ฟันซ้อน ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม

ส่องปัญหา ‘ฟันซ้อน’ ในเด็ก ส่งผลต่อสุขภาพช่องปากอย่างไร?

แก้ไขล่าสุด 31/05/2024

การที่ลูกน้อยยิ้มกว้างได้อย่างสบายใจ ย่อมเป็นสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนา แต่รอยยิ้มนั้นอาจถูกบดบังด้วยการเกิด “ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม” ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่มีลูกในวัยนี้พบเจอกันเป็นประจำ โดยเฉพาะในเด็กที่มีอายุช่วง 6-8 ปี จนหลายครั้งอาจจะทำให้เกิดความกังวลว่า การที่ลูกมีฟันแท้ขึ้นมาทีหลังนี้ จะกลายเป็น “ฟันซ้อน” หรือ “ฟันเก” หรือไม่? และคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร? บทความนี้จะพาไปหาคำตอบกัน

ไขคำตอบ! ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม คืออะไร?

ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม คือสภาวะที่ฟันแท้ขึ้นมาใหม่ในช่องปาก โดยที่ฟันน้ำนมซี่เดิมยังไม่หลุดไป จึงทำให้เกิดการซ้อนทับกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงอายุประมาณ 6-12 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ฟันน้ำนมเริ่มจะหลุดและเริ่มมีฟันแท้ขึ้นมาในช่องปาก ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาได้ในอนาคต

ระวังผลกระทบระยะยาวที่เกิดจากภาวะ “ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม”

คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจคิดว่าการที่ฟันแท้ขึ้นซ้อนมาระหว่างที่ฟันน้ำนมยังไม่หลุด เป็นเรื่องปกติที่พบได้ แต่หากไม่ป้องกันให้ดีอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมา ดังนี้

  1. ฟันซ้อนเก เนื่องจากฟันน้ำนมซี่เดิมไม่ยอมหลุดไป ทำให้ฟันแท้ไม่สามารถมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน และอาจทำให้ต้องแก้ไขด้วยการจัดฟัน
  2. เกิดการระคายเคือง จากฟันแท้ที่ขึ้นมาในตำแหน่งของเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก จนไปบาดและทำให้เกิดแผลบริเวณลิ้นหรือกระพุ้งแก้ม
  3. ทำให้ทำความสะอาดได้ยาก เนื่องจากบริเวณที่ฟันเบียดซ้อนกัน กลายเป็นจุดที่อาหารเข้าไปสะสมอยู่ และแปรงไม่ออก ส่งผลให้เกิดฟันผุได้

ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เริ่มสังเกตเห็นว่าลูกน้อยเริ่มมีฟันแท้ที่ซ้อนขึ้นมาเบียดฟันน้ำนม ก็ควรพาบุตรหลานไปพบทันตแพทย์สำหรับเด็ก หรือคุณหมอฟันเด็ก เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม ป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคต

รีบแก้ก่อนสาย! อย่าปล่อยให้เกิดฟันซ้อนฟันเก

หากละเลยปัญหาจนทำให้เกิดฟันซ้อน หรือฟันเก อาจส่งผลต่อทั้งสุขภาพช่องปากและบุคลิกของลูกน้อยได้ ดังนี้

  • ผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก เนื่องจากข้อจำกัดในการทำความสะอาด ทำให้เกิดคราบพลัค หินปูน ฟันผุ และโรคเหงือกอักเสบ อีกทั้งฟันที่เรียงตัวซ้อนกันไม่สวย ก็อาจทำให้ฟันซี่อื่นล้มตาม ส่งผลต่อช่องปากทั้งหมด
  • ผลกระทบต่อบุคลิก การมีฟันที่ไม่เรียงตัวสวยอาจทำให้ลูกน้อยไม่มั่นใจในการยิ้ม อีกทั้งยังอาจถูกล้อเลียน จนขาดความมั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม ส่งผลต่อบุคลิกในระยะยาว

ทำอย่างไรเมื่อพบว่าลูกมีฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนม?

เมื่อได้ทราบถึงผลกระทบแล้ว ผู้ปกครองหลายคนอาจเริ่มหนักใจ กลัวจะเกิดปัญหาในอนาคต ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถพิจารณาปัญหาและดูแลในเบื้องต้นได้ ดังนี้

ดูแลสุขอนามัยช่องปาก

ดังที่กล่าวไปว่าฟันซ้อนคือปัญหาที่ทำให้การแปรงฟันอย่างทั่วถึงเป็นเรื่องยาก คุณพ่อคุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพฟันของลูกให้ดี โดยเริ่มจากการแปรงฟันให้ลูกวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น หรือทุกครั้งหลังทานอาหาร โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ และสอนให้ลูกใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง เพื่อขจัดคราบที่แปรงสีฟันอาจไม่สามารถเข้าถึงได้ให้หมดจด

ประเมินว่าฟันแท้ขึ้นมาในระดับไหนแล้ว

หากพบว่าฟันแท้ขึ้นมาเยอะ หรือเกือบจะครึ่งซี่แล้ว โดยที่ฟันน้ำนมยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดได้เอง ควรพาลูกน้อยไปพบกับคุณหมอฟันเด็กเพื่อตรวจและประเมินดู เพราะพบว่ามีหลายเคสที่ฟันน้ำนมยังไม่มีทีท่าว่าจะหลุดเลยเนื่องจากรากฟันน้ำนมยังยาวมาก ซึ่งในกรณีนี้คุณหมออาจแนะนำให้ถอนฟันน้ำนมซี่ที่ยังไม่ยอมหลุดออก เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้ฟันแท้สามารถขึ้นมาได้อย่างเต็มที่และช่วยลดโอกาสที่ฟันแท้จะกลายเป็นฟันซ้อน หรือฟันเก เนื่องจากการขึ้นผิดตำแหน่ง

สังเกตว่าฟันน้ำนมโยกมากน้อยแค่ไหน

หากฟันน้ำนมโยกมาก ๆ แล้ว คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้เลย เพราะสามารถปล่อยให้ฟันหลุดไปได้เอง แต่ถ้าหากฟันน้ำนมยังคงแน่นอยู่ โดยที่มีฟันแท้ขึ้นมาซ้อนเยอะ หรือในกรณีที่ลูกมีอาการเจ็บฟันที่โยกโดยเฉพาะเวลาทานอาหาร อาจจะต้องพิจารณาพาน้องไปพบคุณหมอฟันเด็กเพื่อช่วยถอนออกให้

ดูสภาพเหงือกว่ามีการอักเสบหรือไม่

หากพบว่าฟันน้ำนมที่โยกทำให้เหงือกมีอาการอักเสบบวมแดง หรือทำให้ลูกรู้สึกเจ็บจนแปรงฟันไม่ได้ หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้ ในกรณีนี้ควรพาไปพบทันตแพทย์เพื่อให้พิจารณาถอนฟันที่ซ้อนอยู่ออก

ดูความสมัครใจของลูก

ถ้าในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือในการถอนฟัน อย่างน้อยก็ควรพาลูกน้อยมารับการตรวจดูอาการจากทันตแพทย์โดยตรง เพราะฟันบางซี่อาจยังสามารถรอให้หลุดเองได้ หากเด็กไม่ยินยอม ทันตแพทย์อาจรอให้ไปหลุดเองที่บ้าน แต่ควรมาตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าเป็นฟันซี่ที่สามารถหลุดเองได้โดยไม่มีปัญหา

วิธีการจัดการเมื่อเกิด “ฟันซ้อน”

เมื่อทันตแพทย์ประเมินแล้วว่าต้องถอนฟันน้ำนมซี่ที่ซ้อนกับฟันแท้ออก คุณหมอฟันเด็กจะมีวิธีการจัดการดังนี้

  1. ประเมินสุขภาพเด็กโดยรวม ในกรณีที่เด็กมีโรคประจำตัวบางประเภท อาจต้องมีการทานยาฆ่าเชื้อก่อนถอนฟัน
  2. ใช้ยาชา บริเวณที่ต้องการถอนฟันน้ำนมที่ซ้อนออก เพื่อช่วยลดความเจ็บปวด ซึ่งจะมีการใช้ยาชาทั้ง 2 รูปแบบ
    • การใช้ยาชาแบบป้าย โดยจะแปะยาชาเฉพาะที่ไว้ประมาณ 30 วินาทีถึง 2 นาที
    • การใช้ยาชาแบบฉีด โดยทันตแพทย์จะเดินยาช้า ๆ ประมาณนาทีละ 1 cc. เพื่อไม่ให้เกิดแรงดัน ที่ทำให้เด็กรู้สึกเจ็บ

      จากนั้นจะทำการล้างปาก เพื่อลดความขมของยาชาที่ตกค้างในช่องปากออก และต้องรออีกประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้ยาชาออกฤทธิ์เต็มที่ โดยทันตแพทย์จะต้องทดสอบความชาก่อนถอนฟัน เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กชาสนิทแล้ว
  3. เข้าสู่กระบวนการ เริ่มจากการใช้เครื่องมือช่วยแยกฟันให้หลวมก่อน แล้วจึงใช้ครีมเพื่อถอนฟันน้ำนมซี่ที่ซ้อนกับฟันแท้ออก
  4. ทำการหยุดเลือด โดยการใช้ผ้าก๊อซกดบริเวณแผล แต่ในบางกรณีอาจใช้ตัวช่วยห้ามเลือด หรือเย็บแผลช่วยเพื่อให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น
  5. ติดตามอาการ ทันตแพทย์มักจะนัดเด็กกลับมาประเมินภายหลังการถอนฟันว่า ฟันแท้สามารถกลับมาสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องได้หรือไม่ ในกรณีที่ฟันแท้ไม่สามารถเรียงตัวกลับมาในตำแหน่งที่ดีได้ อาจต้องมีการใช้การจัดฟันเข้ามาช่วย เพื่อให้ฟันเรียงตัวได้สวยขึ้น

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนมที่ไม่สามารถหลุดเองได้ เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาฟันซ้อนฟันเกในอนาคต ก็ควรพิจารณาพาลูกน้อยมาปรึกษาทันตแพทย์ได้ที่คลินิกทันตกรรมเด็ก SmileDC ที่มีคุณหมอฟันเด็กออกตรวจเป็นประจำทุกวัน พร้อมประเมินปัญหาและรักษาฟันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 096-942-0057

บทความโดย

หมอฟันเด็ก - หมอโบว์ (ผศ.ทพญ.อาวีพรรณ โกวิทย์สมบูรณ์)

ผศ.ทพญ. อาวีพรรณ โกวิทย์สมบูรณ์

ทันตแพทย์เด็กประจำคลินิกทันตกรรม SmileDC

2559 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ทันตกรรมเด็ก)
2552 วิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (ทันตกรรมเด็ก) มหาวิทยาลัยมหิดล
2548 ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. ฟันแท้ขึ้นซ้อนฟันน้ำนมอันตรายกับลูกไหม. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.rakluke.com/community-of-the-experts/teeth-health/item/Double-teeth.html