หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “อาการฟันโยก”
ฟันโยก เป็นอีกหนึ่งปัญหาเกี่ยวกับเหงือกและฟันที่พบได้บ่อย ซึ่งหากเกิดในวัยเด็กนั้นอาจหมายถึงการที่ฟันน้ำนมกำลังจะหลุด แต่หากเกิดปัญหาฟันโยกในผู้ใหญ่อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ โดยในบทความนี้เราจะพาคุณมาเรียนรู้ถึงสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการฟันโยก พร้อมวิธีรับมือ และรักษาฟันโยกจากสาเหตุต่าง ๆ กัน
อาการฟันโยกเป็นอย่างไร ?
อาการฟันโยก หมายถึง การโยกคลอนหรือเคลื่อนที่ของฟันที่บ่งบอกว่า เหงือกนั้นไม่สามารถยึดกับฟันได้ดังเดิม สามารถสังเกตได้หลายวิธี เช่น
- การรู้สึกได้ว่าฟันมีการขยับ หรือโยกเมื่อสัมผัสด้วยนิ้ว ลิ้น หรือเมื่อเคี้ยวอาหาร
- เมื่อรู้สึกถึงช่องว่างระหว่างฟันที่กว้างขึ้น
- การสังเกตเห็นว่าเหงือกมีการอักเสบ บวม แดง หรือมีเลือดออก
- การสังเกตเห็นได้ด้วยตาว่าฟันดูเอียง หรือเบี้ยว
- การที่ฟันไม่สบกันดังเดิมเมื่อเคี้ยวอาหาร
- การเกิดเสียงที่ผิดปกติเมื่อกัดหรือเคี้ยวอาหาร
อันตรายของปัญหาฟันโยกในผู้ใหญ่
ผู้ใหญ่ที่มีฟันแท้ขึ้นจนครบแล้ว หากเกิดอาการฟันโยกและไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น การสูญเสียฟัน ปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ เช่น โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์ รวมถึงยังทำให้บดเคี้ยวอาหารลำบากกว่าปกติ และอาจส่งผลต่อการออกเสียงด้วย ซึ่งอาจทำให้เสียบุคลิกภาพ เป็นปัญหาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพบางอาชีพด้วยเช่นกัน
สาเหตุของอาการฟันโยกในผู้ใหญ่ และแนวทางการรักษา
สาเหตุของอาการฟันโยกในผู้ใหญ่นั้นมีหลากหลายสาเหตุด้วยกัน และแนวทางการรักษาอาการฟันโยกที่เกิดจากแต่ละสาเหตุก็จะแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน มาดูเลยว่าปัญหาฟันโยกอาจเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
1. อุบัติเหตุ
การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บบริเวณปาก หรือใบหน้า เช่น หกล้ม อุบัติเหตุจากการใช้รถ ใช้ถนน หรือการถูกกระแทกอย่างรุนแรง อาจทำให้ฟันโยกได้ ซึ่งทันตแพทย์จะต้องประเมินความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก่อนรักษา โดยอาจต้องใช้วิธีการจัดฟันรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ฟันกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม หรือหากมีอาการโยกรุนแรงมากก็อาจต้องถอนฟันซี่ที่โยกนั้น
2. โรคเหงือก หรือโรคปริทันต์
โรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ฟันโยกได้ เนื่องจากเหงือกจะมีอาการบวมแดง และไม่สามารถยึดรากฟันได้ดีดังเดิม ทันตแพทย์จะรักษาอาการฟันโยกจากโรคเหงือกนี้ด้วยวิธีรักษาโรคเหงือก ซึ่งอาจเริ่มโดยการขูดหินปูนเพื่อกำจัดคราบพลัคและหินปูนออกจากบริเวณ แล้วรักษาด้วยการใช้ยา และการผ่าตัดเพื่อทำความสะอาดบริเวณเหงือก หรือการผ่าตัดใส่รากเทียมทดแทนรากฟันเดิมที่เสียหาย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
3. พฤติกรรมการกัดฟัน
อีกหนึ่งสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการฟันโยกในผู้ใหญ่ก็คือ พฤติกรรมการกัดฟันขณะนอนหลับ หรือเล่นกีฬาจะทำให้เกิดแรงกดที่ฟันและรากฟัน ทำให้ฟันขยับหรือโยกได้ ซึ่งในกรณีที่ฟันไม่ได้โยกอย่างรุนแรงก็อาจใช้อุปกรณ์ป้องกันฟัน อย่างเช่นฟันยางครอบฟันขณะนอนหลับหรือเล่นกีฬาได้ แต่หากมีการโยกรุนแรง อาจต้องรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของทันตแพทย์ เช่น การจัดฟัน การถอนฟันซี่นั้น ๆ แล้วทำรากเทียมทดแทน
4. ฟันคุด
ฟันคุด ถือเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดฟันโยกได้ เพราะเมื่อฟันคุดไปเบียดหรือกดทับรากฟันข้างเคียง ก็อาจทำให้รากฟันซี่นั้น ๆ อ่อนแอและเกิดการโยก รวมถึงอาจทำให้อักเสบและติดเชื้อได้ด้วย ซึ่งทันตแพทย์จะรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อนำฟันคุดนั้น ๆ ออกไป แล้วใช้วิธีรักษาตามอาการและความรุนแรงหากฟันยังคงโยกอยู่
ควรทำอย่างไรหากเกิดอาการฟันโยก ?
- ไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม
- ดูแลสุขภาพและความสะอาดของช่องปากให้ดี ด้วยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และทำความสะอาดซอกฟันด้วยไหมขัดฟัน
- เลี่ยงการเคี้ยวอาหารที่แข็งและเหนียว
- เลี่ยงพฤติกรรมการกัดฟันขณะนอนหลับหรือเล่นกีฬา
หากมีอาการฟันโยก อย่าชะล่าใจ ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม เลือกคลินิกทันตกรรม SmileDC ที่ให้บริการทันตกรรมอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคเหงือก การจัดฟัน การผ่าตัดฟันคุด และบริการเกี่ยวกับทันตกรรมอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือจองคิวนัดหมายล่วงหน้าได้ที่ โทร. 096-942-0057
ข้อมูลอ้างอิง:
- Why is my tooth loose, and how do I treat it?. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.medicalnewstoday.com/articles/322028
- How to treat a loose tooth in adults. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.implantdentist.co.nz/news/how-to-treat-a-loose-tooth-in-adults.html
- Loose Teeth in Adults: What You Should Know. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 จาก https://www.healthline.com/health/loose-tooth