ผู้หญิงยืนส่องกระจกสังเกตฟันตัวเอง

รู้ทันสัญญาณเตือน สาเหตุ วิธีรักษา และแนวทางการป้องกันฟันล้ม

แก้ไขล่าสุด 04/06/2024

หน้าแรก » บทความด้านทันตกรรม » รู้ทันสัญญาณเตือน สาเหตุ วิธีรักษา และแนวทางการป้องกันฟันล้ม
ผู้หญิงยืนส่องกระจกสังเกตฟันตัวเอง

“ฟันล้ม” เป็นปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นกับคนที่เคยจัดฟันแต่ไม่ใส่รีเทนเนอร์ตามที่ทันตแพทย์แนะนำ จนทำให้ฟันที่จัดเสร็จแล้วเกิดการเคลื่อนหรือเอียงล้มได้

แต่อย่างไรก็ดี ปัญหาฟันล้มนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนที่เคยจัดฟันเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันล้มบ้าง รวมถึงมีวิธีรักษาและป้องกันการเกิดฟันเอียงล้มได้อย่างไร เราจะบอกให้รู้กันในบทความนี้

ฟันล้มเกิดจากอะไร

ฟันล้มเป็นสภาวะที่ฟันเกิดการเคลื่อนที่และล้มเอียงไปยังด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อหาที่ยึดเกาะ จนทำให้ตำแหน่งของฟันผิดไปจากเดิม และกลายเป็นฟันซ้อน ฟันเกได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันล้ม มีดังนี้

จัดฟันแล้วไม่ใส่รีเทนเนอร์

การไม่ใส่รีเทนเนอร์หลังการจัดฟันเสร็จเรียบร้อย ส่งผลให้ไม่สามารถคงสภาพฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเรียงตัวอย่างสวยงาม อีกทั้งยังทำให้ฟันมีโอกาสเคลื่อนที่กลับไปยังตำแหน่งเดิม หรือเอียงล้มไปยังฟันซี่ใกล้เคียงได้

จัดฟันไม่ได้มาตรฐาน

ในส่วนของคนที่เลือกใช้บริการจัดฟันที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ได้ติดเครื่องมือโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการจัดฟัน ก็เสี่ยงที่จะเกิดฟันล้มได้เช่นกัน

สูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควร

หากน้อง ๆ ต้องสูญเสียฟันน้ำนมก่อนวัยอันควร ไม่ว่าจะด้วยอุบัติเหตุ หรือปัญหาสุขภาพฟัน ถ้าไม่ติดตั้งเครื่องมือกั้นที่กันฟันลม เมื่อเกิดฟันแท้งอกขึ้นมา ก็เสี่ยงที่ฟันจะขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หรือฟันในซี่ใกล้เคียงล้มในบริเวณช่องว่างระหว่างฟันได้

อายุ

เนื่องจากฟันของคนมีการเคลื่อนที่อยู่เสมอ เมื่ออายุมากขึ้น จึงมีโอกาสที่ฟันจะเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม และให้เกิดฟันล้มได้

นอนกัดฟัน

การนอนกัดฟัน นอกจากจะทำให้ฟันสึกแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ของฟันอย่างผิดปกติ และมีความเสี่ยงจะเอียงล้มไปยังบริเวณที่มีช่องว่าง หรือไปเบียด ซ้อน กับฟันซี่อื่นได้

โรคเหงือกอักเสบ

โรคเหงือกอักเสบ เป็นปัญหาที่ส่งผลให้เหงือกขาดความแข็งแรง ฟันจึงไม่สามารถตั้งอยู่บนเหงือกได้อย่างมั่นคง จึงเอียงลมได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

สัญญาณเตือนอาการฟันล้ม

สัญญาณเตือนของการเกิดภาวะฟันล้มในอนาคตได้นั้น มีอยู่หลากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังต่อไปนี้

  • เมื่อส่องกระจกแล้วสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ฟันเคลื่อนที่ไปจากเดิม และเมื่อให้ฟันบนกับฟันล่างสบกัน แนวกลางของฟันซี่หน้าทั้งคู่บนและคู่ล่างเลื่อน ไม่ได้อยู่ตรงกึ่งกลางของใบหน้าเหมือนเดิม
  • สำหรับคนที่จัดฟันเรียบร้อยแล้ว และไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์เป็นเวลานาน พอลองนำกลับมาใส่ใหม่หากพบว่าไม่สามารถใส่รีเทนเนอร์ได้ แสดงว่าฟันเคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งที่เคยได้จัดฟันไว้แล้ว
  • หากลองสบฟันแล้วส่องกระจก พบว่าฟันไม่สม่ำเสมอกัน หรือมีช่องว่างระหว่างฟันเพิ่มมากขึ้น แสดงว่าฟันกำลังเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดฟันล้มได้
  • หากพบว่ามีฟันซ้อน ฟันเก รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม นับเป็นสัญญาณเตือนว่าจะเกิดอาการฟันล้มได้
  • หากมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน เนื่องจากสุขภาพของเหงือกและฟันมีปัญหา ต้องรีบเข้ารับการรักษาทันที เพราะมีโอกาสที่ฟันจะเอียงล้มได้เช่นกัน
ผู้หญิงยิ้มสดใสใส่รีเทนเนอร์ที่ฟัน

แนวทางในการรักษาปัญหาฟันล้ม

สำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันล้ม มีวิธีรักษาที่นิยมกันในปัจจุบัน ดังนี้

ใส่รีเทนเนอร์ประคองฟัน

วิธีการแรกคือการใส่รีเทนเนอร์ เพื่อประคองฟันและคงสภาพฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และป้องกันฟันไม่ให้ล้มไปมากกว่าเดิม โดยควรสวมใส่รีเทนเนอร์ตลอด ยกเว้นเฉพาะในเวลารับประทานอาหาร รวมถึงตอนที่ทำความสะอาดฟัน

ใส่ฟันทดแทน

เมื่อมีการถอนฟัน ควรใส่ฟันปลอมแบบติดแน่น หรือฟันปลอมแบบถอดได้ เพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไป และเป็นการปิดไม่ให้มีช่องว่างระหว่างฟัน จึงจะสามารถป้องกันการเกิดปัญหาฟันล้มได้

จัดฟันใหม่

หากฟันเคลื่อนที่ออกไปจากตำแหน่งที่เคยจัดฟันไว้มาก การใส่รีเทนเนอร์อย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้ฟันกลับเข้ามายังตำแหน่งที่เหมาะสมได้ จำเป็นต้องจัดฟันใหม่ เพื่อแก้ไขไม่ให้ฟันซ้อนเกไปมากกว่าเดิม หรือเพิ่มโอกาสที่จะเกิดปัญหาฟันล้มได้อีกด้วย

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดฟันล้ม

  • ใส่รีเทนเนอร์สม่ำเสมอ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ โดยในช่วง 1-2 ปีแรกหลังจากการจัดฟัน ควรสวมใส่รีเทนเนอร์ไว้ตลอดเวลา หลังจากปีที่ 2 ไปแล้วจึงค่อย ๆ ปรับลดลง เหลือเพียงการใส่เฉพาะเวลานอนเท่านั้น
  • ดูแลรักษาความสะอาดของช่องปากและฟันอยู่เสมอ ด้วยการแปรงฟันให้ถูกวิธี และใช้ไหมขัดฟันหลังการแปรงฟันทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ
  • ควรได้รับการตรวจช่องปากและฟันโดยทันตแพทย์ รวมถึงขูดหินปูนทุก ๆ 6 เดือน เพื่อการมีสุขภาพของช่องปากที่ดี
  • หากสูญเสียฟันจากทั้งอุบัติเหตุหรือปัญหาสุขภาพฟัน ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษา และใส่ฟันทดแทน ซึ่งเป็นวิธีป้องกันฟันล้มได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ปัญหาฟันล้มป้องกันได้ หากเข้าใจ และปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด สำหรับคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยที่พบสัญญาณเตือนปัญหาฟันล้ม อย่ารอช้า รีบมารักษากับทันตแพทย์ ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรมเด็กและครอบครัว ที่พร้อมดูแลปัญหาฟันล้ม จัดฟันเด็กและผู้ใหญ่ โดยทันตแพทย์เฉพาะทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 096-942-0057

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. เครื่องมือ “กันที่” (กันฟันล้ม). สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 จาก https://www.doctor.or.th/article/detail/3400
  2. สธ.เตือน จัดฟันแฟชั่น อันตราย ฟันล้ม เหงือกอักเสบ ติดเชื้อ. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 จาก https://dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27913