แก้ไขล่าสุด 04/06/2024

หน้าแรก » ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับผู้ใหญ่ » ฟันปลอม ครบทุกเรื่องที่ควรรู้! โดยทันตแพทย์เฉพาะทาง

ฟันปลอม ครบทุกเรื่องที่ควรรู้! โดยทันตแพทย์เฉพาะทาง

ฟันปลอม : เมื่อมีการสูญเสียฟันไป สิ่งที่จะเป็นผลกระทบตามมาก็คือ การบดเคี้ยวที่ด้อยลงไม่มีประสิทธิภาพเหมือนตอนมีฟัน รวมถึงเรื่องของความสวยงามและความมั่นใจในการยิ้ม ดังนั้นหากมีเหตุจำเป็นต้องถอนฟันออกไปจริงๆ หลายๆคน คงจะนึกถึงตัวช่วยดีๆอย่าง “ฟันปลอม” เพื่อมาทดแทนซี่ฟันธรรมชาติที่หายไป เพื่อเรียกความมั่นใจและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีกลับคืนมา

ฟันปลอม ครบทุกเรื่องที่ควรรู้
ฟันปลอม ครบทุกเรื่องที่ควรรู้

ในบทความนี้จะตอบทุกคำถามที่หลายๆคนสงสัยเกี่ยวกับฟันปลอม เช่น ฟันปลอมมีกี่แบบ แต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไร? ฟันปลอมแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร? ฟันปลอมถาวรสามารถทำได้มั้ย? และสามารถทำได้ตอนไหน? ฟันปลอมแบบติดแน่นหรือฟันปลอมแบบถอดได้เลือกแบบไหนดี? ไปจนถึงราคาฟันปลอมชนิดต่างๆ เชิญเลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้ด้านล่างเลยค่ะ


สารบัญ

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจด้านล่างนี้ค่ะ

ฟันปลอม คืออะไร

มารู้จัก "ฟันปลอม" แบบต่างๆกันเถอะ
มารู้จัก “ฟันปลอม” แบบต่างๆกันเถอะ

ฟันปลอม คือ สิ่งประดิษฐ์ที่นำมาใช้เพื่อทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไปเนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยมีวัสดุหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาผลิตเป็นฟันปลอมได้ เช่น พลาสติก เซรามิค หรือโลหะ เป็นต้น ซึ่งวัสดุแต่ละประเภท ก็จะมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ดังนั้นการเลือกฟันปลอมที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละกรณี จึงเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ข้อมูลหลายๆด้านมาประกอบการตัดสินใจ นอกจากวัสดุที่ใช้ทำฟันปลอมจะมีหลายประเภทแล้ว ชนิดของฟันปลอมนั้นก็มีด้วยกันหลายแบบเช่นกัน แต่ถ้าจะให้แบ่งตามชนิดกว้างๆก็จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ ฟันปลอมแบบถอดได้และฟันปลอมแบบติดแน่น

การทำฟันปลอมนั้นไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็ตาม ก็ไม่สามารถทำให้เสร็จภายในครั้งเดียวได้ อีกทั้งยังต้องอาศัยระยะเวลาในการปรับตัว เพื่อให้คุ้นเคยกับฟันปลอมที่ทำขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวในการเคี้ยวหรือการพูดออกเสียง แต่ทั้งนี้ หากได้ลองใส่ให้คุ้นชินกับฟันปลอมนั้นๆซักพักหนึ่ง ทุกคนก็จะสามารถปรับตัวให้ยอมรับกับฟันปลอมได้จนสามารถใช้ฟันปลอมในการดำรงชีวิตได้อย่างดีเหมือนเป็นอวัยวะอีกชิ้นหนึ่ง

ฟันปลอมมีกี่แบบ

โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทของฟันปลอมออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.ฟันปลอมแบบถอดได้ 2.ฟันปลอมแบบติดแน่น และ 3.การทำรากเทียมซึ่งความแตกต่างของฟันปลอมทั้ง 3 ประเภท และข้อดีข้อเสียของฟันปลอมแต่ละประเภท มีดังต่อไปนี้

ตัวอย่าง ฟันปลอม แบบถอดได้
ฟันปลอมมีกี่แบบ – ตัวอย่างฟันปลอมแบบถอดได้

ฟันปลอมแบบถอดได้

คือ ฟันปลอมที่ไม่ได้ยึดแน่นอยู่ในช่องปาก สามารถถอดเข้าออกเพื่อนำออกมาทำความสะอาดนอกช่องปากได้ มีลักษณะเป็นฟันปลอมแต่ละซี่ยึดติดอยู่กับฐานของฟันปลอมที่ทำจากวัสดุหลายประเภท ซึ่งตัวฟันปลอมแบบถอดได้นี้ จะสามารถแบ่งย่อยได้อีก 4 ประเภทตามวัสดุที่ใช้ทำฐานของฟันปลอม นั่นคือ

  1. ฟันปลอมฐานพลาสติก
  2. ฟันปลอมฐานโลหะ
  3. ฟันปลอมชนิดฐานนิ่ม
  4. ฟันปลอมทั้งปาก

โดยฟันปลอมแต่ละประเภทย่อยนี้ มีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรและมีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง สามารถศึกษาได้จากบทความด้านล่างค่ะ

1. ฟันปลอมฐานพลาสติก

เป็นฟันปลอมที่ทำได้ง่ายที่สุดในกระบวนฟันปลอมทั้งหมด มีลักษณะเป็นฟันปลอมพลาสติกเป็นซี่ๆ ยึดอยู่กับฐานฟันปลอมที่ทำจากอะคริลิกสีชมพู ตกแต่งให้ดูคล้ายคลึงกับเหงือกธรรมชาติ มีได้ตั้งแต่ 1 ซี่ไปจนถึงหลายซี่ โดยในกรณีที่เป็นฟันปลอมหลายๆซี่ อาจพบมีตะขอที่ทำจากโลหะช่วยยึดเกี่ยวกับตัวฟันธรรมชาติที่เหลืออยู่ในช่องปาก เพื่อให้ฟันปลอมยึดเกาะได้แน่นขึ้น ลักษณะของฐานฟันปลอมของขากรรไกรบนและล่างจะมีลักษณะไม่เหมือนกัน โดยในขากรรไกรบนฐานของฟันปลอมจะมีลักษณะแผ่และยึดแนบไปกับเพดานปาก ส่วนในขากรรไกรล่างจะมีลักษณะเหมือนเกือกม้าโค้งหลบตำแหน่งของลิ้น

ข้อดีของฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติก

ฟันปลอมถอดได้แบบนี้ มีข้อดีอยู่หลายประการ ดังนี้

  1. ทำได้ง่าย ใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากขั้นตอนในการทำไม่ซับซ้อน
  2. สามารถถอดออกมาทำความสะอาดได้ง่าย
  3. ราคาไม่แพง สามารถเบิกประกันสังคมได้

ข้อเสียของฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติก

  1. อาจทำให้ผู้ใส่เกิดความรำคาญ เนื่องจากฐานของฟันปลอมที่มีขนาดใหญ่และหนา
  2. การยึดเกาะจะไม่ค่อยแน่น อาจหลุดเวลาเคี้ยวหรือเวลาพูดได้ ถ้าฟันปลอมหลวมมากๆ
  3. ฟันปลอมชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาหารต่ำกว่าฟันปลอมประเภทอื่น
  4. อาจมีเศษอาหารเข้าไปติดใต้ฐานฟันปลอม โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารเศษเล็กๆ เช่น เม็ดน้ำตาล หรือเม็ดพริก จะกดเหงือกและทำให้รู้สึกเจ็บมาก
  5. ฐานของฟันปลอมที่เป็นอะคริลิก จะดูดสีและกลิ่นจากอาหารที่รับประทานเข้าไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีได้
  6. มีอายุการใช้งานสั้นกว่าฟันปลอมชนิดอื่น ใช้งานไปซักพักจะหลวมมากขึ้นเรื่อยๆ
  7. หากใช้ในระยะเวลานาน สันเหงือกอาจเกิดการยุบตัวได้
  8. มีโอกาสแตกหักได้ง่าย ถ้าทำหล่น
ฟันปลอม ถอดได้ฐานพลาสติก
ฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติก

2. ฟันปลอมฐานโลหะ

เป็นฟันปลอมที่มีลักษณะคล้ายกับฟันปลอมฐานพลาสติก แต่จะเปลี่ยนในส่วนบริเวณฐานเป็นโครงโลหะแทน และจะมีอะคริลิกสีชมพูแปะอยู่บางส่วน โดยซี่ของฟันปลอมจะเป็นพลาสติกเช่นเดียวกันกับฟันปลอมฐานพลาสติก

ข้อดีของฟันปลอมถอดได้โครงโลหะ

  1. ฐานโลหะจะมีความเล็กบางมากกว่าฐานพลาสติก ทำให้เวลาใส่จะรำคาญน้อยกว่า
  2. อายุการใช้งานนานกว่าเนื่องจากโลหะไม่ดูดสีและกลิ่น โดยถ้าดูแลรักษาดีๆฟันปลอมถอดได้โครงโลหะอาจมีอายุการใช้งานมากกว่า 10 ปี
  3. การปรับตัวในการใส่ฟันปลอม การบดเคี้ยวและการออกเสียง จะทำได้ง่ายกว่าฟันปลอมฐานพลาสติก

ข้อเสียของฟันปลอมถอดได้โครงโลหะ

  1. เนื่องจากฐานและตะขอจะได้รับการขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันด้วยโลหะหล่อ ทำให้อาจมองเห็นตะขอสีเงินได้ในบางบริเวณซึ่งอาจมีผลต่อความสวยงาม
  2. มีราคาสูงกว่าฟันปลอมฐานพลาสติก
  3. อาจต้องเพิ่มขั้นตอนในการทำมากกว่าฟันปลอมฐานพลาสติก
ฟันปลอมถอดได้โครงโลหะ
ฟันปลอมถอดได้โครงโลหะ

3. ฟันปลอมชนิดฐานนิ่ม

หรือเรียกอีกชื่อว่า ฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติกยืดหยุ่น เป็นฟันปลอมที่มีลักษณะคล้ายกับฟันปลอมฐานพลาสติก แต่ในส่วนบริเวณฐานฟันปลอมแทนที่จะทำด้วยอะคริลิกแข็ง จะทำด้วยวัสดุพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นแทน โดยมากจะใช้ในกรณีที่ฟันหายไปจำนวนน้อยๆ เช่น 1 หรือ 2 ซี่ แต่ในบางกรณีอาจใช้ในผู้ที่มีฟันหายไปมากกว่านั้นก็เป็นได้

ข้อดีของฟันปลอมชนิดฐานนิ่ม

  1. มีความยืดหยุ่นสูง ทำง่าย ใส่พอดีได้ง่าย
  2. สามารถปรับด้วยตัวเองได้ โดยหากฟันปลอมหลวมหรือใส่ไม่ลงให้นำมาแช่น้ำอุ่น จากนั้นให้นำเข้าไปใส่ในปาก ฟันปลอมชนิดนี้จะสามารถปรับให้พอดีได้เอง
  3. ไม่มีตะขอสีโลหะ จึงไม่มีปัญหาเรื่องความสวยงาม
  4. เนื่องจากเป็นพลาสติกชนิดที่ยืดหยุ่นได้ จึงตกไม่แตกและไม่ค่อยหักง่ายเมื่อเทียบกับฟันปลอมฐานอะคริลิก

ข้อเสียของฟันปลอมชนิดฐานนิ่ม

  1. ราคาสูงกว่าฟันปลอมฐานพลาสติกธรรมดา
  2. ฐานของฟันปลอมสามารถดูดสีและกลิ่นจากอาหารที่รับประทานได้
  3. เนื่องจากตัวฟันปลอมเป็นชนิดฐานนิ่ม เวลาเคี้ยวอาหารบางคนอาจรู้สึกว่าฟันปลอมมีการยวบขึ้นลงตามการบดเคี้ยว
  4. เนื่องด้วยฐานของฟันปลอมจะแนบพอดีไปกับเหงือกมาก บางคนอาจมีอาการเจ็บตอนใส่ใหม่ๆต้องมาปรับแก้หลายครั้ง
ฟันปลอม ถอดได้ฐานพลาสติกนิ่ม
ฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติกนิ่ม

4. ฟันปลอมทั้งปาก

ในกรณีที่มีการสูญเสียฟันไปทั้งหมด การใส่ฟันปลอมทั้งปากจะสามารถทดแทนฟันธรรมชาติได้ ทั้งในเรื่องของการบดเคี้ยว ความสวยงาม การออกเสียงพูดและความสวยงามของใบหน้า วัสดุที่ใช้ในการทำฟันปลอมทั้งปากส่วนใหญ่จะเป็นซี่ฟันพลาสติกกับฐานที่ทำมาจากอะคริลิกแบบแข็งสีชมพูเหมือนกับสีของเหงือก ในส่วนของขากรรไกรบนจะแผ่ขยายฐานเต็มเพดานปาก ส่วนของขากรรไกรล่างจะแผ่ฐานด้านหน้าและด้านหลังเป็นรูปเกือกม้า เพื่อเว้าหลบส่วนของลิ้น ฟันปลอมทั้งปากแบ่งตามวิธีการทำได้ 3 แบบ คือ

ฟันปลอมทั้งปาก
ฟันปลอมทั้งปาก
  • ฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิม: ฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิม จะทำได้หลังจากที่ถอนฟันทั้งปากออกหมด และรอแผลถอนฟันหาย เหงือกเข้าที่ และเนื้อเยื่อต่างๆหายเป็นปกติ ซึ่งมักจะต้องรอหลังถอนฟันอย่างน้อย ประมาณ 1-2 เดือน บางกรณีอาจต้องรอนานถึง 6 เดือนสำหรับกรณีที่มีการตัดแต่งกระดูกร่วมด้วย ในระหว่างที่รอแผลถอนฟันหายจะไม่มีฟันในช่วงเวลานั้นๆ
  • ฟันปลอมทั้งปากแบบทันที: ฟันปลอมทั้งปากชนิดนี้จะมีการเตรียมทำไว้ก่อนที่จะทำการถอนฟันออก และภายหลังถอนฟันทั้งหมดออกไปก็สามารถใส่ฟันปลอมทดแทนได้ทันที ซึ่งทันตแพทย์จะทำการพิมพ์ปาก สร้างแบบจำลองฟัน และสร้างการสบฟันไว้คร่าวๆก่อนจะถอนฟัน เพื่อให้ชิ้นงานฟันปลอมเสร็จทันก่อนจะถึงวันนัดถอนฟัน ฟันปลอมทั้งปากชนิดนี้มีข้อดีคือ จะช่วยให้ไม่ต้องขาดฟันแม้กระทั่งหลังถอนฟันทันที แต่อย่างไรก็ดีฟันปลอมชนิดนี้จะหลวมมากขึ้นเรื่อยๆภายหลังจากที่ใส่ไป เนื่องจากกระดูกขากรรไกรและสันเหงือกจะเกิดการยุบตัวลงเรื่อยๆ ดังนั้นภายหลังจากที่สันเหงือกยุบตัวลงจนเข้าที่แล้ว อาจจะต้องทำฟันปลอมชุดใหม่หรือทำการเสริมฐานฟันปลอมชุดเดิมให้แน่นขึ้น
  • ฟันปลอมทั้งปากแบบวางบนรากเทียม: ฟันปลอมทั้งปากชนิดนี้ จะคล้ายกับฟันปลอมทั้งปากแบบดั้งเดิม แต่จะมีรากเทียมที่ฝังเตรียมเอาไว้ก่อนแล้วเป็นตัวช่วยยึดฟันปลอม (ฟันปลอมแบบดั้งเดิมจะใช้พื้นที่บริเวณสันเหงือกและเพดานปากเป็นตัวยึดเกาะ) ซึ่งจากแรงยึดโดยรากเทียมจะทำให้ฟันปลอมชนิดนี้แน่นเทียบเท่าฟันธรรมชาติ สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่หลุดง่ายเวลาอ้าปากกว้างๆ หรือเวลาพูดคุย หัวเราะ แต่ข้อเสียคือ จะมีราคาสูงกว่าฟันปลอมทั้งปากแบบปกติ
ฟันปลอม ทั้งปากแบบวางบนรากเทียม
ฟันปลอมทั้งปากแบบวางบนรากเทียม

ทั้งนี้ฟันปลอมถอดได้ประเภทไหนที่จะเหมาะสมกับคุณ คงต้องให้ทันตแพทย์เป็นผู้พิจารณา โดยใช้ปัจจัยหลายๆอย่างมาประกอบกัน ทั้งสภาพฟันที่คงเหลืออยู่ในช่องปาก สภาพเนื้อเยื่ออ่อนและสันกระดูกในช่องปาก รวมถึงปัจจัยเรื่องของค่าใช้จ่ายด้วยค่ะ

ฟันปลอมแบบติดแน่น มี2ประเภท คือ ครอบฟัน และ สะพานฟัน
ฟันปลอมแบบติดแน่น มี 2 ประเภท คือ ครอบฟันและสะพานฟัน

ฟันปลอมแบบติดแน่น

เป็นฟันปลอมแบบที่จะติดอยู่กับฟันในช่องปาก หรือที่บางคนเรียกว่าฟันปลอมถาวร โดยฟันปลอมชนิดนี้ จะถอดออกมาทำความสะอาดนอกช่องปากไม่ได้ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อยๆ ตามจำนวนของซี่ฟันที่ใส่ ได้ 2 ประเภท คือ

  1. ครอบฟัน
  2. สะพานฟัน

โดยรายละเอียดของฟันปลอมแบบติดแน่น หรือฟันปลอมถาวร มีรายละเอียดค่ะ

ฟันปลอมแบบติดแน่น ประเภทครอบฟัน
ฟันปลอมแบบติดแน่น ประเภทครอบฟัน

1. ครอบฟัน

ครอบฟัน คือ ฟันปลอมแบบติดแน่นชนิดที่ทำเป็นซี่เดี่ยวๆในช่องปาก เป็นประเภทหนึ่งของฟันปลอมถาวรที่ต้องอาศัยการกรอฟันธรรมชาติให้เล็กลง และนำเอาครอบฟันมาใส่เพื่อช่วยให้ฟันซี่ดังกล่าวกลับมาคล้ายกับฟันธรรมชาติเดิม มักจะทำในกรณีที่ยังคงมีฟันธรรมชาติเหลืออยู่ในช่องปากแต่ฟันซี่นั้นๆมีรอยผุหรือแตกหักใหญ่เกินกว่าจะบูรณะได้ด้วยการอุดฟัน

ฟันปลอมแบบติดแน่น - ประเภทสะพานฟัน
ฟันปลอมแบบติดแน่น ประเภทสะพานฟัน

2. สะพานฟัน

สะพานฟัน คือ ฟันปลอมแบบติดแน่นเหมือนกับครอบฟัน มักจะใช้ในกรณีที่มีการสูญเสียฟันธรรมชาติไปแต่ไม่ต้องการที่จะใส่ฟันปลอมแบบถอดเข้าออก โดยหน้าตาของสะพานฟันนั้นจะเหมือนกับฟันธรรมชาติเดิม ไม่ต้องมีตะขอ ไม่ต้องมีฐานฟันปลอม แต่ใช้วิธีการกรอเอาฟันซี่ข้างๆออกให้เล็กลง แล้วใช้ฟันซี่นั้นๆเป็นหลักยึดเพื่อใส่ฟันซี่ที่หายไป

ข้อดีของฟันปลอมแบบติดแน่น

  1. สวยงามดูเป็นธรรมชาติ เพราะซี่ฟันมักทำมาจากเซรามิค ทำให้มีลักษณะ สี และการสะท้อนแสง เหมือนฟันธรรมชาติมาก
  2. สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างปกติ เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะหลวมหรือหลุดเวลาเคี้ยว
  3. อายุการใช้งานยืนยาว เพราะเป็นฟันปลอมถาวร ไม่ต้องคอยกังวลว่าฟันปลอมจะหลวม ฐานฟันปลอมจะมีการดูดสี ดูดกลิ่น หรือต้องคอยทำใหม่เรื่อยๆ
  4. ไม่รำคาญ เพราะไม่มีส่วนฐานฟันปลอมที่เกะกะ
  5. ไม่ทำให้สันเหงือกหรือสันกระดูกเกิดการยุบตัว เพราะส่วนที่รับแรงบดเคี้ยวคือฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียง ไม่เหมือนฟันปลอมถอดได้ที่ส่วนสันเหงือกเป็นจุดรับแรงบดเคี้ยว
  6. ไม่เกิดปัญหายุ่งยากในการทำความสะอาด เพราะไม่ต้องคอยถอดออกมาล้าง ใช้เพียงการแปรงฟันตามปกติก็เพียงพอ
  7. ไม่มีปัญหาเศษอาหารชิ้นเล็กหลุดเข้าไปใต้ฐานฟันปลอม

ข้อเสียของฟันปลอมติดแน่น

  1. ราคาแพงกว่าฟันปลอมถอดได้ โดยราคาฟันปลอมจะคิดเป็นซี่ๆ โดยคิดรวมซี่ที่เป็นหลักยึดด้วย กล่าวคือหากฟันหายไป 1 ซี่ จะต้องใส่ฟันทั้งหมด 3 ซี่ เนื่องจากมีหลักยึดหัวท้ายด้วย
  2. วิธีการทำอาจจะทำให้เกิดการเจ็บมากกว่าการทำฟันปลอมแบบถอดได้ เนื่องจากต้องมีการใส่ยาชาเพื่อกรอฟันธรรมชาติ
  3. ในกรณีที่ใส่ฟันปลอมถาวรแบบสะพานฟัน จะต้องมีการกรอเนื้อฟันธรรมชาติที่ดีซี่ข้างเคียงออก บางคนอาจไม่ต้องการให้ยุ่งกับฟันธรรมชาติที่ดีๆอยู่

จะเห็นได้ว่า ฟันปลอมติดแน่นนั้นมีข้อดีมากกว่าฟันปลอมถอดได้อยู่หลายประการ (หากไม่คำนึงถึงราคาฟันปลอม) แต่ไม่ใช่ทุกกรณี ที่จะสามารถทำฟันปลอมแบบติดแน่นได้ ซึ่งกรณีไหนบ้างที่จะสามารถใส่ฟันปลอมแบบติดแน่นได้ อาจจะต้องขอคำปรึกษาจากทันตแพทย์เฉพาะทางก่อนค่ะ

วิธีการทำ ฟันปลอมแบบติดแน่น

วิธีการทำฟันปลอมแบบติดแน่น

ในที่นี้จะขออธิบายถึงวิธีการทำฟันปลอมถาวรแบบสะพานฟัน เนื่องจากกระบวนการทำฟันปลอมแบบติดแน่นประเภทครอบฟัน จะอธิบายไว้ในหัวข้อการครอบฟันโดยเฉพาะ โดยจะแบ่งได้เป็นการครอบฟันแท้สำหรับผู้ใหญ่และการครอบฟันน้ำนมสำหรับเด็กค่ะ

  1. ขั้นตอนการเตรียมฟัน
    • ทันตแพทย์จะทำการตรวจสภาพช่องปากโดยรวม พิจารณาความเหมาะสมในการใส่สะพานฟัน
    • ทำการถ่ายภาพรังสี เพื่อดูว่าฟันซี่ข้างเคียงที่จะใช้เป็นหลักยึดมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด หากมีกระดูกละลายตัวไปมากหรือเป็นโรคเหงือก จะไม่สามารถใช้เป็นหลักยึดสำหรับสะพานฟันได้
    • พิมพ์ปากเพื่อส่งทำสะพานฟันชั่วคราว รวมถึงพิมพ์ปากฟันคู่สบเพื่อดูลักษณะการสบฟัน
    • เลือกสีฟันที่ใกล้เคียงกับสีฟันธรรมชาติมากที่สุดภายใต้แสงธรรมชาติ และเลือกประเภทของครอบฟันที่เหมาะสม
  2. การกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียง
    • ทันตแพทย์จะใส่ยาชาบริเวณตำแหน่งที่จะทำการกรอแต่งฟัน
    • จากนั้นทันตแพทย์จะกรอแต่งฟันซี่ข้างเคียงให้อยู่ในลักษณะที่เหมาะสมกับการใส่ฟันปลอมแบบติดแน่น
    • พิมพ์ปากแบบละเอียดเพื่อเก็บรายละเอียดทั้งหมดของฟันที่กรอแต่งแล้ว รวมถึงข้อมูลต่างๆ เช่น ฟันคู่สบ และสีฟัน เพื่อส่งห้องปฏิบัติการทำชิ้นงานสะพานฟัน
  3. ใส่สะพานฟันชั่วคราว
    • ในระหว่างที่รอชิ้นงานสะพานฟันตัวจริง ทันตแพทย์จะใส่สะพานฟันชั่วคราวที่ทำมาจากอะคริลิกสีขาวให้ เพื่อไม่ให้ฟันข้างเคียงที่ได้รับการกรอแต่งมีปัญหาเสียวฟัน
    • สะพานฟันชั่วคราวจะยึดโดยซีเมนต์ชั่วคราวที่สามารถถอดออกได้ไม่ยาก
    • โดยสะพานฟันชั่วคราวนี้ จะทำให้คุณสามารถใช้งานฟันได้ตามปกติ
  4. ยึดติดสะพานฟันถาวร
    • ภายหลังการกรอแต่งฟันประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทันตแพทย์จะทำการนัดหมายมาเพื่อใส่ชิ้นงานสะพานฟันตัวจริง
    • ทันตแพทย์จะทำการรื้อสะพานฟันชั่วคราวออก ในขั้นตอนนี้อาจจะต้องใส่ยาชาร่วมด้วย เพื่อไม่ให้ฟันซี่ที่เป็นหลักยึดเกิดอาการเสียวฟัน
    • ทำความสะอาดฟันให้สะอาดที่สุดไม่ให้เหลือคราบซีเมนต์ชั่วคราวตกค้างอยู่
    • ยึดติดสะพานฟันตัวจริงด้วยซีเมนต์ชนิดถาวร ที่เหมาะสมกับฟันธรรมชาติในช่องปาก
    • ทำการปรับแต่งการสบฟันให้เข้ากับฟันธรรมชาติที่เหลือในช่องปาก
    • ตรวจสอบโดยการใช้ไหมขัดฟันว่ามีความแน่นที่พอดี ไม่แน่นมากไปจนเบียดฟันข้างๆ หรือหลวมจนเศษอาหารติดซอกฟัน
    • ทันตแพทย์จะสอนวิธีการทำความสะอาดสะพานฟันทั้งฟันซี่ข้างเคียงและใต้ซี่ฟันปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้เหงือกอักเสบ
  5. การนัดหมายกลับมาตรวจความเรียบร้อย
    • โดยมากทันตแพทย์มักจะให้คุณลองกลับไปใช้งานสะพานฟันดูก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะนัดหมายมาเพื่อตรวจดูความเรียบร้อย
    • ตรวจดูการใช้งานว่าสามารถเคี้ยวอาหารได้เป็นปกติหรือไม่

การนัดหมายแต่ละครั้งอาจจะห่างกันประมาณ 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นทั้งกระบวนการทำฟันปลอมแบบติดแน่น หรือฟันปลอมถาวรนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน (รวมถึงเวลาที่นัดหมายมากลับมาตรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง) จึงจะเสร็จเรียบร้อยค่ะ

สะพานฟันมีกี่ประเภท

สะพานฟันมีกี่ประเภท

ฟันปลอมประเภทสะพานฟัน สามารถแบ่งประเภทได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ตามที่นิยมทำกันมากที่สุด ได้แก่

  1. สะพานฟันแบบธรรมดา – เป็นชนิดที่ใช้บ่อยและนิยมมากที่สุดในการทำฟันปลอมถาวร มักจะใช้ในกรณีที่มีฟันซี่ที่หายไปอยู่ตรงกลาง (เรียกซี่ฟันที่หายไปว่า pontics) และมีฟันหลักยึด (เรียกฟันหลักยึดว่า abutment) อยู่บริเวณหัว-ท้าย อาจใส่สะพานฟันทดแทนฟันซี่ที่หายไปมากกว่า 1 ซี่ได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการประเมินสภาพฟันหลัก ว่าจะสามารถรับแรงได้เพียงพอหรือไม่
  2. สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว – ใช้ในกรณีที่มีฟันหลักยึดแค่ข้างใดข้างหนึ่ง เช่น ด้านหน้าหรือด้านหลัเท่านั้น ซึ่งสะพานฟันประเภทนี้ จะมีการกรอแต่งฟันแค่เพียงซี่ที่ติดกับจุดที่ฟันหายไป จากนั้นทันตแพทย์จะยึดสะพานฟันเข้ากับฟันหลักยึดเพียงข้างเดียว
  3. สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ – คล้ายกับสะพานฟันแบบธรรมดา แต่จะทำการกรอแต่งฟันหลักน้อยกว่าแบบธรรมดามาก จะใช้เพียงแค่การกรอเป็นปีกเล็กๆด้านหลังฟันหลักทั้ง 2 ซี่หัว-ท้าย จากนั้นจะทำการยึดติดสะพานฟันเข้าตามปกติ สะพานฟันลักษณะนี้จะมีโอกาสหลุดง่ายกว่าสะพานฟันแบบธรรมดา ใช้เพื่อเป็นทางเลือกทดแทนในกรณีที่ทำสะพานฟันแบบธรรมดาไม่ได้ และไม่ต้องการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้

ชนิดของวัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟัน

วัสดุที่ใช้ในการทำครอบฟัน จะแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ครอบฟันแบบโลหะทั้งซี่ ครอบฟันแบบโลหะผสมกับพอร์ซเลน และครอบฟันแบบเซรามิกล้วนทั้งซี่ ซึ่งแต่ละประเภทมีลักษณะดังต่อไปนี้

ครอบฟันโลหะทั้งซี่ (Full Metal Crown)
ครอบฟันโลหะทั้งซี่ (Full Metal Crown)

ครอบฟันโลหะทั้งซี่ (Full Metal Crown)

ทำมาจากโลหะล้วนๆทั้งซี่ มีข้อดีคือ ไม่ต้องกรอฟันมาก เนื่องจากโลหะจะสามารถรีดได้บางจึงไม่ต้องมีการกรอแต่งฟันเยอะ สามารถใช้งานได้ดีมีความทนทานมาก แต่มีข้อเสียคือ ไม่สวยงามเนื่องจากจะเห็นเป็นสีของโลหะในช่องปาก

โลหะที่นิยมใช้ในการทำครอบฟันจะมีด้วยกันหลายประเภท คือ

  1. โลหะไม่มีตระกูล (Non Precious) คือโลหะประเภทต่างๆ ที่มีความเข้ากันได้ดีกับเนื้อเยื่อร่างกาย เช่น โคบอลต์ โครเมียม แต่จะไม่มีส่วนประกอบของ นิกเกิล และแบรีเลียม ที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ได้ในบางบุคคล
  2. โลหะประเภทที่ผสมโลหะมีตระกูล 2% (Palladium Base) โลหะที่จัดว่าเป็นโลหะมีตระกูล ได้แก่ ทอง พาลลาเดียม แพลตินัม โรเดียม เป็นต้น โดยทองคำจัดว่าเป็นโลหะที่สามารถเข้ากันกับเนื้อเยื่อร่างกายได้ดีที่สุด สามารถรีดแผ่ได้บางและมีความแนบมาก รวมถึงจะไม่ก่อให้เกิดการติดสีของโลหะที่สันเหงือกในผู้ที่มีโอกาสแพ้โลหะ ครอบฟันชนิดนี้จะใช้โลหะมีตระกูลประเภททองหรือพาลลาเดียม เข้ามาเป็นส่วนประกอบเล็กน้อยคือประมาณ 2% โดยน้ำหนักท้้งหมด เพื่อให้ได้คุณสมบัติที่ดีในการทำครอบฟัน
  3. โลหะที่ผสมทองหรือโลหะมีตระกูลไม่น้อยกว่า 25% (Semi Precious) โลหะประเภทนี้ จะมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นเนื่องจากสัดส่วนของทองคำที่มากขึ้น
  4. โลหะที่ผสมทองหรือโลหะมีตระกูลในปริมาณสูงกว่า 60% และเป็นทองไม่น้อยกว่า 40% (High Precious) โลหะประเภทนี้ จัดว่าเป็นประเภทที่คุณสมบัติดีที่สุดในการใช้ทำครอบฟัน เนื่องจากสัดส่วนของทองคำที่สูงจะทำให้ชิ้นงานที่ได้รับมีความแนบสนิทกับตัวฟันมาก สามารถขัดได้เรียบและเงามันมากที่สุด เมื่อเทียบกับครอบฟันที่ทำจากโลหะประเภทอื่น และจะมีคุณสมบัติในการต้านทานต่อการสึกกร่อนของตัวทำละลายต่างๆ เช่น อาหารหรือน้ำลาย แต่ทั้งนี้ โลหะประเภทนี้จะมีราคาสูงที่สุดเนื่องมาจากมีส่วนประกอบของทองคำในเปอร์เซ็นต์ที่สูง
ครอบฟันโลหะผสมกับพอร์ซเลน (Porcelain Fuse to Metal Crown : PFM )
ครอบฟันโลหะผสมกับพอร์ซเลน (Porcelain Fuse to Metal Crown : PFM )

ครอบฟันโลหะผสมกับพอร์ซเลน (Porcelain Fuse to Metal Crown : PFM )

ครอบฟันประเภทนี้ จะใช้โลหะประเภทต่างๆเช่นเดียวกับครอบฟันโลหะทั้งซี่ ทำเป็นฐานอยู่บริเวณด้านในตัวครอบ แต่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการครอบฟันด้วยโลหะทั้งซี่ โดยการปิดทับด้วยเซรามิกบริเวณด้านนอก เพื่อให้ได้สีขาวของฟันธรรมชาติเวลามองเข้ามาในช่องปาก

ครอบฟันชนิดนี้จะมีข้อดีตรงที่ทำได้ไม่ยุ่งยาก มีความสวยงามเหมือนฟันธรรมชาติ และสามารถรับแรงบดเคี้ยวได้อย่างเป็นธรรมชาติ จึงเป็นที่นิยมมากในการทำครอบฟันและสะพานฟัน แต่ทั้งนี้มีข้อเสียหลักๆ คือ จะต้องมีการกรอฟันมากกว่าครอบฟันชนิดที่เป็นโลหะทั้งซี่ เนื่องจากต้องมีช่องว่างสำหรับโลหะและตัวเซรามิกที่ปิดทับด้านนอก ดังนั้น ในฟันที่เตี้ยมากๆ หรือฟันที่เหลือพื้นที่ในการสบฟันน้อยๆ (เช่น ฟันสึกมาก) อาจไม่เหมาะสมในการทำฟันปลอมประเภทนี้

และเนื่องจากครอบฟันชนิดนี้มีฐานด้านในเป็นโลหะ ทำให้การสะท้อนแสงของฟันในบางกรณี เช่น ในสถานที่ที่เปิดไฟแบล็คไลท์ จะเห็นฟันซี่ที่ครอบฟันด้วยโลหะกับพอร์ซเลน มีการสะท้อนแสงที่แตกต่างกับฟันธรรมชาติ

ชนิดของโลหะที่ใช้สำหรับทำฐานด้านในของครอบฟัน จะมีให้เลือกหลายชนิด เช่นเดียวกับครอบฟันโลหะทั้งซี่

ครอบฟันเซรามิกล้วน (All Ceramic Crown)
ครอบฟันเซรามิกล้วน (All Ceramic Crown)

ครอบฟันเซรามิกล้วน (All Ceramic Crown)

คือ ครอบฟันที่มีฐานภายในและภายนอกทั้งหมดทำมาจากเซรามิก ทำให้ครอบฟันชนิดนี้นิยมใช้ในด้านทันตกรรมเพื่อความสวยงาม เนื่องมาจากครอบฟันประเภทนี้จะมีความสวยงามใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติมากที่สุด ทันตแพทย์สามารถเลือกสีให้เหมือนกับฟันข้างเคียงได้มาก รวมถึงครอบฟันประเภทนี้จะมีความโปร่งแสงในแบบเดียวกับซี่ฟันธรรมชาติ มองแยกความแตกต่างไม่ออก ว่าซี่ไหนเป็นครอบฟันและซี่ไหนคือฟันธรรมชาติ

ครอบฟันชนิดนี้มักจะใช้ในการทำฟันหน้า ด้วยเหตุผลเรื่องของความสวยงามดังที่กล่าวมาแล้ว และยังสามารถใช้ในการบูรณะฟันหลังในกรณีที่ต้องการความสวยงามและรอยยิ้มที่ดูเป็นธรรมชาติอีกด้วย เนื่องจากครอบฟันประเภทนี้มีความแข็งแรงสูงมาก สามารถรับแรงบดเคี้ยวได้ใกล้เคียงกับฟันธรรมชาติที่เป็นคู่สบ

แต่ข้อเสียของครอบฟันประเภทนี้ คือ จะต้องมีการกรอเนื้อฟันสำหรับครอบในปริมาณมากที่สุด เมื่อเทียบกับครอบฟันประเภทอื่นๆ ดังนั้น หากมีฟันหลักที่เตี้ยมาก หรือฟันสึกมาก อาจไม่สามารถใช้ครอบฟันแบบนี้ในการบูรณะฟันได้

หลังทำ ฟันปลอม ควรดูแลตัวเองดังนี้
หลังทำ ฟันปลอม ควรดูแลตัวเองดังนี้

ข้อควรปฏิบัติ ภายหลังการทำฟันปลอม

ไม่ว่าจะเป็นฟันปลอมประเภทถอดได้หรือติดแน่น มีข้อปฏิบัติตัวภายหลังการทำฟันปลอม ดังนี้

  1. ควรดูแลทำความสะอาดฟันให้ดี เนื่องจากการมีสุขภาพช่องปากที่ดีจะช่วยยืดอายุของฟันปลอมได้
  2. ทำความสะอาดฟันปลอมประเภทต่างๆอย่างถูกวิธี
    • ฟันปลอมถอดได้ ให้ถอดฟันปลอมมาล้างทำความสะอาดทุกวันด้วยแปรงขนนุ่มและสบู่อ่อน ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน ควรถอดฟันปลอมออกแช่น้ำทุกคืน
    • ฟันปลอมติดแน่น ควรแปรงฟันทำความสะอาดบริเวณที่ครอบฟันให้ดี อย่าให้มีคราบพลัคและเศษอาหารสะสม รวมถึงควรใช้ไหมขัดฟันเข้าไปทำความสะอาดเหงือกใต้ซี่ฟันปลอมด้วย
  3. ในกรณีที่ทำสะพานฟันและครอบฟัน ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียวบริเวณที่ยึดซีเมนต์ไปประมาณ 24 ชั่วโมง
  4. เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบวมหรือไม่สบายภายหลังการทำฟันปลอม อาจบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่น (เกลือ 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำอุ่น 200 ซีซี) หลังรับประทานอาหารและก่อนเข้านอน
  5. อาจเริ่มจากการรับประทานอาหารอ่อน เพื่อให้คุ้นชินกับการใส่ฟันปลอมก่อนซักระยะหนึ่ง
  6. หากเกิดอาการเสียวฟันภายหลังการทำฟันปลอมติดแน่น อาจรับประทานยาแก้ปวด ร่วมกับงดอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือร้อนจัด เย็นจัด ซักระยะหนึ่ง
  7. หากมีอาการผิดปกติใดๆเกิดขึ้น เช่น ฟันปลอม กดทับสันเหงือกเป็นแผล หรือปวดฟันที่ครอบฟันไป ควรรีบกลับไปให้ทันตแพทย์ตรวจเช็คโดยเร็วที่สุด

บทสรุป

การมีรอยยิ้มที่สวยงาม เป็นสิ่งที่ทุกๆคนปรารถนา ดังนั้นหากเกิดเหตุไม่คาดฝันที่ทำให้ต้องสูญเสียฟันธรรมชาติไป การมาพบทันตแพทย์เพื่อทำฟันปลอม จึงเป็นสิ่งที่จะนำเอารอยยิ้มที่สวยงามกลับคืนมาสู่ตัวคุณ คุณสามารถเข้ารับคำปรึกษาเรื่องของการทำฟันปลอม ประเภทของฟันปลอม และแบบไหนที่เหมาะสมกับตัวคุณที่สุด โดยการนัดหมายเพื่อเข้าพบทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการใส่ฟัน และอย่าลืมเลือกรับบริการจากคลินิกที่มีความน่าเชื่อถือ มีระบบปลอดเชื้อที่มั่นใจได้ และมีทีมทันตแพทย์เฉพาะทางไว้คอยให้คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับคุณนะคะ

คำถามที่พบบ่อยสำหรับการทำฟันปลอม

ใส่ฟันปลอมแล้วจัดฟันได้หรือไม่

หากใส่ฟันปลอมแบบติดแน่น เช่น ครอบฟันหรือสะพานฟัน จะสามารถจัดฟันได้ตามปกติ แต่ถ้าหากใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ อาจต้องหยุดใส่ฟันปลอมในระหว่างที่ทำการจัดฟัน เพราะพอฟันเกิดการเคลื่อนที่จะทำให้ใส่ฟันปลอมไม่ลง และภายหลังจัดฟันเสร็จหากยังมีช่องว่างเหลืออยู่จะต้องทำฟันปลอมชุดใหม่ค่ะ

ฟันปลอมมีกี่แบบ แบบไหนดีที่สุด

ประเภทหลักๆของฟันปลอมมี 2 แบบ คือฟันปลอมแบบถอดได้ กับฟันปลอมแบบติดแน่น ส่วนฟันปลอมแบบที่ดีที่สุด คือ ฟันปลอมที่เหมาะกับตัวคุณมากที่สุด เช่น หากคุณต้องการความสวยงาม เป็นธรรมชาติ ครอบฟันหรือสะพานฟัน จะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ แต่ถ้าหากคุณต้องการประหยัดงบประมาณ ฟันปลอมถอดได้ฐานพลาสติกจะเป็นคำตอบของคุณ เป็นต้น

ใส่ฟันปลอมเจ็บไหม

กระบวนการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ อาจทำให้คุณรู้สึกเจ็บหรือระคายเคืองบ้างในช่วงแรก แต่พอซักพัก คุณจะสามารถปรับตัวได้ และคุ้นชินกับฟันปลอมในที่สุด ส่วนฟันปลอมติดแน่น คุณอาจจะรู้สึกเสียวฟันบ้างในช่วงแรก แต่อาการจะค่อยๆดีขึ้นจนหายไปได้เองในที่สุด

สอบถามนัดหมาย

โทร 096-942-0057 คลินิกทันตกรรม SmileDC
เฟสบุ๊คแชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC
ไลน์แชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC

ค่าบริการสำหรับทำฟันปลอม

ราคาทำฟันปลอม

ฟันปลอมถอดได้ ฐานอะคริลิก+ฟันซี่แรก2,500 บาท
ฟันปลอม ถอดได้ ฐานโลหะ+ฟันซี่แรก9,500 บาท
ฟันปลอมถอดได้ ฐานยืดหยุ่น+ฟันซี่แรก8,500 บาท
ฟันปลอมทั้งปาก ฐานอะคริลิก บน-ล่าง ฝาละฝาละ 8,000 บาท
ฟันปลอม ทั้งปาก ฐานโลหะ บน-ล่าง ฝาละฝาละ 12,000 บาท
ฟันปลอมทั้งปาก ฐานยืดหยุ่น บน-ล่าง ฝาละฝาละ 14,000 บาท
ฟันปลอมแบบติดแน่น : ครอบฟัน non-preciousฟันปลอมแบบติดแน่นราคา ซี่ละ 9,000 บาท
ฟันปลอมแบบติดแน่น : ครอบฟัน ผสมทอง 2%ฟันปลอม แบบติดแน่น ราคาซี่ละ 14,000 บาท
ฟันปลอม แบบติดแน่น : ครอบฟัน ผสมทอง 50%ฟันปลอมแบบติดแน่น ราคาซี่ละ 18,000 บาท
ค่าบริการทำฟันปลอมชนิดต่างๆ

สามารถตรวจสอบราคาฟันปลอมประเภทต่างๆ ทั้งฟันปลอมถอดได้และฟันปลอมติดแน่น รวมถึงอัตราค่าบริการทางทันตกรรมประเภทอื่นๆ ที่ SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ได้ที่ปุ่มด้านล่างนี้เลยค่ะ

ราคาฟันปลอมกับการใช้สิทธิเบิกประกันสังคม

คลินิกทันตกรรม SmileDC อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิทำฟันประกันสังคม ในการอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด สามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายตรง ไม่ต้องสำรองจ่าย ปีละ 900 บาท ได้โดยตรงที่คลินิกเลยค่ะ รวมถึงสามารถใช้สิทธิประกันสังคม สำหรับการเบิกค่าทำฟันปลอมถอดได้ ใน 2 รูปแบบ คือ

  1. ใส่ฟันปลอมถอดได้บางส่วน
    • จำนวน 1-5 ซี่ เบิกได้เท่ากับวงเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,300 บาท
    • มากกว่า 5 ซี่ เบิกได้เท่ากับวงเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,500 บาท
  2. ใส่ฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก
    • ฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก บนหรือล่าง เบิกได้เท่ากับวงเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 2,400 บาท
    • ฟันปลอมถอดได้ทั้งปาก บนและล่าง เบิกได้เท่ากับวงเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,400 บาท

โดยผู้ประกันตน สามารถใช้สิทธิในการเบิกค่าฟันปลอมในวงเงินต่างหาก ไม่รวมอยู่ใน 900 บาทแรก แต่ต้องสำรองจ่ายก่อน แล้วจึงนำใบเสร็จและใบรับรองแพทย์ ไปทำเรื่องเบิกที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตัวเอง โดยจะเบิกค่า ฟันปลอม ได้ ทุกๆ 5 ปี นับจากวันที่ทำฟันปลอมครั้งแรกค่ะ