แก้ไขล่าสุด 04/06/2024

หน้าแรก » ทันตกรรมเฉพาะทางสำหรับผู้ใหญ่ » ผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด คืออะไร มีสาเหตุและวิธีรักษาอย่างไร?

ผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด คืออะไร มีสาเหตุและวิธีรักษาอย่างไร?

เคยสงสัยไหมว่า ฟันคุดที่เกิดขึ้นในช่องปากมีสาเหตุเกิดจากอะไร? มีอาการและต้องรักษาอย่างไร รวมถึงมีราคาค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ถ้าต้องผ่าฟันคุด ฯลฯ เพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาฟันประเภทนี้กันให้มากขึ้น เราจะมาไขทุกเรื่องให้ได้รู้กัน

ผ่าฟันคุด ถอนฟันคุด คือ อะไร สาเหตุและวิธีรักษา ราคาเท่าไหร่? สรุปครบ!
การผ่าฟันคุด หรือ การถอนฟันคุด โดยทันตแพทย์เฉพาะทาง

สารบัญ

เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจด้านล่างได้เลยค่ะ

การผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุด คืออะไร?

กระบวนการผ่าฟันคุด ในบางครั้งเรียกว่าการผ่าตัดฟันคุด หรือการถอนฟันคุด (Tooth Impaction Removal) คือการเอาฟันกรามซี่ที่ 3 ซึ่งเป็นซี่ด้านในสุดของขากรรไกรที่ไม่สามารถโผล่ขึ้นมาในช่องปากได้ออก โดยฟันซี่ดังกล่าวอาจฝังตัวอยู่ในกระดูกขากรรไกรหรืออยู่ในเหงือก ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น ปวดหรือบวมได้ และถ้าเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น ฟันซี่นั้นๆ จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยการเอาออก

สาเหตุของการเกิดฟันคุดนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม: พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างการเกิดฟันคุดกับพันธุกรรม โดยผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติฟันคุด จะมีโอกาสเกิดฟันคุดได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติ
  • ขนาดของช่องปาก: ฟันคุดเกิดจากการที่ฟันไม่สามารถแทรกตัวโผล่พ้นเหงือกมาได้ ดังนั้น หากช่องปากมีขนาดเล็ก จะทำให้มีพื้นที่ไม่เพียงพอสำหรับฟันคุดที่จะงอกขึ้นมาได้
  • ตำแหน่งของฟัน: ฟันคุดเกิดจากตำแหน่งของฟันได้เช่นกัน โดยหากฟันกรามซี่อื่น ๆ เรียงตัวไม่ปกติ จะทำให้ฟันคุดไม่สามารถงอกขึ้นมาได้
  • ความผิดปกติของกระดูกขากรรไกร: หากกระดูกขากรรไกรมีขนาดเล็กหรือมีรูปร่างผิดปกติ จะทำให้ฟันคุดไม่สามารถงอกขึ้นมาได้

ปัญหาที่เกิดจาก “ฟันคุด”

การที่มีฟันคุด แล้วไม่ได้ทำการผ่าออกหรือถอนฟันซี่นั้น ๆ ออกมา เมื่อปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ก็อาจทำให้ฟันคุดซี่ดังกล่าวมีอาการที่ไม่พึงประสงค์ ดังต่อไปนี้

รูปฟันคุดแบบต่างๆ ผ่าฟันคุด ผ่าตัดฟันคุด ถอนฟันคุด
ฟันคุด แบบต่างๆ – ที่จำเป็นต้องรักษาด้วย การผ่าฟันคุด หรือ การถอนฟันคุด

อาการปวด

เกิดจากแรงดันของฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ แล้วไปเบียดฟันซี่ข้าง ๆ หรืออวัยวะข้างเคียง ทำให้เกิดอาการปวดตึง ๆ หรือปวดตุบ ๆ แต่ในบางกรณี อาการปวดอาจเกิดจากการอักเสบของเหงือกที่คลุมฟันคุดเอาไว้

อาการบวม

เกิดมาจากฟันคุดที่ไม่ได้รับการรักษา แล้วมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน เนื่องจากเวลาที่รับประทานอาหาร แล้วมีเศษอาหารเข้าไปสะสม และเกิดการบูดเน่า อาจจะส่งผลให้ฟันคุดอักเสบ บวม หรือเป็นหนอง ซึ่งจะสร้างความเจ็บปวดอย่างมาก

ทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุ

กรณีที่ฟันคุดโผล่ขึ้นมาในทิศทางเบี้ยว โดยไม่ได้รับการผ่าหรือถอน จะเกิดจุดที่มักมีเศษอาหารเข้าไปติดหรือสะสม และทำความสะอาดได้ยาก หากปล่อยเอาไว้เป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้เกิดฟันผุได้ และถ้าหากไม่ได้รับการอุดฟันอย่างทันท่วงที อาจทำให้รอยผุทะลุเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันได้เลยทีเดียว

✔ เกิดถุงน้ำ (ซีสต์) รอบ ๆ ฟันคุด

ฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ อาจมีการพัฒนาเกิดเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ รอบ ๆ ฟันซี่นั้น ซึ่งหากถุงน้ำมีการขยายขนาดจนใหญ่ ก็จะส่งผลให้กระดูกขากรรไกรบริเวณดังกล่าวถูกทำลายได้

✔ เกิดกลิ่นปาก

เนื่องจากการอักเสบและกลิ่นของเศษอาหารที่สะสม ซึ่งทำความสะอาดไม่ถึง เกิดการบูดเน่า ย่อมส่งผลถึงอนามัยของช่องปาก เกิดเป็นกลิ่นปากที่ไม่พึงประสงค์ อีกทั้งการอักเสบติดเชื้อเรื้อรังภายในช่องปากจะส่งผลทำให้ภูมิต้านทานอ่อนแอลงได้

✔ ขากรรไกรอ่อนแอ

ในขากรรไกรที่มีฟันคุดฝังตัวอยู่และไม่ได้รับการรักษา บริเวณดังกล่าวจะเป็นจุดอ่อนที่ง่ายต่อการแตกหัก ในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุหรือมีอะไรมากระแทกที่ขากรรไกรบริเวณนั้น อาจทำให้เกิดขากรรไกรหักได้

ส่งผลต่อการจัดฟัน

บางกรณี ฟันคุดที่ขึ้นมาอาจส่งผลให้การจัดฟัน ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือทำให้รีเทนเนอร์เดิมที่เคยทำไว้ใส่ไม่ลง

การวินิจฉัยความจำเป็นที่ต้อง “ผ่าฟันคุด”

สำหรับการถอนฟันคุดหรือการผ่าฟันคุดนั้น ทันตแพทย์เฉพาะทางจะต้องวางแผนการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละเคส ทั้งนี้เนื่องจากฟันคุดมักไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องมีการถ่ายเอกซเรย์เพื่อดูลักษณะการวางตัวของฟัน ว่าตั้งตรงหรือเอียงนอน รวมถึงดูตำแหน่งความลึกของฟันคุดซี่นั้น ๆ

ในบางกรณี อาจไม่มีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดฟันคุด หรือถอนฟันคุดซี่นั้น ๆ ออก เช่น กรณีที่ฟันมีแนวตั้งตรง และมีพื้นที่บริเวณขากรรไกรเพียงพอ แต่ถ้าหากถ่ายเอกซเรย์แล้ว พบว่าฟันมีทิศทางนอนเอียง ก็หมายความว่าฟันซี่นั้นจะไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้

X-Ray ฟันคุด ผ่าฟันคุด ผ่าตัดฟันคุด
ภาพ X-Ray ฟันคุด ที่จำเป็นต้องทำการรักษาด้วย การผ่าฟันคุด

ทำให้กรณีเช่นนี้ จะต้องทำการผ่าตัดฟันคุดซี่นั้นออก นอกจากนี้แล้วในการจัดฟัน ทันตแพทย์จัดฟันมักจะแนะนำให้เอาฟันคุดออกก่อนเริ่มกระบวนการ เนื่องจากฟันคุดอาจจะขึ้นมาเบียดซี่ฟันในภายหลังได้ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ฟันที่จัดไปแล้วเกิดการเบียดตัวเอนหรือซ้อนกันได้

ทำไมควรเลือกผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดกับทันตแพทย์เฉพาะทาง?

เลือก ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด กับทันตแพทย์เฉพาะทาง
ทำไมควรเลือกทำ การผ่าฟันคุด หรือ การถอนฟันคุด กับทันตแพทย์เฉพาะทาง?

การผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุด ถือเป็นงานศัลยกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่าการถอนฟันทั่วไป รวมถึงมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้มากกว่า เช่น อาการชาของเส้นประสาท หรือมีการติดเชื้อภายหลัง

ทันตแพทย์เฉพาะทางผ่าฟันคุด คือทันตแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูกขากรรไกรและใบหน้า รวมถึงเส้นประสาทที่มีอยู่มากมายบริเวณใบหน้า ดังนั้น การผ่าฟันคุดกับทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ถึงแม้อาจจะมีราคาที่สูงกว่าทันตแพทย์ทั่วไปอยู่บ้าง แต่ก็แลกมาด้วยข้อดีมากมาย ดังต่อไปนี้

✔ มีความแม่นยำ เกี่ยวกับตำแหน่งของเส้นประสาทบริเวณบนใบหน้า

ทำให้การฉีดยาชาได้ตรงตำแหน่ง เกิดการชาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการผ่าตัดฟันคุดได้อย่างมาก

✔ มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดฟันคุด

เนื่องจากทันตแพทย์เฉพาะทางมีประสบการณ์สูง จึงทำให้การรักษาใช้เวลาน้อย แผลผ่าฟันคุดมีขนาดเล็ก เนื้อเยื่อรอบข้างบอบช้ำน้อย และรู้สึกเจ็บน้อยลงมาก

✔ ความแม่นยำในการผ่าตัด

ส่งผลให้แผลมีขนาดเล็ก และหายได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาพักฟื้นเพียงไม่นาน

✔ ให้คำแนะนำภายหลังผ่าฟันคุดได้อย่างครบถ้วน

ทันตแพทย์เฉพาะทางจะสามารถให้คำแนะนำภายหลังผ่าฟันคุดได้อย่างครบถ้วน รวมถึงหลังจากที่มีการผ่าตัดฟันคุดเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการนัดตรวจเพื่อติดตามผล

✔ ความอุ่นใจและความสบายใจ

ด้วยทีมทันตแพทย์เฉพาะทาง ที่จบสาขา “ศัลยกรรมช่องปาก” มีประสบการณ์สูงในด้านการผ่าตัดฟันคุด และการถอนฟันคุด ทำให้สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างมืออาชีพ มีความรวดเร็วและความแม่นยำในการผ่าตัด ส่งผลให้แผลจากการผ่าตัดเล็ก และหายได้อย่างรวดเร็ว

การผ่าฟันคุดและถอนฟันคุดกี่วันหาย?

การผ่าฟันคุดและการถอนฟันคุดจะใช้เวลาในการรักษาประมาณ 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของฟันคุดซึ่นั้น ๆ ส่วนระยะเวลาที่ใช้ในการพักฟื้น ส่วนใหญ่ร่างกายจะยังคงมีความเจ็บปวดภายหลังผ่าฟันคุดประมาณ 2-3 ชั่วโมง หลังหมดฤทธิ์ยาชา และอาจจะยังรู้สึกเจ็บได้ประมาณ 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าฟันคุด โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน ภายหลังการผ่า

สำหรับระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ คือประมาณ 3-4 วัน หรือไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ในกรณีที่มีการกรอกระดูก อาจต้องรอประมาณ 1-2 เดือน แผลผ่าฟันคุดหรือรอยแยกบริเวณเหงือกจึงกลับมาปิดสนิท กลายเป็นชิ้นเดียวกับเนื้อเยื่อในช่องปาก

การถอนฟันคุด หรือการผ่าฟันคุด เจ็บไหม?

คำถามที่ว่า ผ่าฟันคุดเจ็บไหม คำตอบที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่จะให้คือ อาจมีอาการเจ็บเวลาที่ฉีดยาชาบ้าง แต่พอยาชาออกฤทธิ์เต็มที่แล้ว จะยังคงมีอาการเหมือนโดนกดหรือรู้สึกมีความสั่นสะเทือนในช่องปาก แต่ถ้าหากยังคงมีอาการเจ็บปวด หรือรู้สึกว่าอดทนไม่ได้แล้ว สามารถแจ้งกับทันตแพทย์ได้ตลอดเวลา เพราะทันตแพทย์จะเติมยาชาให้จนกว่าคุณจะรู้สึกดีขึ้น จนสามารถรับการผ่าตัดฟันคุดให้เสร็จสิ้นกระบวนการ

อีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อคำถามที่ว่าการผ่าตัดฟันคุดเจ็บไหม ก็คือความอดทนของแต่ละบุคคล ในบางกรณี ฟันคุดในลักษณะเดียวกัน บางคนบอกว่าเจ็บมาก แต่บางคนอาจบอกว่าไม่เจ็บเลย อย่างไรก็ดี การผ่าฟันคุดกรอกระดูก ย่อมมีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าฟันคุดที่สามารถถอนออกได้ธรรมดา รวมถึงฟันคุดที่ถอนได้ยาก หรือต้องผ่าออก ก็จะต้องใช้เวลานานกว่าแผลจะหายนั่นเอง

การเตรียมตัวก่อนการผ่าฟันคุด

สำหรับผู้ที่ต้องการผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการรักษา เพื่อความง่ายในการทำงานของทันตแพทย์ และผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยคำแนะนำในการเตรียมตัวมีดังต่อไปนี้

1. ข้อมูลสุขภาพโดยรวม:

หากมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ โรคประจำตัวใด ๆ หรือมียาอะไรที่รับประทานอยู่เป็นประจำ ควรจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดฟันคุด เช่น ต้องหยุดยาละลายลิ่มเลือดที่รับประทานอยู่เป็นประจำหรือไม่ รวมถึงต้องควบคุมความดันให้ได้ก่อนเข้ารับการผ่า เป็นต้น ซึ่งการเตรียมตัวเหล่านี้จะช่วยให้การผ่าฟันคุดเป็นไปได้อย่างราบรื่น รวมทั้งมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด

2. เตรียมร่างกายให้พร้อม:

ควรนอนหลับพักผ่อนให้เต็มที่ หากมียาที่ต้องรับประทานเป็นประจำ (และไม่มีผลต่อการผ่าฟันคุด) ก็ให้รับประทานมาให้เรียบร้อย ควรรับประทานอาหารรองท้องมาบ้าง แต่ไม่ควรมากจนเกินไป รวมถึงควรจัดการกิจธุระต่าง ๆ ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนการผ่าฟันคุด เนื่องจากภายหลังการผ่าตัดฟันคุด ทันตแพทย์จะแนะนำไม่ให้ออกแรงหนักในวันนั้น ๆ

3. วางแผนการเดินทางไป-กลับบ้าน:

ภายหลังการผ่าตัดฟันคุด คงไม่เป็นการดีนักหากจะต้องขับรถกลับบ้านด้วยตนเอง ดังนั้น จึงควรวางแผนการเดินทางกลับจากคลินิก เช่น ใช้บริการรถสาธารณะ หรือมีคนช่วยขับรถกลับบ้านให้ ทั้งนี้ การที่ผู้เข้ารับการผ่าฟันคุดคอยสังเกตอาการที่คลินิกจนมั่นใจก่อนที่จะเดินทางกลับบ้าน ก็เป็นทางเลือกที่ดี

4. ควรทำความสะอาดช่องปากมาให้เรียบร้อยก่อนการผ่าฟันคุด

เนื่องจากภายหลังผ่าฟันคุด คุณหมอจะให้กัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง และในเย็นวันนั้น อาจจะแปรงฟันได้ค่อนข้างลำบาก การทำความสะอาดช่องปากให้สะอาดที่สุดก่อนการรักษา จึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

5. งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เนื่องจากบุหรี่จะส่งผลให้แผลจากการผ่าตัดฟันคุดหายยากขึ้น และมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้มาก ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนการผ่าตัดจะส่งผลให้หลอดเลือดเกิดการขยายตัว มีผลทำให้เลือดหยุดช้ากว่าปกติ

การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเข้ารับการผ่าฟันคุด จะทำให้มีอัตราการสำเร็จที่สูง มีอาการแทรกซ้อนข้างเคียงน้อย มีความเจ็บปวดภายหลังทำไม่มาก รวมถึงแผลก็จะหายเร็ว สามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ในระยะเวลาไม่นาน

ขั้นตอนสำหรับ การผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด

ขั้นตอนการ ถอนฟัน-ผ่าฟันคุด หรือ ผ่าตัดฟันคุด

สำหรับวิธีการผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด จะมีการใช้ยาชาเฉพาะที่แบบป้ายก่อน เพื่อให้เนื้อเยื่อบริเวณที่จะฉีดยามีอาการชา จากนั้นทันตแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณที่จะทำการผ่าฟันคุด ซึ่งบางครั้งอาจฉีดมากกว่า 1 เข็ม ขึ้นอยู่กับว่าชาเพียงพอแล้วหรือยัง จากนั้นทันตแพทย์จะทำการทดสอบอาการชา หากพบว่าชาเพียงพอจะทำการผ่าฟันคุด โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1) การผ่าฟันคุดในกรณีที่ฟันคุดฝังอยู่ในกระดูก

ทันตแพทย์ต้องเปิดเหงือก และหาตำแหน่งกระดูกที่ฟันคุดฝังอยู่ให้เจอ จากนั้นทันตแพทย์จะทำการกรอกระดูกบริเวณที่คลุมฟันคุดอยู่ และทำการตัดแบ่งฟันคุด ออกเป็นชิ้น ๆ เพื่อให้แผลที่จะนำฟันคุดออกมามีขนาดเล็กที่สุด ซึ่งจะลดการเจ็บปวดและผลข้างเคียงหลังจากผ่า

2)  การผ่าฟันคุดกรณีที่ฟันคุดขึ้นมาได้บางส่วน

ทันตแพทย์อาจพิจารณาว่าจะต้องมีการกรอกระดูกร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อช่วยนำฟันคุดออกมา ซึ่งถ้าไม่มีการกรอกระดูกก็จะช่วยลดความเจ็บปวด รวมถึงแผลหลังผ่าตัดจะหายเร็วกว่ามาก

3)  การผ่าฟันคุดหรือการถอนฟันคุด กรณีที่ฟันคุดขึ้นมาได้เต็มซี่

สำหรับกรณีการผ่าตัดฟันคุด ที่ฟันคุดซี่นั้นสามารถขึ้นมาได้เต็มที่ ทันตแพทย์เฉพาะทางจะเลือกใช้วิธีการถอนฟันคุด ออกโดยไม่ต้องมีการผ่ากระดูก หรือเปิดเหงือก ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ความเจ็บปวดจะน้อยพอ ๆ กับการถอนฟันทั่วไป และใช้เวลาเพียงไม่นานในการฟื้นตัว

การดูแลตัวเอง ภายหลังการ ผ่าฟันคุด หรือ ถอนฟันคุด

การดูแลตัวภายหลังการ ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด

ส่วนใหญ่แล้วภายหลังการผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุด มักจะทำให้เกิดแผลขึ้นในช่องปาก ดังนั้นจึงควรใส่ใจในการดูแลทำความสะอาดภายหลังการผ่าตัดฟันคุด โดยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ช่วงระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1: การดูแลแผลภายหลังการผ่าฟันคุดเสร็จใหม่ ๆ

ภายหลังการผ่าฟันคุดเสร็จใหม่ ๆ ในวันแรกจะยังคงมีอาการชาตกค้างอยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง หลังจากหมดฤทธิ์ของยาชาจะเริ่มมีอาการเจ็บแผลที่ผ่าตัด โดยข้อควรปฏิบัติในการดูแลตัวเองมีดังนี้

  1. สังเกตบริเวณรอยแผลผ่าตัด: อาจพบมีไหมสีดำ หรือไหมสีขาวเย็บอยู่ที่บริเวณปากแผล และบริเวณรอบ ๆ แผลอาจยังมีเลือดซึมอยู่ได้บ้าง อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีเลือดเป็นลิ่ม ๆ มีเลือดออกเป็นปริมาณมาก หรือไหมที่เย็บไว้หลุดออกจากแผล ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ทันที
  2. หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนแผลโดยตรง: หลีกเลี่ยงการแปรงฟันบริเวณนั้นโดยตรง หลีกเลี่ยงการกัดหรือเคี้ยวอาหารจุดที่เพิ่งผ่าฟันคุดมา
  3. สามารถบ้วนน้ำเกลือเบา ๆ ได้ภายหลังการผ่าฟันคุดเสร็จแล้ว 24 ชั่วโมง: ควรหลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากทุกชนิด และหลีกเลี่ยงการบ้วนหรือกลั้วด้วยความรุนแรง เพราะอาจทำให้แผลเกิดมีเลือดออกมาได้อีก อย่างไรก็ตาม ภายหลังการผ่าฟันคุดเสร็จแล้ว 24 ชั่วโมง สามารถบ้วนน้ำเกลือได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำเกลือผสมเอง ในอัตราส่วน เกลือแกง 1 ช้อนชา กับน้ำอุ่น 200 มิลลิลิตร หรือจะใช้น้ำเกลือที่มีขายตามร้านขายยาก็ได้เช่นกัน ในบางกรณี ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ใช้น้ำยาคลอเฮ็กซิดีน เพื่อช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
  4. ไม่ใช้สิ่งของหรือนิ้วแคะเศษอาหารออกจากแผลถอนฟัน: ในวันถัดจากวันที่ผ่าฟันคุด หากมีเศษอาหารติดในแผลผ่าฟันคุด ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันหรือนิ้วแคะออก เพราะจะทำให้แผลอักเสบ ติดเชื้อ และมีเลือดออกได้ อีกทั้งยังเป็นการรบกวนการหายของแผลตามปกติอีกด้วย ควรใช้วิธีการบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อนำเศษอาหารออกมาจะดีกว่า
  5. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้หลอดดูด: การออกแรงดูดจะทำให้แผลหายไม่เป็นไปตามปกติ เนื่องจากจะมีการรบกวนลิ่มเลือดที่ก่อตัวมาปิดปากแผล ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงดูดใน 24 ชั่วโมงแรกภายหลังการผ่าฟันคุด

ระยะที่ 2: การทำความสะอาดหลังจากผ่านการผ่าฟันคุดไปแล้ว 1 วัน

เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงแรกไปแล้ว เลือดควรจะหยุดไหลแล้ว แต่แผลอาจจะยังคงมีการปวดอยู่บ้าง ในบางรายอาจเริ่มมีการบวมของแผลและใบหน้าร่วมด้วย ดังนั้น วิธีการดูแลตัวเองในวันที่ 2 จึงมีดังนี้

  1. ทำความสะอาดช่องปากด้วยน้ำเกลือ: เพื่อช่วยทำความสะอาดในปากและช่วยลดการอักเสบของแผลผ่าฟันคุด โดยจะใช้น้ำเกลือที่ผสมเอง หรือน้ำเกลือที่มีขายตามร้านขายยาก็ได้เช่นเดียวกัน
  2. กลั้วด้วยน้ำเกลือเบา ๆ ให้ทั่วทั้งปาก: ใช้เวลากลั้วประมาณ 30 วินาที-1 นาที เพื่อให้เศษอาหารที่อาจตกค้างตามแผลหลุดออกมา อีกทั้งยังช่วยให้แผลหายดีขึ้นด้วย
  3. กลั้วได้บ่อยครั้ง: น้ำเกลือสามารถบ้วนได้ทุก 2 ชั่วโมง หรือบ้วนได้หลังมื้ออาหาร รวมถึงก่อนเข้านอน วิธีการนี้จะช่วยให้ปากสะอาดและแผลหายเร็ว
  4. ใช้กระบอกฉีดช่วยทำความสะอาดแผล: ใช้น้ำเกลืออุ่น ๆ บรรจุหลอดและฉีดเข้าไปในบริเวณใกล้ ๆ แผลเพื่อช่วยทำความสะอาดช่องปาก แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้ปากกระบอกฉีดโดนถูกแผลโดยตรง เนื่องจากอาจไปทำให้ลิ่มเลือดที่มาปิดแผลโดนฉีดออกไป เกิดแผลแยกได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ก่อนการตัดสินใจใช้กระบอกฉีดน้ำเกลือเพื่อล้างแผล

ระยะที่ 3: การดูแลตนเองภายหลังการผ่าฟันคุดจนกว่าจะถึงกำหนดนัดตัดไหม

หลังจากผ่านไปประมาณ 2-3วัน แผลมักจะมีอาการดีขึ้นมาก อาการบวมควรจะค่อย ๆ ลดลง รวมถึงอาการเจ็บปวดที่จะทุเลาขึ้นมาก แต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรปฏิบัติและข้อควรสังเกต ภายหลังการผ่าฟันคุด ดังนี้

  1. หากมีเศษอาหารเข้าไปติดในบริเวณแผลผ่าฟันคุดที่ยังคงเป็นรูอยู่: เบื้องต้นให้พยายามบ้วนน้ำเพื่อเอาเศษอาหารออก แต่ถ้าไม่สามารถเอาเศษอาหารออกได้จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องเอาไม้จิ้มฟันหรือสิ่งแหลมคมไปงัดแงะบริเวณแผล เนื่องจากแผลที่เกิดจากการผ่าฟันคุดจะยังคงหายได้ตามปกติ แม้จะมีเศษอาหารติดอยู่ แต่ถ้าหากไปเขี่ยหรือแคะจนเกิดการอักเสบบริเวณแผล จะทำให้แผลหายช้าลงได้
  2. อาจสังเกตเห็นชิ้นเนื้อเยื่อเหงือก ต้องแยกให้ออกว่าไม่ใช่เศษอาหาร: เนื้อเยื่อของเหงือกที่กำลังจะหาย จะเป็นชิ้น ๆ มีลักษณะเป็นสีขาวอมเทา หรือสีซีด ๆ และไม่สามารถดึงหรือเขี่ยออกจากแผลได้ ดังนั้น จึงต้องระวังว่าชิ้นเนื้อนั้นไม่ใช่เศษอาหาร การทำความสะอาดแผลที่รุนแรง หรือการพยายามเขี่ยเอาเศษชิ้นเนื้อออกจะทำให้เกิดความเจ็บปวด และถ้าหากชิ้นเนื้อดังกล่าวหลุดออกมา จะทำให้เกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าฟันคุดได้
  3. ยังคงต้องรับประทานอาหารอ่อนอยู่: ถึงแม้จะพ้นช่วง 24 ชั่วโมงแรกไปแล้ว ทันตแพทย์มักจะแนะนำให้ทานอาหารกึ่งอ่อนอยู่ จนกว่าแผลจะหายสนิทจริง ๆ หรือถึงเวลาตัดไหม การหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งมาก เหนียว กรุบกรอบ หรือรสจัด จะช่วยให้การหายของแผลเป็นไปได้ตามปกติ และจะช่วยไม่ให้เกิดการอักเสบบริเวณแผลที่มีการผ่าฟันคุด
  4. อาจมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อบริเวณแผลได้: เช่นการจับแผลด้วยมือที่สกปรก หรือการไม่แปรงฟันทำความสะอาดบริเวณแผล รวมถึงการปล่อยให้มีเศษอาหารเป็นจำนวนมากบูดเน่าบริเวณแผลผ่าฟันคุด ดังนั้น จึงควรระมัดระวังในการดูแลสุขภาพช่องปากให้มาก
  5. อาการที่สมควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์: ภายหลังการผ่าฟันคุดเสร็จสิ้น หากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบกลับมาพบทันตแพทย์
    • ยังคงมีเลือดออกอยู่ ภายหลังการรักษาเกิน 1-2 วัน
    • มีหนองบริเวณแผล
    • มีอาการกลืนอาหารลำบาก หรือหายใจลำบาก
    • มีไข้
    • เกิดการบวมมากขึ้น หลังจากผ่าฟันคุดเสร็จแล้ว 2-3 วัน ทั้งที่ช่วงแรกไม่มีอาการบวม
    • มีเลือดหรือหนองปนมากับน้ำมูก
    • ปวดแผลมาก และไม่หายแม้ผ่าฟันคุดเสร็จไปแล้วเกิน 48 ชั่วโมง
    • มีอาการหายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม หลังผ่าฟันคุดไปแล้ว 3 วัน
  6. ภายหลังการผ่าฟันคุด ส่วนมากทันตแพทย์จะนัดให้กลับมาตัดไหมประมาณ 5-7 วัน ซึ่งการทิ้งไหมที่ใช้เย็บแผลไว้นานเกินไป อาจทำให้มีแบคทีเรียไปติดเชื้อที่บริเวณดังกล่าวได้

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับการ ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด

ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด ราคา เท่าไหร่?

การผ่าฟันคุดจะมีราคาแตกต่างกันไปตามแต่ละคลินิก สำหรับที่ SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ซึ่งให้บริการโดยทีมทันตแพทย์ศัลยกรรมช่องปากเฉพาะทาง จะมีอัตราค่าบริการดังนี้ ถอนฟันคุด ราคาซี่ละ 1,000-2,000 บาท และผ่าฟันคุด ราคาซี่ละ 3,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับความยาก-ง่ายของแต่ละเคส ทั้งนี้ทันตแพทย์เฉพาะทางจะเป็นผู้ประเมินและแจ้งราคาผ่าฟันคุดก่อนทำการรักษา และสามารถใช้สิทธิประกันสังคมหักลดได้ 900 บาทต่อปี

ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด สามารถใช้สิทธิทำฟันประกันสังคมได้หรือไม่?

ได้ สำหรับการผ่าฟันคุด ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ ที่ SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ สามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้ 900 บาท/ปี โดยไม่ต้องสำรองจ่าย ที่สำคัญอย่าลืมพกบัตรประชาชนมาแสดงสำหรับการใช้สิทธิทำฟันประกันสังคม

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง: รักษารากฟัน

ทันตแพทย์ที่ให้บริการ ผ่าฟันคุด

ทันตแพทย์เฉพาะทางของเรา ที่ให้บริการ ผ่าฟันคุด และ ถอนฟันคุด

ทพ. บัณฑิต วิเศษมงคลชัย (หมอบัณฑิต)
สาขา : ศัลยกรรมช่องปาก
ทพญ. ฉัตรชญา พึ่งผูก (หมอตุ๊ก)
สาขา : ศัลยกรรมช่องปาก/ทันตกรรมจัดฟัน/ทันตกรรมรากเทียม
ทพญ. ภารดี คีรีวรรณ (หมอโดนัท)
สาขา : ศัลยกรรมช่องปาก

ค่าบริการ ผ่าฟันคุด-ถอนฟันคุด

อัตราค่าบริการ รวมถึงราคาในการผ่าฟันคุดสามารถดูได้ในตารางด้านล่างนี้

บริการทันตกรรมเฉพาะทางค่าบริการ (บาท)
ถอนฟันคุด ราคา ซี่ละ1,000 – 2,000
ผ่าฟันคุด ราคา ซี่ละ3,000 – 5,000

ตาราง: ค่าบริการ ถอนฟันคุด-ผ่าฟันคุด

สามารถใช้สิทธิทำฟันประกันสังคมหักลดได้ 900 บาทต่อปีทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่าย สำหรับการใช้สิทธิประกันสังคม-ทันตกรรมซึ่งได้แก่ การขูดหินปูน การอุดฟัน การถอนฟัน และการผ่าฟันคุด หรือการถอนฟันคุด กรุณาพกบัตรประชาชนมาด้วยสำหรับการใช้สิทธิ

สิทธิทำฟันประกันสังคมนี้จะไม่ครอบคลุมถึง การรักษารากฟัน การครอบฟัน ไม่ว่าจะเป็นการครอบฟันน้ำนมหรือการครอบฟันแท้ แต่สามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพเบิกได้ โดยมีเงื่อนไขแตกต่างกันไปตามประเภทกรมธรรม์ กรุณาตรวจสอบเงื่อนไขการเบิกจ่ายกับทางเจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันภัย หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลก่อนใช้บริการ

เวลาทำการ

เวลาทำการสำหรับนัดหมาย ทันตกรรมเด็ก
เวลาทำการ คลินิกทันตกรรม SmileDC
จันทร์-เสาร์10:00 – 19:00 น.
อาทิตย์10:00 – 12:00 น.

แผนที่

SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ตั้งอยู่ในโครงการดิไอเฟล บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก เขตสะพานสูง/รามคำแหง ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) นะคะ สามารถดูแผนที่ และกดปุ่มด้านล่างเพื่อนำทางด้วย Google Maps มายังคลินิกของเราได้เลยค่ะ

แผนที่ SmileDC
แผนที่ SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์

สอบถามนัดหมาย

โทร 096-942-0057 คลินิกทันตกรรม SmileDC
เฟสบุ๊คแชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC
ไลน์แชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC

บทความที่เกี่ยวข้องกับการผ่าฟันคุดหรือถอนฟันคุด

ปัญหาการ มีฟันคุด แล้วไม่เอาออก

มีฟันคุดไม่เอาออกได้มั๊ย?

มีฟันคุด ในช่องปาก แต่ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ไม่ได้ไปผ่าฟันคุด ปล่อยปละละเลย หรือ ทิ้งเอาไว้ภายในช่องปาก อาจจะส่งผลเสียได้ค่ะ หลายๆคนอาจจะมีคำถามในใจว่า ถ้าเรา มีฟันคุด แล้วไม่ผ่าหรือ ถอนฟันคุดออกได้มั๊ย? ตามมาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ…
ฟันตกกระ สาเหตุและวิธีรักษา

ฟันตกกระ มีสาเหตุและวิธีการรักษาอย่างไร?

ฟันตกกระ หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า dental-fluorosis เป็นภาวะของฟันที่มีลักษณะผิดปกติไป จากเนื้อฟันที่ควรจะเป็นสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ ใส มันวาว และแข็ง แต่ฟันตกกระ จะมีลักษณะของเนื้อฟันที่เป็นสีขาวขุ่น ไปจนถึงสีเหลืองจัด และอาจเป็นสีน้ำตาลได้ ในรายที่มีความรุนแรงของฟันตกกระมากๆ…