ครอบฟันน้ำนม เป็นการรักษาทั่วไปสําหรับเด็กที่มีฟันน้ำนมผุอย่างรุนแรงหรือสูญเสียเนื้อฟันไปมากจากอุบัติเหตุ เช่น การหกล้มฟันกระแทกและแตกหักเสียหาย หรือได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจนเนื้อฟันเปลี่ยนเป็นสีดำ ซึ่งการครอบฟันน้ำนมนี้มีประสิทธิภาพสูงในการช่วยฟื้นฟูโครงสร้างและการทํางานของฟันที่เสียหายของเด็กๆให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ หรือมีความสวยงามเหมือนกับเนื้อฟันจริงอีกครั้ง แต่ก็อาจจะไม่ใช่ตัวเลือกเดียวเสมอไปสำหรับการรักษาฟันของเด็กๆ
ในบางกรณีการรักษาทางเลือกอื่นอาจจะมีความเหมาะสมกว่าซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละเคส ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่านอกจากการรักษาด้วยการทำครอบฟันเด็กแล้ว ยังมีทางเลือกอื่นๆสำหรับการรักษาทางทันตกรรมเด็กอีกหรือไม่ รวมถึงข้อดีและข้อจำกัดของแต่ละทางเลือก มาติดตามอ่านไปพร้อมๆกันได้เลยค่ะ
การอุดฟันน้ำนม: การอุดฟันเป็นทางเลือกที่พบบ่อยที่สุดสําหรับทางเลือกทดแทนการครอบฟันเด็ก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นทางเลือกที่ใช้แทนการครอบฟันน้ำนมในเด็กได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้จะต้องขึ้นลักษณะของรอยผุและดุลยพินิจของคุณหมอฟันเด็กประกอบ วัสดุอุดฟันน้ำนมทําจากเรซินคอมโพสิตหรืออะมัลกัม และสามารถใช้ซ่อมแซมรอยผุหรือรอยแตกในฟันได้
ข้อดี: กระบวนการรักษาไม่ซับซ้อน และใช้เวลาไม่นานในการรักษา และมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก
ข้อจำกัด: ไม่สามารถใช้ฟันน้ำนมที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปมากๆได้ เพราะวัสดุอุดฟันจะไม่มีพื้นที่ในการยึดเกาะเพียงพอ ทำให้วัสดุอาจจะหลุดออกมาได้ง่ายเมื่อผ่านการใช้งาน เช่น ใช้ฟันกัดของแข็ง เป็นต้น นอกจากนี้ความแข็งแรงและความคงทนของวัสดุที่ใช้ในการอุดฟันก็จะไม่แข็งแรงเท่ากับวัสดุครอบฟันน้ำนมอีกด้วย
การรักษารากฟันน้ำนมร่วมกับการอุดฟันน้ำนม: ในบางกรณีเมื่อความเสียหายต่อฟันของเด็กมีการผุลุกลามจนถึงโพรงประสาทฟัน จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องการทำการรักษารากฟันน้ำนมเพื่อกําจัดส่วนที่เสียหายหรือติดเชื้อของฟันออกก่อน จากนั้นจึงทำการอุดฟันน้ำนมด้วยวัสดุอุดฟันชนิดพิเศษ
ข้อดี: สามารถช่วยเก็บฟันน้ำนมที่มีการผุลุกลามถึงโพรงประสาทฟันไว้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องถอนฟันน้ำนมออก
ข้อจำกัด: เช่นเดียวกับการอุดฟันน้ำนม คือไม่สามารถใช้กับฟันที่มีการสูญเสียเนื้อฟันไปมากได้ เช่น ฟันน้ำนมที่ผุจนเหลือแต่ตอ เพราะจะไม่มีพื้นที่สำหรับวัสดุอุดฟันในการยึดเกาะเพียงพอ ทำให้วัสดุอุดฟันจะหลุดออกได้ง่ายเมื่อผ่านการใช้งาน
การถอนฟันน้ำนม: ในบางกรณีเมื่อฟันของเด็กเสียหายหรือผุเกินกว่าที่จะสามารถทำการรักษาด้วยการครอบฟันน้ำนมเพื่อเก็บฟันไว้ได้ หรือในกรณีที่ฟันน้ำนมถึงเวลาที่จะต้องหลุดออกไปแล้ว เช่น เด็กที่มีอายุประมาณ 6 ขวบที่ฟันหน้าแท้กำลังเริ่มขึ้น การถอนฟันน้ำนมอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะกว่าการทำครอบฟันเด็ก เป็นต้น
ข้อดี:สามารถหยุดความเสียหายหรือการอักเสบติดเชื้อต่อฟันน้ำนมซี่อื่นๆบริเวณรอบข้างได้ และมีค่าใช้จ่ายย่อมเยาเมื่อเทียบกับการทำครอบฟันเด็ก
ข้อจำกัด: อาจจำเป็นต้องใส่เครื่องมือกันฟันล้ม (Space Maintainer) เพื่อช่วยป้องกันฟันน้ำนมซี่ข้างเคียงล้มลงมาในบริเวณฟันน้ำนมที่ถูกถอนออกไปก่อนถึงวัยที่เหมาะสม
บทสรุป
สรุปได้ว่า ทางเลือกของการรักษาด้วยการครอบฟันน้ำนม เป็นตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสําหรับเด็กที่มีฟันผุหรือความเสียหายอย่างรุนแรง แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลือกเดียวเสมอไป ทางเลือกอื่นๆสำหรับการทำการรักษาทางทันตกรรมเด็ก เช่น การอุดฟันน้ำนม การรักษารากฟันน้ำนมร่วมกับการอุดฟันน้ำนม หรือแม้กระทั่งการถอนฟันน้ำนม อาจจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ทั้งนี้จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละเคส ขึ้นอยู่ดุลยพินิจของทันตแพทย์เด็ก โดยทั่วไปแล้วคุณหมอฟันเด็กจะสามารถช่วยประเมินและแนะนําทางเลือกการรักษาที่เหมาะสมที่สุดของเด็กแต่ละคนได้ แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องพิจารณาถึงความพร้อมของคุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองประกอบการตัดสินใจเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
แชร์บทความนี้
เพราะการแบ่งปันคือความห่วงใยที่เรามีให้กัน…(เลือกแชร์บทความให้เพื่อนได้โดยกดปุ่มด้านล่างนี้เลยค่ะ)
บทความอื่นที่เกี่ยวข้องกับครอบฟันน้ำนม
No post found!