ฟันผุ คือ ภาวะของเนื้อฟันที่มีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป โดยอาการฟันผุ เกิดจาก การสูญเสียแร่ธาตุที่มีลักษณะแข็งของตัวฟัน มีสาเหตุหลักมาจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในช่องปาก ย่อยเศษอาหารและปลดปล่อยกรดออกมาทำลายเนื้อฟัน ฟันผุมักจะเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ และสามารถลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน สร้างความเจ็บปวด จนอาจต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด
สารบัญ-ฟันผุ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจด้านล่างนี้ค่ะ
- ฟันผุ คืออะไร
- สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุ
- คำแนะนำในการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันฟันผุ
- ประเภทของโรคฟันผุ
- ระยะต่างๆของโรคฟันผุ
- วิธีการรักษา ฟันผุ
- หากมีฟันผุแล้วไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้น
- อาการที่บ่งบอกว่าเกิด ฟันผุ
- การป้องกันตนเองจาก ฟันผุ
- ฟันผุตอนจัดฟัน อีกปัญหาที่อาจพบได้บ่อย
- บทสรุปการป้องกัน ฟันผุ
- คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ ฟันผุ
- บริการ ทันตกรรมเด็ก
- คำถามที่พบบ่อย – เวลาทำการของคลินิก
- คำถามที่พบบ่อย – คลินิกทันตกรรม SmileDC อยู่ตรงไหน?
- บทความที่เกี่ยวข้องกับ คำถามที่พบบ่อยของการทำฟันเด็ก
ฟันผุ คืออะไร
ตามปกติแล้ว โครงสร้างของฟันจะประกอบไปด้วยแร่ธาตุที่แข็ง และมีสีขาว ล้อมรอบบริเวณโพรงประสาทฟันเอาไว้ แต่เมื่อมีการบริโภคอาหารประเภทแป้งและน้ำตาลเข้าไป แบคทีเรียที่อยู่ภายในช่องปาก จะเกิดการย่อยสลายอาหารน้ำตาลนั้นๆ และปลดปล่อยกรดออกมา ซึ่งกรดเหล่านี้เอง จะสามารถละลายแร่ธาตุที่เป็นโครงสร้างหลักของฟัน ทำให้เนื้อฟันเกิดอ่อนตัวลง เป็นรูหรือเป็นโพรง และเกิดการเปลี่ยนสี ถ้าหากบริเวณรอย ฟันผุ ไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม รอยผุจะลุกลาม เกิด ฟันผุมาก ขยายขนาดใหญ่ขึ้นและลึกขึ้นเรื่อยๆ ถ้าหากรอยผุลุกลามเข้าไปจนถึงโพรงประสาทฟัน จะทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด และจะไม่สามารถรักษาได้โดยการอุดฟันอีกต่อไป
= = = = = = = = = = = = = = = =
สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุ
ฟันผุ เกิดจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ คือ
- ตัวฟัน: ไม่ว่าจะเป็นฟันแท้หรือฟันน้ำนม ฟันหน้าหรือฟันหลัง ต่างก็สามารถเกิดโรคฟันผุ ได้ทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่ฟันได้รับการอุดฟันไปแล้ว จะไม่เกิดการผุบริเวณวัสดุอุดฟัน แต่จะมีการผุบริเวณรอยต่อรอบๆเนื้อฟันกับตัววัสดุแทน
- เชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก: เชื้อแบคทีเรียที่มีคุณสมบัติในการก่อโรคฟันผุ จะมีความสามารถในการยึดติดกับผิวเนื้อฟัน รวมถึงสามารถย่อยสลายอาหารประเภทน้ำตาลและปลดปล่อยกรดที่สามารถกัดผิวฟันออกมาได้ ดังนั้น โรคฟันผุ จึงถือเป็นโรคติดต่อประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถส่งผ่านจากคนหนึ่งไปยังคนอื่นได้ ผ่านทางน้ำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาพ่อแม่หรือคนเลี้ยงเด็ก เป่าอาหารหรืออมช้อนก่อนป้อนอาหารใส่ปากเด็ก จะเป็นการทำให้ โรคฟันผุ ติดต่อไปยังเด็กได้
- ระยะเวลาที่เกิดกรดในช่องปาก: มีหลายการศึกษา พบว่า ยิ่งช่องปากอยู่ในภาวะเป็นกรดนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะเกิด ฟันผุมาก ก็ยิ่งสูงเท่านั้น กล่าวคือ ทุกครั้งที่เรารับประทานอาหาร แบคทีเรียจะย่อยสลายอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล แล้วจึงปลดปล่อยกรดออกมา ร่างกายจะใช้น้ำลายเพื่อเป็นตัวปรับสมดุล ให้ช่องปากกลับมาอยู่ในภาวะเป็นกลางอีกครั้ง แต่ละครั้งที่ทานอาหารหรือขนมนาน 10 วินาที ช่องปากจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ในการปรับสมดุลกรดด่างให้เข้าสู่ภาวะเป็นกลาง นั่นคือ ยิ่งเราทานอาหารแต่ละมื้อนานขึ้น หรือทานอาหารและขนมบ่อยครั้ง ช่องปากก็จะมีระยะเวลาที่เป็นกรดนานขึ้น ส่งผลให้เกิด ฟันผุระยะแรก และลุกลามไปจนเกิด ฟันผุเป็นรู ได้
= = = = = = = = = = = = = = = =
คำแนะนำในการรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันฟันผุ
ตามคำแนะนำของทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และ ชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย จะมีวิธีในการรับประทานอาหารเพื่อไม่ให้ เกิดฟันผุ ดังนี้
- ควรรับประทานอาหารเป็นมื้อๆ ไม่ทานจุบจิบทั้งวัน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลในปริมาณที่สูง เช่น น้ำหวาน น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลม ควรบริโภคภายในมื้ออาหาร เพื่อให้ค่าความเป็นกรดของช่องปากเกิดขึ้นสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
- ภายหลังรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาล ควรดื่มน้ำเปล่า หรือบ้วนปากด้วยน้ำสะอาด เพื่อชะล้างเศษอาหาร และช่วยในการปรับสมดุลกรด-ด่าง ให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
- ควรรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้เสร็จสิ้นในระยะเวลาประมาณ 20-30 นาที เพื่อไม่ให้ช่องปากอยู่ในสภาวะกรดเป็นเวลานาน เช่น ในกรณีของ เด็กอมข้าว รับประทานอาหารทีเป็นชั่วโมง จะมีโอกาส เกิดฟันผุ สูง เนื่องจากค่าความเป็นกรดในช่องปากจะสูงต่อเนื่องยาวนาน
- อาหารหรือของหวานที่มีลักษณะเหนียวติดฟัน จะกำจัดออกจากฟันได้ยาก ทำให้เกิดความเป็นกรดในบริเวณที่อาหารดังกล่าวติดอยู่แบบต่อเนื่องยาวนาน เช่น บริเวณซอกฟัน จะมีโอกาสเกิดฟันผุได้สูง
- อาหารที่มีส่วนช่วยในการป้องกันฟันผุ จะเป็นอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น เนยแข็ง ชีส โดยการรับประทานอาหารในกลุ่มนี้ จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุได้
- ผู้ที่มีปริมาณของครบพลัค หรือขี้ฟัน (dental plaque) สูง ก็จะมีปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปากสูงด้วย ทำให้มีปริมาณกรดที่แบคทีเรียปลดปล่อยออกมามากกว่าผู้ที่มีคราบพลัคน้อยกว่า การแปรงฟันให้สะอาด หรือการกำจัดคราบพลัคด้วยวิธีต่างๆ จะทำให้โอกาสที่จะเกิด ฟันผุเป็นรู ลดลง
- คุณภาพและปริมาณของน้ำลาย นับเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับสมดุลกรด-ด่างในช่องปาก คือ ถ้ามีน้ำลายมาช่วยชะล้างเศษอาหาร ช่องปากจะสามารถปรับเข้าสู่ภาวะเป็นกลางได้เร็วขึ้น ในช่วงเวลาที่มีการหลั่งของน้ำลายน้อย เช่น เวลานอนหลับ หากมีการบริโภคอาหารเข้าไป (เช่น เด็กที่ดูดนมหลับคาขวด) จะทำให้ช่องปากอยู่ในภาวะเป็นกรดอยู่นาน เกิด ฟันผุระยะแรก เห็นเป็นคราบขาวขุ่นที่ตัวฟัน และหากยังเกิดพฤติกรรมดังกล่าวต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน จะเริ่มมี ฟันผุเป็นรู ลุกลามไปจนเกิด ฟันผุมาก ในที่สุด
= = = = = = = = = = = = = = = =
ประเภทของโรคฟันผุ
โรคฟันผุ สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ตามตำแหน่งที่มักเกิดฟันผุ คือ
- การผุตามบริเวณหลุมและร่องฟันที่ลึก: การผุลักษณะนี้ มักพบที่บริเวณด้านบดเคี้ยวของฟันกรามและฟันกรามน้อย รวมถึงอาจพบที่บริเวณด้านหลังของฟันหน้าบน ซึ่งรอยผุที่พบเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าวนี้ มีสาเหตุมาจากลักษณะทางกายวิภาคของตัวฟัน อันมีร่องและหลุมอยู่มากมาย โดยเศษอาหารและคราบพลัค มักจะเข้าไปติดที่บริเวณดังกล่าวนี้ และทำความสะอาดออกได้ยาก การป้องกันการเกิดรอยผุที่บริเวณหลุมและร่องฟันนี้ คือการเคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อให้บริเวณร่องและหลุมดังกล่าวตื้นขึ้น ลดโอกาสที่จะมีเศษอาหารลงไปสะสม รวมถึงในบางกรณี ที่รอยผุยังมีขนาดเล็ก ทันตแพทย์อาจพิจารณาใช้การเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อรักษาการผุได้
- รอยผุบริเวณผิวเรียบของฟัน: มักพบบริเวณด้านประชิดของตัวฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณที่มีการสะสมของคราบพลัค หรือมีเศษอาหารติดอยู่เป็นประจำ และไม่สามารถกำจัดออกได้ การผุลักษณะนี้ สามารถตรวจพบได้ยากกว่าการผุตามบริเวณหลุมและร่องฟัน เนื่องจากรอยผุบริเวณซอกฟัน เป็นจุดที่ยากจะมองด้วยตาเปล่า ทันตแพทย์ อาจใช้การถ่ายภาพรังสีด้านประชิดของฟันหลัง เพื่อตรวจดูรอยผุลักษณะดังกล่าวนี้ อย่างไรก็ดี รอยผุด้านประชิดของฟัน มักจะพบในฟันน้ำนมมากกว่าในฟันแท้ เพราะลักษณะทางกายวิภาคของฟันน้ำนมจะเอื้อต่อการมีเศษอาหารและคราบจุลินทรีย์สะสมมากกว่าฟันแท้ การป้องกันการเกิดฟันผุในบริเวณดังกล่าวนี้ สามารถทำได้โดยการใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
ระยะต่างๆของโรคฟันผุ
ฟันผุ แบ่งได้เป็นหลายระยะ โดยฟันผุในระยะแรกๆจะไม่ทำให้เกิดอาการปวดหรือเสียวฟัน แต่ถ้าหากปล่อยให้ฟันผุลุกลามไปโดยไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการทำลายเนื้อฟันที่มากขึ้น โดยฟันผุสามารถแบ่งตามระยะต่างๆได้ดังนี้ คือ
- ฟันผุระยะแรก : จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนสีของเนื้อฟันเป็นสีขาวขุ่น หรือมีลักษณะผิวไม่เรียบ หรือเป็นรู ฟันผุระยะแรก นี้ มักจะยังไม่มีอาการใดๆ
- รอยผุเริ่มลุกลามถึงชั้นเนื้อฟัน: ฟันผุ เริ่มลุกลามไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน อาจมีอาการเสียวฟันเวลาดื่มน้ำเย็น หรือทานของหวาน ถ้าหากรอยผุลุกลามเข้าใกล้โพรงประสาทฟัน อาจมีอาการปวดเกิดร่วมได้เป็นบางครั้ง แต่อาการปวดจะคงอยู่เพียงช่วงสั้นๆ และสามารถหายปวดเองได้โดยไม่ต้องกินยาแก้ปวด
- เกิดการผุลุกลามถึงชั้นโพรงประสาทฟัน: ในระยะนี้ พบว่า รอยโรคฟันผุลุกลามจากเนื้อฟันเข้าไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการปวดฟัน หรือเคี้ยวอาหารไม่ได้ ซึ่งอาการปวดฟันจาก ฟันผุ เกิดจาก บริเวณโพรงประสาทฟัน จะมีเส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่รวมกันเป๋นจำนวนมาก เมื่อมีการติดเชื้อจากรอย ฟันผุ เกิดขึ้น จะทำให้เส้นประสาทรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ รอยฟุในระยะนี้ จะไม่สามารถทำการรักษาได้โดยการอุดฟันอีกต่อไป หากต้องการเก็บฟันซี่นั้นเอาไว้ จำเป็นจะต้องทำการ รักษารากฟัน
- การอักเสบลุกลามไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆรอบตัวฟัน: อาจเกิดหนอง หรือเกิดการบวมบริเวณกระพุ้งแก้ม หรือใต้เบ้าตา อาการบวมอาจมีการลุกลามไปยังโครงสร้างอวัยวะอื่นๆ ซึ่งถ้ามีอาการจนถึงระยะนี้ จะต้องมีการให้ยาปฏิชีวนะ ร่วมกับการรักษาฟันผุที่เหมาะสมต่อไป
= = = = = = = = = = = = = = = =
วิธีการรักษา ฟันผุ
โรคฟันผุแต่ละระยะจะมีระดับความรุนแรงไม่เท่ากัน โดย ฟันผุระยะแรก จะรักษาได้ง่ายกว่า ฟันผุมาก ซึ่งวิธีการในการรักษา ฟันผุ มีดังต่อไปนี้
- การใช้ฟลูออไรด์: ทั้งการใช้ฟลูออไรด์เฉพาะที่โดยทันตแพทย์ และการแปรงฟันโดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ สำหรับในเด็กสามารถเลือกใช้ยาสีฟันเด็กที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 1,000 ppm. ซึ่งจะสามารถช่วยให้ฟันที่รอยผุในระยะแรก สามารถหยุดการผุ และคืนกลับสู่สภาวะปกติได้ เคล็ดลับในการแปรงฟันเพื่อป้องกันฟันผุ อาจทำได้โดยการทิ้งให้มียาสีฟันอยู่ในช่องปากนานประมาณ 2 นาที แล้วค่อยบ้วนยาสีฟันทิ้ง จากนั้น ไม่รับประทานน้ำหรืออาหารประมาณ 30 นาที จะช่วยป้องกันการเกิดฟันผุได้
- อุดฟัน: เมื่อมี ฟันผุเป็นรู เกิดขึ้นชัดเจนในช่องปาก ทันตแพทย์จะทำการกรอเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วบูรณะด้วยวัสดุอุดฟัน ที่มีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งสีขาวและสีเงิน ซึ่งแต่ละแบบ จะเหมาะสมกับฟันแต่ละตำแหน่ง การรักษาด้วยการอุดฟัน จะใช้ในกรณีที่ฟันผุยังไม่ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน
- ครอบฟัน: การครอบฟันน้ำนมนี้จะใช้ในกรณีที่มีฟันผุลุกลามเป็นรูใหญ่ จนไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันธรรมดา เพราะเนื้อฟันสูญเสียไปค่อนข้างมาก ทันตแพทย์จะแนะนำให้บูรณะฟันซี่ดังกล่าวด้วยการครอบฟัน เพื่อให้ฟันสามารถกลับมาใช้งานได้ตามปกติ ทั้งการบดเคี้ยว และการออกเสียง
- รักษารากฟัน: ในกรณีที่มี ฟันผุมาก ลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน จะไม่สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันอีกต่อไป ซึ่งการรักษารากฟัน จะช่วยให้ฟันที่ผุจนมีอาการปวดฟัน หายจากการปวดได้
- ถอนฟัน: เมื่อการอักเสบลุกลามไปยังอวัยวะที่อยู่ข้างเคียง เกิดการบวม หรืออักเสบรอบๆตัวฟัน หรือเนื้อฟันเกิดแตกหักไปจนไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นๆเอาไว้ได้ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำการถอนฟันซี่นั้นๆออก หลังจากนั้น จึงค่อยมาใส่ฟันเพื่อทดแทนตำแหน่งของซี่ฟันเดิม
= = = = = = = = = = = = = = = =
หากมีฟันผุแล้วไม่รักษา จะเกิดอะไรขึ้น
หากเกิดฟันผุขึ้นมาแล้วไม่ได้รับการรักษา ย่อมจะมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน โดยที่ปัญหาต่างๆที่อาจพบได้ หากไม่ได้รับการรักษาฟันผุอย่างเหมาะสม ได้แก่
- อาการเสียวฟัน เจ็บฟัน และปวดฟัน ซึ่งจะเกิดตามมาเป็นลำดับ โดย ฟันผุระยะแรก มักจะเริ่มต้นแสดงอาการเสียวฟันก่อน และพอรอยผุลุกลามมากขึ้น จนเกิด ฟันผุมาก ก็จะพัฒนาจนกลายเป็นอาการปวดฟันในที่สุด
- ทำให้มีปัญหาเรื่องของบุคลิกภาพ เช่น การมีกลิ่นปาก เห็นเป็นรอยผุสีดำที่บริเวณฟันหน้า และถ้าหากปล่อยทิ้งไว้จนมีการแตกหักของตัวฟัน จะทำให้รอยยิ้มไม่สวยงาม อาจมีความกังวลใจ ไม่กล้ายิ้ม หรือไม่กล้าพูด
- หากรอยผุลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน และเนื้อเยื่อข้างเคียง อาจทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ บวม หรือมีตุ่มหนอง ซึ่งถ้ามีความรุนแรงของโรคมากๆ หรือปล่อยปละละเลย ไม่รีบทำการรักษา อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามเข้าสู่ระบบอื่นๆของร่างกายได้ เช่น ติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น
= = = = = = = = = = = = = = = =
อาการที่บ่งบอกว่าเกิด ฟันผุ
สิ่งที่บ่งชี้ว่า อาจเกิดมีอาการฟันผุ มีดังต่อไปนี้
- ฟันผุเป็นรู หรือเกิดมีรอยแตกเป็นรูที่ตัวฟัน
- มีอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานน้ำเย็น น้ำร้อน หรืออาหารที่มีรสหวาน
- มีอาการปวดที่บริเวณฟัน
- พบมีเศษอาหารติที่บริเวณซอกฟัน และแคะหรือทำความสะอาดออกได้ยากอยู่บ่อยครั้ง
การป้องกันตนเองจาก ฟันผุ
วิธีการในการป้องกันฟันผุมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ซึ่งการใช้หลายๆวิธีประกอบกัน จะช่วยให้การป้องกันฟันผุได้ผลดียิ่งขึ้น วิธีการต่างๆ มีดังนี้
- แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ โดยความเข้มข้นของฟลูออไรด์ที่แนะนำให้ใช้คือ 1,000ppm ซึ่งแนะนำให้ใช้ตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้นมาในช่องปาก ซึ่งปริมาณของ ยาสีฟัน ที่แนะนำในแต่ละช่วงวัย จะมีรายละเอียด ดังนี้ในเด็กที่ยังบ้วนปากไม่เป็น ให้ผู้ปกครองเช็ดฟองส่วนเกินออกด้วยผ้าสะอาด
- เด็กที่บ้วนปากเป็นแล้ว ให้เด็กบ้วนยาสีฟันส่วนเกินออก และบ้วนน้ำสะอาดในปริมาณน้อย (ประมาณ 1 ช้อนชา หรือ 5 ซีซี)
- ฟันซี่แรกถึงอายุต่ำกว่า 3 ปี ให้ใช้ยาสีฟันแตะขนแปรงเป็นจุดๆ แค่พอมียาเปื้อนแปรงสีฟัน โดยให้ผู้ปกครองเป็นคนแปรงฟันให้ และเช็ดฟองส่วนเกินออก
- อายุ 3 ปี ถึงเกือบๆจะ 6 ปี หรือก่อนฟันแท้ซี่แรกขึ้น ให้บีบยาสีฟันเท่ากับความกว้างของแปรงสีฟัน โดยให้ผู้ปกครองเป็นผู้บีบยาสีฟันให้ และช่วยเด็กแปรงฟัน
- อายุ 6 ปีขึ้นไป หรือ เริ่มมีฟันแท้ซี่แรกขึ้น ให้บีบยาสีฟันเท่ากับความยาวของแปรงสีฟัน โดยให้เด็กเป็นคนแปรงเอง และผู้ปกครองตรวจความสะอาดซ้ำอีกรอบ
- ในวัยผู้ใหญ่ ให้บีบยาสีฟันเท่ากับความยาวของแปรงสีฟัน โดยหลังจากแปรงฟันเสร็จ ให้บ้วนฟองออก และบ้วนน้ำเปล่าในปริมาณน้อยแค่พอรู้สึกสบายปาก
- ใช้ไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันเป็นประจำ เนื่องจากบริเวณซอกฟัน หรือด้านประชิดของฟัน เป็นจุดที่ยากต่อการทำความสะอาดด้วยการแปรงฟัน การใช้อุปกรณ์เสริมเพื่อทำความสะอาด จะช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์บริเวณที่เข้าถึงได้ยาก เป็นการลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุ
- อาจใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีคุณสมบัติในการป้องกันฟันผุ หรือมีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย เพื่อช่วยในการทำความสะอาดช่องปาก
- เลือกรับประทานอาหารและของว่าง ชนิดที่มีแป้งและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบน้อย และพยายามจำกัดการทานให้อยู่แต่ในมื้ออาหาร ไม่ทานจุบจิบทั้งวัน
- นัดตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์เป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี
- ในฟันกรามที่อยู่ด้านใน ยากต่อการทำความสะอาด ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำการเคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อป้องกันฟันผุ
= = = = = = = = = = = = = = = =
ฟันผุตอนจัดฟัน อีกปัญหาที่อาจพบได้บ่อย
การใส่เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นในช่องปาก จะทำให้มีเศษอาหารสะสมในช่องปากได้มากกว่าในภาวะปกติ รวมถึงการทำความสะอาดก็จะทำได้ยากขึ้นเช่นกัน บ่อยครั้ง ที่พบว่า ผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟันแบบโลหะ เกิดฟันผุขึ้นมาในช่องปากโดยที่ไม่รู้ตัว
อาการแสดงของการมีฟันผุระหว่างจัดฟัน อาจพบสัญญาณดังต่อไปนี้
- มีกลิ่นปาก หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาจากช่องปาก: โดยกลิ่นดังกล่าว อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุได้ทั้ง ฟันผุ และเหงือกอักเสบ
- อาการเสียวฟัน ปวดฟัน หรือเจ็บฟัน: ที่ไม่ได้เกิดจากการปวดฟันภายหลังการปรับเครื่องมือจัดฟัน โดยอาการปวด เสียว หรือเจ็บ มักจะมีความสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ร้อนหรือเย็นจัด และอาหารหวาน
- มีเศษอาหารติดตามซอกฟัน หรือช่องว่างต่างๆของฟันเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดสังเกต: เกิดมาจาก ฟันผุเป็นรู แตกกว้างออก ทำให้เศษอาหารลงไปอัดตามรูดังกล่าวและเอาออกได้ยาก
ฟันผุ ตอนจัดฟัน จะแก้ปัญหาอย่างไร
ในบางกรณี อาจเกิดมีปัญหาฟันผุขึ้นมาระหว่างจัดฟัน หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ขึ้น ควรปฏิบัติดังนี้
- รีบเข้าพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด: หากยังไม่ถึงคิวนัดหมายเพื่อทำการปรับเครื่องมือ สามารถพบทันตแพทย์ทั่วไปก่อนได้ เพื่อรีบเข้ารับการรักษา และป้องกันไม่ให้ ฟันผุมาก หรือลุกลามไปจนเกินกว่าจะรักษาได้
- หากเป็น ฟันผุระยะแรก : อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาอะไร แต่ทันตแพทย์ มักจะแนะนำให้เน้นหนักในการทำความสะอาดมากขึ้น ทั้งการแปรงฟัน การใช้ไหมขัดฟัน และเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดให้บ่อยครั้งขึ้น รวมถึงอาจพิจารณาทา ฟลูออไรด์วานิช เพื่อเพิ่มการคืนกลับของแร่ธาตุในบริเวณดังกล่าว
- แต่ถ้าหากฟันผุในซี่นั้นๆ ลุกลามเกินกว่า ฟันผุระยะแรก : ทันตแพทย์จัดฟัน จะพิจารณาส่งตัวไปพบทันตแพทย์เฉพาะทางด้านการอุดฟัน เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
- ทันตแพทย์จะถอดเครื่องมือจัดฟันบริเวณดังกล่าวออก: เนื่องจากเครื่องมือจัดฟันชนิดโลหะ อาจจะขัดขวางการทำงานของทันตแพทย์ โดยจะต้องถอดทั้งยางคล้องฟัน ลวด และเครื่องมือออก
- ประเมินแผนการรักษาของฟันซี่ดังกล่าว: โดยหากฟันซี่นั้นๆ ยังรักษาได้ด้วยการอุดฟัน ทันตแพทย์จะทำการกรอเอาเนื้อฟันส่วนที่ผุออก และอุดด้วยวัสดุอุดฟันสีขาว หรืออมัลกัม ตามความเหมาะสม แต่ถ้าหากรอยผุลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์เฉพาะทางรักษารากฟัน อาจต้องพิจารณาให้ถอดเครื่องมือจัดฟันบริเวณดังกล่าวออกชั่วคราว และทำการรักษารากฟันจนเสร็จสิ้น จากนั้น จะอุดฟันด้วยวัสดุอุดชั่วคราวเอาไว้ หรือในบางกรณี อาจครอบฟันด้วยครอบฟันชั่วคราว หากเหลือเนื้อฟันไม่มากพอ พอรักษารากฟันเสร็จสิ้นแล้ว จึงส่งกลับไปจัดฟันต่อ ซึ่งในกรณีนี้ แผนการจัดฟัน จะยาวนานออกไป มากกว่าในตอนเบื้องต้นที่มีการประเมินระยะเวลาเอาไว้
- แต่ถ้าหาก ฟันผุมาก ต้องถอนออก: ทันตแพทย์จัดฟัน อาจจะต้องเปลี่ยนแผนการรักษาใหม่ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับว่า ฟันที่ต้องถอนออก อยู่ในตำแหน่งใด หรือสามารถปิดช่องว่างที่เกิดจากการถอนฟันซี่ดังกล่าวออกได้หมดหรือไม่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแผนการรักษาระหว่างทาง จะทำให้เกิดความยุ่งยากในการจัดฟันอย่างมาก
- ภายหลังจากรักษาฟันที่ผุจนเรียบร้อยแล้ว: ทันตแพทย์จัดฟัน จะทำการติดเครื่องมือจัดฟันกลับเข้าตำแหน่งเดิม ทั้งแบร็คเกต ลวดจัดฟัน และยางรัดฟัน และเริ่มกระบวนการจัดฟันต่อไปจนเสร็จสิ้น
ทั้งนี้ การทำความสะอาดช่องปากตอนจัดฟัน เพื่อป้องกันปัญหา ฟันผุ ทำได้โดยการแปรงฟันอย่างละเอียด เพื่อกำจัดเศษอาหารที่สะสมตามเครื่องมือจัดฟันออกให้หมด เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ความเข้มข้นอย่างน้อย 1000ppmใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันทุกวัน เพื่อกำจัดคราบพลัคที่สะสมบริเวณซอกฟัน และอาจมีการใช้อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ แต่อย่างไรก็ดี การเกิด ฟันผุ ระหว่างการจัดฟัน จะไม่เป็นปัญหาใหญ่ หากมาพบทันตแพทย์ตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทันตแพทย์จะทำการตรวจเช็คฟันทุกครั้ง ก่อนการปรับเครื่องมือจัดฟัน รวมถึงทันตแพทย์จะมีการส่งตัวไปรับการขูดหินปูนทุก 6 เดือน เพื่อลดการอักเสบของเหงือก
= = = = = = = = = = = = = = = =
บทสรุปการป้องกัน ฟันผุ
ฟันผุเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ทั้งจากปัจจัยการทำความสะอาดที่ไม่เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ฟันผุ เกิดจาก การละเลย ไม่ดูแลสุขภาพช่องปากให้ดี ดังนั้น การดูแลรักษาฟันให้สะอาด เลือกบริโภคอาหารที่ดี ให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงการตรวจสุขภาพฟันด้วยตนเอง และมาพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิด ฟันผุลุกลาม และช่วยให้เรามีฟันที่แข็งแรงเอาไว้บดเคี้ยวอาหารได้ตลอดชีวิต
= = = = = = = = = = = = = = = = = =
คำถามน่ารู้เกี่ยวกับ ฟันผุ
หากมีฟันผุแล้วไม่ทำการรักษา รอยผุอาจจะลุกลามจากเล็กๆ กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ดังนั้น หากสังเกตเห็น หรือมีการตรวจพบว่ามีฟันผุ สมควรได้รับการรักษาที่เหมาะสมทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นการอุดฟัน รักษารากฟัน หรือถอนฟันค่ะ
การดำเนินของรอยโรคฟันผุในแต่ละคนไม่เท่ากัน ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณและคุณภาพของน้ำลาย, ประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟัน เป็นต้น หากฟันเพิ่งเริ่มผุ และสามารถรักษาความสะอาดได้ดี ฟันผุอาจใช้เวลาหลายเดือน กว่าจะลุกลามไปจนถึงโพรงประสาทฟัน แต่ทั้งนี้ จะเป็นการดีที่สุด หากคุณรีบรักษาฟันผุทันทีที่ตรวจพบ หรือเร็วที่สุดที่เป็นไปได้
การแปรงฟัน หากทำไม่ถูกวิธี หรือไม่ทั่วถึง ก็จะไม่สามารถกำจัดเศษอาหารและคราบพลัคซึ่งเป็นสาเหตุของฟันผุได้ รวมถึงยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้เกิดฟันผุได้ เช่น พฤติกรรมชอบรับประทานอาหารหวาน หรือการหลับคาขวดนมในเด็ก โดยถ้ามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุ ก็ควรจะต้องปรับลดพฤติกรรมดังกล่าวควบคู่ไปด้วย จึงจะป้องกันฟันผุได้
ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการเกิดโรคฟันผุ คือ เนื้อฟัน หากคุณมีเนื้อฟันที่อ่อนแอ หรือมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากอยู่เป็นจำนวนมาก ก็จะมีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายกว่าผู้ที่มีเนื้อฟันแข็งแรง และมีปริมาณจุลินทรีย์ก่อโรคในช่องปากน้อย
= = = = = = = = = = = = = = = =
บริการทันตกรรมเด็ก
นอกเหนือจากการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้ ยาสีฟันเด็ก ทาง SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ยังมีให้บริการทันตกรรมเด็ก ด้านอื่นๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ตรวจสุขภาพฟันเด็ก
- ขูดหินปูน
- เคลือบฟลูออไรด์
- อุดฟันเด็ก
- ถอนฟันน้ำนม
- เคลือบหลุมร่องฟัน
- รักษารากฟันน้ำนม
- รักษารากฟันแท้
- ครอบฟันน้ำนม
- ใส่เครื่องมือกันฟันล้ม
- ทำฟันเด็กพิเศษ
สอบถาม-นัดหมาย
กรณีมีคำถามเพิ่มเติม ตรวจสอบค่าบริการทันตกรรม หรือต้องการนัดหมายกับคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านนี้เลยนะคะ ยินดีให้บริการค่ะ
เวลาทำการของคลินิก
จันทร์-เสาร์ | 10:00 – 19:00 น. |
อาทิตย์ | 10:00 – 12:00 น. |
คำถามที่พบบ่อย – คลินิกทันตกรรม SmileDC อยู่ตรงไหน?
คลินิกทันตกรรม SmileDC ตั้งอยู่ในโครงการดิไอเฟล บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก เขตสะพานสูง/รามคำแหง ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) นะคะ สามารถดูแผนที่ และกดปุ่มด้านล่างเพื่อนำทางด้วย Google Maps มายังคลินิกของเราได้เลยค่ะ