์เป็นประจำทุก3 หรือ 6 เดือน เด็กๆจะได้รับการทำความสะอาดฟันและเคลือบฟลูออไรด์ รวมถึงจะได้รับการกระตุ้นให้รักษาความสะอาดของช่องปาก ทันตแพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการแปรงฟันที่ถูกวิธี และการเลือกชนิดของอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุค่ะ
อุดฟันเด็ก ราคาเท่าไหร่?
ราคาอุดฟันเด็กจะแบ่งตามวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันและจำนวนของด้านที่มีรอยผุ โดยราคาอุดฟันน้ำนมแบบสีขาว สำหรับฟันน้ำนมที่มีรอยผุ 1 ด้านจะมีราคาซี่ละ 1,000 บาท ฟันน้ำนมที่มีรอยผุ 2 ด้าน ราคาซี่ละ 1,400 บาท และ ราคาอุดฟันน้ำนมแบบสีขาว ที่มีรอยผุ 3 ด้านขึ้นไป จะมีราคาซี่ละ 1,700 บาท
สำหรับการอุดฟันสีเงิน (Amalgum) จะมีราคาดังต่อไปนี้ ราค อุดฟันน้ำนมสีเงิน Amalgam 1 ด้าน ราคาซี่ละ 1000 บาท ราคา อุดฟันน้ำนม สีเงิน Amalgam 2 ด้าน ราคาซี่ละ 1,400 บาท และ ราคา อุดฟันน้ำนม สีเงิน Amalgam 3 ด้านขึ้นไป ราคาซี่ละ 1,700 บาท
สำหรับตารางสรุปราคาอุดฟันน้ำนม สามารถดูได้ในตารางด้านล่างนี้ค่ะ และสำหรับค่าบริการทางทันตกรรมเด็กอื่นๆ สามารถกดดูได้จากปุ่มด้านล่างตารางนะคะ
บริการทันตกรรมเด็ก | ค่าบริการ (บาท) ต่อซี่ |
อุดฟันน้ำนม สีขาว 1 ด้าน | 1,000 บาท |
อุดฟันน้ำนม สีขาว 2 ด้าน | 1,400 บาท |
อุดฟันน้ำนม สีขาว 3 ด้านขึ้นไป | 1,700 บาท |
อุดฟันน้ำนม สีเงิน Amalgam 1 ด้าน | 1,000 บาท |
อุดฟันน้ำนม สีเงิน Amalgam 2 ด้าน | 1,400 บาท |
อุดฟันน้ำนม สีเงิน Amalgam 3 ด้านขึ้นไป | 1,700 บาท |
กรณีที่มีฟันน้ำนมผุจำเป็นต้อง ทำการอุดฟันเด็กหรือไม่?
สำหรับกรณีเด็กที่มีฟันน้ำนมผุ ทันตแพทย์สำหรับเด็กหรือหมอฟันเด็ก จะมีวิธีพิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาด้วย การอุดฟันน้ำนม หรือ การอุดฟันเด็ก ดังนี้
1. พิจารณาจากอายุของฟันซี่นั้นๆในช่องปาก
หากฟันน้ำนมมีอายุอยู่ในช่องปากเกินกว่า 6 เดือน (ฟันทุกซี่จะมีอายุในการขึ้นการหลุดที่แน่นอน โดยดูได้จากตารางการขึ้นการหลุดของฟันน้ำนม) ทันตแพทย์จะพิจารณาอุดฟันที่นั้นๆ ด้วยวัสดุอุดฟันแบบถาวร แต่ถ้าหากฟันน้ำนมมีอายุอยู่ในช่องปากน้อยกว่า 6 เดือน ทันตแพทย์อาจพิจารณาอุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุอุดชั่วคราว (กรณีที่ป้องกันไม่ให้อาหารลงไป อัดติดในรูฟันผุ) หรืออาจจะปล่อยเอาไว้โดยไม่ต้องรักษาใดๆ
2. ดูจากระดับการผุของฟัน
ฟันน้ำนมมีระดับการผูกด้วยกัน 3 ระยะ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่า ฟันผุในระดับใด สมควรทำการรักษาด้วยการ อุดฟันน้ำนม หรือทำการรักษาแบบใด ดังนี้
- ฟันที่ผุในระยะเริ่มแรก: ฟันที่เริ่มจะผุเพียงในระยะเริ่มแรก คุณหมอฟันเด็กอาจพิจารณาไม่อุดฟัน หรือ ทำแค่การเคลือบหลุมร่องฟันควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำเกี่ยวกับทันตกรรมป้องกัน ได้แก่ การปรับเปลี่ยนวิธีการแปรงฟัน การใช้ยาสีฟันที่มีปริมาณฟลูออไรด์ 1,000 ppm การให้คำแนะนำเรื่องการรับประทานอาหาร การยับยั้งรอยผุด้วยการเคลือบฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง และ การเลิกขวดนม เป็นต้น
- ฟันที่ผุในระยะปานกลาง: ฟันที่ผุในระยะนี้ ตัวฟันที่ผุมักจะแสดงอาการเสียว หรือ ปวด เมื่อเวลามีเศษอาหารติด แต่พอเอาเศษอาหารออกก็หายปวด โดยฟันที่มีลักษณะอาการเหล่านี้ ทันตแพทย์มักจะพิจารณาทำการรักษาด้วยการ อุดฟันน้ำนม โดยการกรอเอารอยผุออกก่อนแล้วจึงใช้วัสดุอุดฟันถาวร เพื่อหยุดยั้งรอยผุไม่ให้ลุกลามลงไปจนถึงรากฟัน แต่ในบางกรณี หากฟันผุเป็นรูใหญ่มากๆไม่สามารถที่จะ อุดฟันน้ำนม ซี่นั้นๆได้ ทันตแพทย์อาจใช้วิธีการครอบฟันน้ำนมหรือการครอบฟันเด็กเพื่อบูรณะฟันซี่นั้นๆแทน
- ฟันที่ผุในระยะลุกลาม: คือฟันที่มีอาการปวดขึ้นมาได้เอง โดยที่ไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ หรือฟันที่ปวดเวลามีเศษอาหารติด แต่เมื่อเอาเศษอาหารออกแล้ว ก็ยังไม่หายปวด โดยฟันลักษณะดังกล่าว จะไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันได้ เนื่องจาก รอยผุ ได้รุกรานเข้าไปในโพรงประสาทฟันเรียบร้อยแล้ว ต้องให้การรักษาโดย การรักษารากฟันหรือถอนฟัน
3. พิจารณาจากความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ
สำหรับในกรณีเด็กที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดฟันผุ เช่น เด็กพิเศษ หรือ เด็กที่กินขนมจุบจิบระหว่างมื้อในปริมาณมาก ในเด็กกลุ่มนี้ แม้จะเป็นรอยผุในระยะเริ่มแรก ทันตแพทย์เด็กหรือคุณหมอฟันเด็กก็มักจะพิจารณาให้การรักษาด้วยการ อุดฟันน้ำนม ซี่นั้นๆที่เริ่มผุ แต่ถ้าหากเป็นเด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุต่ำ คุณหมอฟันเด็กอาจเพียงแค่ให้คำแนะนำในเรื่องของทันตกรรมป้องกันเท่านั้น หรือ ช่วยเคลือบฟลูออไรด์เพื่อให้สามารถปกป้องฟันและช่วยป้องกันฟันผุได้ดียิ่งขึ้น
4. ในกลุ่มเด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุไม่เท่ากัน วัสดุอุดฟันที่เลือกใช้ ก็จะแตกต่างกันด้วย
เด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูง ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้ กลาสไอโอโนเมอร์ ซึ่งเป็นวัสดุที่สามารถ ปลดปล่อยฟลูออไรด์ได้ แทนการใช้คอมโพสิตเรซิน
5. ในเด็กเล็กมากๆ หรือเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือในการทำฟัน
ทันตแพทย์อาจพิจารณาอุดฟันด้วยวัสดุอุดฟันชั่วคราวไปก่อน เพื่อชะลอรอยผุให้ดำเนินไปอย่างช้าๆ หรือในบางกรณี ทันตแพทย์อาจใช้สารบางชนิด ทาที่รอยผุเพื่อหยุดยั้งการผุของฟัน ข้อพิจารณาดังกล่าว ทันตแพทย์เด็กมักจะใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจว่า ฟันน้ำนมซี่นั้นๆที่ผุ สมควรได้รับการอุดหรือไม่ หรือสมควรได้รับการบูรณะด้วยวิธีแบบไหนค่ะ
อุดฟันน้ำนม กับ ระยะต่างๆของการเกิดฟันผุ
ฟันผุมีด้วยกัน 3 ระยะ ซึ่งแต่ละระยะจะมีวิธีการในการรักษา แตกต่างกันออกไป สามารถอธิบายได้ดังนี้
1. รอยผุในระยะเริ่มต้น
ฟันจะมีลักษณะเป็นสีขาวขุ่น หรือเป็นคราบๆ โดยมากเนื้อฟันจะยังไม่มีการแตกหรือเป็นรู รวมถึงยังไม่มีอาการปวดหรือเสียวใดๆ
2. ฟันผุระยะปานกลาง
เนื้อฟันจะเริ่มมีการเปลี่ยนสี เป็นสีดำหรือสีน้ำตาล ฟันจะเริ่มมีรูหรือมีการแตกหัก เศษอาหารมักจะเข้าไปติดในร่องหรือช่องดังกล่าว ฟันมักจะยังไม่มีอาการปวด แต่อาจมีอาการเสียวฟันได้บ้าง บางกรณี เด็กอาจมาด้วยอาการเจ็บปวดฟันเวลามีเศษอาหารติดในรูฟันที่ผุ แต่เมื่อเอาเศษอาหารออก อาการปวดจะหายไปทันที
3. ฟันที่ผุในระยะลุกลาม
รอยผุจะดำเนินไปจนถึงในโพรงประสาทฟัน เนื้อฟันจะมีสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม บริเวณที่ผุเด็กมักจะมีอาการเสียวฟันหรือปวดฟัน อาการจะเป็นมากขึ้ในเวลากลางคืน บางกรณีอาจพบมีตุ่มหนอง หรือมีอาการบวมบริเวณเหงือกของฟันซี่ที่มีรอยผูกด้วย
ในฟันที่ผุระยะที่แตกต่างกัน วิธีการในการรักษาอาจจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งทันตแพทย์จะใช้มาประกอบกัน เพื่อพิจารณาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการบูรณะฟันน้ำนมที่มีรอยผุค่ะ
บทสรุป
สุดท้ายนี้ ในการอุดฟันน้ำนม หรือ อุดฟันเด็ก ให้ได้ผลดี ต้องอาศัยความร่วมมือของเด็กอย่างมาก เพราะวัสดุอุดฟันหลายๆชนิด จะมีคุณสมบัติด้อยลง เมื่อถูกน้ำลายปนเปื้อน คุณหมอฟันเด็กจะมีการใช้หลักจิตวิทยา เพื่อช่วยให้เด็กยอมรับการทำฟันเด็ก ได้แก่ การอุดฟันได้ง่ายขึ้น โดยคุณหมอฟันเด็กอาจบอกกับเด็กว่า จะทำการล้างฟัน หรือ ติดดาวให้ฟัน รวมถึงให้เด็กดูกระจกขณะที่ทำการกรอฟัน เพื่อให้เด็กลดความกังวล จากเสียงดังของเครื่องกรอฟัน
รีวิวจากลูกค้าที่มาใช้บริการ
อ่านรีวิวจากลูกค้าที่มาใช้บริการด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ
เวลาทำการของคลินิกทันตกรรม SmileDC
จันทร์-เสาร์ | 10:00 – 19:00 น. |
อาทิตย์ | 10:00 – 12:00 น. |
สอบถามนัดหมาย
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองมีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการอุดฟันน้ำนมในเด็กเล็ก สามารถติดต่อสอบถามหรือทำนัดหมายได้ทางช่องทาง ดังต่อไปนี้ค่ะ