รักษารากฟันน้ำนม คืออะไร?
รักษารากฟันน้ำนม หรือ รักษารากฟันเด็ก (Pediatric Root Canal Treatment) คือ วิธีการรักษาทางทันตกรรมสำหรับฟันน้ำนมมีการผุลึกจนถึงโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถทำการรักษาได้ด้วยการอุดฟันปกติ เนื่องจากเชื้อโรคได้ลุกลามเข้าไปสู่ส่วนของโพรงประสาทฟันแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องทำการรักษารากฟันน้ำนมเพื่อทำการเก็บฟันซี่นั้นๆไว้ค่ะ
อีกหนึ่งคำถามที่พบได้เกี่ยวกับการรักษารากฟันน้ำนมก็คือ หลังจากรักษารากฟันน้ำนมเสร็จแล้วจำเป็นต้องทำการครอบฟันน้ำนมด้วยหรือไม่?
คำตอบ – ใช่ค่ะ เคสส่วนใหญ่จำเป็นต้องทำครอบฟันน้ำนมหลังจากที่รักษารากฟันเด็กเสร็จ เพื่อป้องกันตัวฟันน้ำนมแตกหักเสียหายได้ เพราะฟันน้ำนมที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้วจะมีลักษณะแข็งแต่เปราะและแตกหักได้ง่ายค่ะ
สารบัญ
เลือกอ่านหัวข้อที่น่าสนใจด้านล่างนี้ค่ะ
ทำไมจึงต้อง รักษารากฟันน้ำนม?
รักษารากฟันน้ำนม หรือ รักษารากฟันเด็ก มีวิธีการที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับการรักษารากฟันแท้ ใช้ระยะเวลาสั้นกว่า และค่าใช้จ่ายถูกกว่ามาก ซึ่งเป้าหมายของ การรักษารากฟันน้ำนม หรือรักษารากฟันเด็ก ก็คือ เพื่อเก็บฟันซี่นั้นๆให้อยู่ในช่องปาก ไปจนกว่าจะหมดอายุขัยของฟันนั่นคือ ก่อนที่จะฟันน้ำนมจะหลุดไปก่อนถึงเวลาในช่วงอายุ ที่ฟันแท้จะเริ่มขึ้นมาค่ะ
สัญญาณเตือนที่อาจจะต้อง รักษารากฟันน้ำนม !!
ลักษณะกายวิภาคของฟันน้ำนม จะประกอบไปด้วยชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน ล้อมรอบส่วนของโพรงประสาทฟันที่อยู่ตรงกลางซี่ฟัน โดยในสภาวะปกติ ส่วนของโพรงประสาทฟัน จะเป็นส่วนที่ปลอดจากเชื้อโรค เนื่องจากมีโครงสร้างที่แข็งแรงเป็นเหมือนเกราะห่อหุ้มเอาไว้
เมื่อใดก็ตามที่ฟันผุได้ลุกลามเข้ามาถึงโพรงประสาทฟัน ที่ซึ่งเคยปราศจากเชื้อโรค จะเกิดมีการกระตุ้นของเส้นประสาทที่อยู่ในโพรงประสาทนั้น ทำให้เกิดการปวดฟัน และนั่น คือสัญญาณเตือนที่บอกว่า ฟันซี่ที่ปวดนั้น ไปไกลเกินกว่าคำว่าอุดฟันเสียแล้ว และน่าจะต้องมีการรักษารากฟันน้ำนมต่อไป
การรักษารากฟันเด็ก ทำได้กี่แบบ?
การรักษารากฟันน้ำนม โดยคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง สามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการวิเคราะห์จากผลการ X-Ray และ ซักถามถึง ลักษณะของอาการปวด โดยสามารถแบ่งตามประเภทของการรักษารากฟันเด็ก เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. รักษารากฟันน้ำนม แบบบางส่วน (Pulpotomy)
การรักษารากฟันน้ำนม แบบบางส่วนนี้ จะใช้ในกรณีที่การติดเชื้อจำกัดอยู่ที่ส่วนของโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์เด็กจะกำจัดเนื้อเยื่อในฟันแค่บางส่วน โดยฟันเหล่านี้มักจะไม่เคยมีอาการปวด หรือเคยปวดบ้างเมื่อเศษอาหารติด แต่พอเขี่ยเศษอาหารออก ฟันก็หายปวดทันที
2. รักษารากฟันน้ำนม แบบทั้งหมด (Pulpectomy)
การรักษารากฟันน้ำนม แบบทั้งหมดนี้ จะใช้เมื่อการติดเชื้อลุกลามไปจนถึงคลองรากฟัน ทันตแพทย์สำหรับเด็ก จะทำการกำจัดเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อออกทั้งหมด และ อุดรากฟันให้เต็ม ด้วยวัสดุที่มีฤทธิ์ในการต้านเชื้อ ฟันเหล่านี้ มักมีประวัติปวดขึ้นมาเอง (โดยเฉพาะตอนนอน อาจมีการตื่นขึ้นมาร้องปวดฟันกลางดึก) เคยบวม หรือ ปวดเมื่อเศษอาหารติดฟัน แต่เอาเศษอาหารออกแล้วต้องใช้เวลานาน กว่าจะหายปวด
รักษารากฟันเด็ก มีความสำคัญอย่างไร?
ความสำคัญของการรักษารากฟันน้ำนมในเด็กเล็ก ก็เพื่อเก็บฟันน้ำนมซี่นั้นๆไว้ ซึ่งฟันน้ำนมนั้นมีหน้าที่สำคัญหลายประการ ได้แก่ ใช้ในการเคี้ยวอาหาร ใช้ในการออกเสียงพูด ใช้เพื่อเก็บพื้นที่ให้ฟันแท้ที่จะขึ้นมาเมื่อถึงเวลาที่กำหนดไว้แล้ว รวมถึงเสริมสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก เป็นต้น ดังนั้นทันตแพทย์เด็กจึงมักจะแนะนำการเก็บฟันน้ำนมให้อยู่ได้ครบจนถึงวัยที่ควรจะหลุด ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
ผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับการรักษารากฟันน้ำนม มีอะไรบ้าง?
สำหรับปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น จากการไม่ได้รับการ รักษารากฟันน้ำนม หรือ รักษารากฟันเด็ก และ ต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนถึงวัยอันควร มีดังต่อไปนี้
1. ฟันน้ำนมซี่ที่ยังอยู่เบียดล้มเข้ามาในช่องว่างที่ถอนฟันไป
ทำให้ฟันแท้เจ้าของที่ (ตัวจริง) ไม่สามารถขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้องได้ หรือบางกรณีก็กลายเป็นฟันคุดไปเลยเพราะขึ้นมาไม่ได้
2. ถ้าเป็นฟันหน้า อาจมีผลต่อการออกเสียงของเด็ก
โดยเฉพาะเสียงในภาษาไทย เช่น ฝ ฝา, ฟ ฟัน และถ้าเป็นเสียงในภาษาอังกฤษก็จะทำให้มีปัญหาในการออกเสียง s หรือ เสียง f
3. ผลกระทบของการสูญเสียฟันน้ำนมไปเพียงข้างเดียว
ถ้าเป็นฟันเขี้ยวก็อาจจะทำให้มิดไลน์ (midline) หรือกึ่งกลางของฟันเบี้ยว เกิดไม่สมดุล ซึ่งมีผลต่อรอยยิ้มที่สวยงาม
4. ไม่มีฟันเคี้ยวข้าว
การสูญเสียฟันน้ำนมไป ก่อนถึงวัยอันควร โดยเฉพาะฟันกราม จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เนื่องจากเด็กจะไม่มีฟันกรามที่ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร จึงมักจะเลือกทานอาหารอ่อนๆที่ไม่ต้องเคี้ยว หรือ เคี้ยวง่าย ทำให้อาจจะไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็น เพียงพอต่อพัฒนาการของเด็กค่ะ
ค่าบริการรักษารากฟันน้ำนมสำหรับเด็ก
บทสรุป – รักษารากฟันเด็ก
การรักษารากฟันน้ำนมในเด็ก จะใช้ในกรณีที่ฟันน้ำนมมีการผุลึก จนถึงโพรงประสาทรากฟัน และไม่สามารถทำการอุดฟันแบบปกติได้ เนื่องจากเชื้อโรคได้ลุกลามเข้าสู่ส่วนของโพรงประสาทฟันแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องทำการ รักษารากฟันน้ำนม เพื่อเก็บฟันซี่นั้นๆไว้ จะเห็นได้ว่า การรักษารากฟันน้ำนม ในเด็ก มีวิธีการที่ไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ สามารถทำเสร็จได้ในการพบทันตแพทย์เด็กเพียงครั้งเดียว และมักจะต้องมีการทำครอบฟันน้ำนมหรือครอบฟันเด็กร่วมด้วย เพื่อให้กระบวนการรักษารากฟันเด็กเสร็จสิ้นอย่างสมบูรณ์ และป้องกันฟันแตกร้าวในอนาคตค่ะ
การตัดสินใจเลือกถอนฟันซักซี่ หมอฟันเด็กต้องคิดแล้วคิดอีก เปรียบเทียบผลดีผลเสียที่จะตามมาหากเกิดการสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด แต่ทั้งนี้ ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสุดท้ายคือผู้ปกครองของเด็ก หากไม่อยากให้ลูกรักต้องสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ควรพาลูกมาตรวจสุขภาพฟันกับคุณหมอฟันเด็กเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อฟันน้ำนมจะได้อยู่คู่กับลูกไปนานๆค่ะ
โดย ผศ.ทพญ. อาวีพรรณ โกวิทย์สมบูรณ์ (หมอโบว์)
แชร์บทความ – เพราะการแบ่งปันคือความห่วงใย
สอบถามนัดหมาย – รักษารากฟันน้ำนมในเด็ก
กรณีมีคำถามเพิ่มเติม ตรวจสอบค่าบริการทันตกรรม หรือต้องการนัดหมายกับคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านนี้เลยนะคะ ยินดีให้บริการค่ะ