ทำอย่างไรเมื่อลูกมีอาการคอฟันสึก

รู้จักคอฟันสึก อาการที่ส่งสัญญาณถึงปัญหาฟันในอนาคต

แก้ไขล่าสุด 04/06/2024

หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “อาการคอฟันสึกในเด็ก”

เมื่อไรที่คุณพ่อคุณแม่ได้ลองสังเกตเห็นรอยบิ่นบุ๋มเข้าไปของฟันบริเวณใกล้กับเหงือก นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการ ‘คอฟันสึก’ ของลูกรัก ซึ่งถึงแม้การเป็นคอฟันสึกจะสามารถรักษาได้ แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจลุกลามเข้าไปถึงรากฟัน ส่งผลให้ฟันผุและสูญเสียฟันในที่สุด คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาข้อมูลให้รู้เท่าทัน เพื่อนำมาดูแลและปกป้องลูกน้อย

คอฟันสึก คืออะไร

คอฟันสึก คือภาวะที่เนื้อฟันบริเวณคอฟันถูกทำลายไป ส่งผลให้ฟันมีลักษณะแหลมคม มีอาการเสียวฟัน บางครั้งอาจทำให้ฟันแตกได้ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นกับฟันซี่ใดก็ได้ แต่มักพบบ่อยที่ฟันกรามน้อยและฟันเขี้ยว ซึ่งเป็นฟันที่ใช้สำหรับบดเคี้ยวอาหาร โดยอาจไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่อาจมีสัญญาณหากอาการรุนแรงขึ้น ดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการเสียวฟัน โดยเฉพาะเมื่อทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว หวานจัด เย็นจัด และร้อนจัด
  • ฟันมีลักษณะแหลมคม
  • ฟันมีสีคล้ำ
  • ฟันแตก

สาเหตุการเกิดคอฟันสึก

รอยสึกบริเวณคอฟันมักเกิดจากแรงที่กระทำต่อฟันมากเกินไป ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะด้านพฤติกรรม เช่น

การแปรงฟันผิดวิธี

หลายคนอาจทำลายคอฟันโดยไม่รู้ตัวด้วยการขัดถูหน้าฟันไปมาตามแนวนอน ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคือการแปรงสวนทางกัน โดยปัดแปรงขึ้นเมื่อแปรงฟันล่างและปัดแปรงลงเมื่อแปรงฟันบน อีกทั้งบางคนอาจใช้แปรงที่แข็งมาแปรงอย่างแรงด้วยความเชื่อว่าจะทำให้ฟันสะอาดขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้วการแปรงฟันแรงเกินไปย่อมส่งผลร้ายต่อเนื้อฟัน อีกทั้งยังทำให้ชั้นเคลือบฟันถูกทำลาย คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาและพร่ำสอนการแปรงฟันที่ถูกวิธีให้แก่ลูกน้อย และควรเปลี่ยนแปรงสีฟันอย่างน้อยทุก 3 เดือน

การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรด

อาหารและเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา กาแฟ ส้ม มะนาว ล้วนมีกรดที่กัดกร่อนชั้นเคลือบฟัน ทำให้ชั้นเนื้อฟันมีส่วนสัมผัสกับสภาพในช่องปากโดยตรง ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการกำชับให้ลูกน้อยดื่มน้ำเปล่าตามหลังเมื่อทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดเหล่านี้

การนอนกัดฟัน

อีกหนึ่งสาเหตุที่หลายคนไม่คาดคิด คือการนอนกัดฟัน ซึ่งทำให้เกิดแรงกดที่มากเกินไปบนฟัน จนส่งผลให้ฟันสึกหรอ คุณพ่อคุณแม่จึงควรสังเกตให้ดี หากพบว่าลูกน้อยมักนอนกัดฟันให้ฝึกเทคนิคผ่อนคลายกล้ามเนื้อกรามก่อนนอน หรือลองปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางแก้ไข

การรักษาและป้องกันเมื่อลูกเกิดคอฟันสึก

การรักษาและป้องกันปัญหาคอฟันสึก

การรักษาแผลสึกบริเวณคอฟัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแผล โดยหากมีอาการเพียงการเสียวฟันที่ไม่รุนแรงนัก สามารถเปลี่ยนมาใช้ยาสีฟันชนิดที่มีส่วนผสมของสารลดการเสียวฟัน เพื่อระงับอาการได้ แต่หากมีอาการมาก สามารถรักษาได้ด้วยวิธี ดังนี้

อุดฟัน

การอุดฟันสามารถรักษาปัญหาคอฟันสึกได้เมื่ออาการสึกมีขนาดเล็กและยังไม่ลงลึกถึงชั้นเนื้อฟัน โดยจะใช้ช้วัสดุที่มีสีเหมือนฟัน เช่น เรซินคอมโพสิต มาอุดรอยสึก เพื่อช่วยคงรูปร่างฟันให้กลับมาดูสวยงามดังเดิม อีกทั้งยังบรรเทาอาการเสียวฟัน และป้องกันไม่ให้การเสียหายของฟันลุกลามมากขึ้น

จัดฟัน

การจัดฟันอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาคอฟันสึกโดยตรง แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลสึกในอนาคตได้ โดยการจัดเรียงตำแหน่งฟันเพื่อปรับการกระจายแรงกด ลดแรงกดบนจุดเสี่ยง อีกทั้งปัญหาคอฟันสึกอาจเกิดจากการงอกของฟันในตำแหน่งที่ทำให้เกิดการซ้อนทับอย่างไม่เหมาะสม การจัดฟันจึงสามารถควบคุมการงอกของฟันให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ แต่ในกรณีที่มีแผลสึกอยู่แล้ว อาจต้องทำร่วมกับการรักษาเพิ่มเติม เช่น การอุดฟัน

ดูแลรักษาปัญหาฟันผิดปกติของลูกน้อยตั้งแต่เริ่ม ด้วยการจัดฟันน้ำนมที่คลินิกทันตกรรมเด็กและครอบครัว SmileDC ที่ให้บริการทันตกรรมเด็ก เพื่อจัดเรียงฟันไม่ให้ปรากฏในบริเวณที่ไม่เหมาะสม จนส่งผลต่อการเกิดคอฟันสึก โดยทันตแพทย์เด็กเฉพาะทางที่พร้อมให้การดูแล สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 096-942-0057

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. Abfraction: Symptoms, Causes, and How to Treat. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.healthline.com/health/abfraction#symptoms
  2. คอฟันสึก. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://dt.mahidol.ac.th/คอฟันสึก/