ฟันน้ำนมผุ คืออะไร เด็กมีฟันผุ รักษาอย่างไร

ฟันน้ำนมผุ เกิดจากอะไร? เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ รักษาอย่างไร?

หน้าแรก » บทความด้านทันตกรรม » ฟันน้ำนมผุ เกิดจากอะไร? เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ รักษาอย่างไร?

ฟันน้ำนมผุ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง, พฤติกรรมการกินขนมหรือของหวานบ่อย หรืออาจเกิดจากเนื้อฟันน้ำนมเดิมที่ไม่ค่อยแข็งแรง เป็นต้น

การรักษาฟันน้ำนมที่ผุ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับการผุของฟันน้ำนมซี่นั้นๆ เช่น การอุดฟัน, การครอบฟัน ในกรณีที่ยังผุไม่ถึงโพรงประสาทฟัน หรืออาจรักษาโดยการรักษารากฟันร่วมกับการรักษารากฟัน หรือแม้กระทั่งการถอนฟันน้ำนมออก ในกรณีที่รอยผุลุกลามมากแล้วจนไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นๆไว้ได้ค่ะ

ซึ่งการรักษาฟันน้ำนมที่ผุ จะต้องรักษาผ่านหมอฟันเด็กเท่านั้น ดังนั้น ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเกี่ยวกับทุกรายละเอียดของการรักษาฟันน้ำนมที่ผุ ติดตามอ่านบทความด้านล่างได้เลยค่ะ

หัวข้อที่น่าสนใจ – ฟันน้ำนมผุ



ฟันน้ำนมผุ เกิดจากอะไร?

ฟันน้ำนมผุ (ในเด็ก) เกิดจากอะไร?
ฟันน้ำนมผุ (ในเด็ก) เกิดจากอะไร?

สาเหตุของการเกิดฟันผุในเด็ก มีได้หลากหลายกรณี เนื่องจากฟันผุ เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกัน ได้แก่

1. การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง

การแปรงฟันที่ไม่สะอาด หรือไม่ทั่วถึงทุกซี่ เป็นสาเหตุทำให้เศษอาหารและขนมยังคงตกค้างอยู่ในช่องปาก ซึ่งอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล จะถูกย่อยสลายโดยเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และเกิดเป็นกรดขึ้นมาทำลายผิวฟัน ทำให้ลูกฟันผุได้

รวมถึงบางบริเวณที่การแปรงฟันอย่างเดียว จะไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เช่น บริเวณซอกฟัน หรือด้านประชิดของฟัน ซึ่งต้องทำความสะอาดโดยการใช้ไหมขัดฟัน หากเด็กๆหรือผู้ปกครองไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ก็จะมีโอกาสทำให้ลูกฟันผุได้ค่ะ

สาเหตุของฟันน้ำนมผุ-แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึง
สาเหตุของฟันน้ำนมผุ – แปรงฟันได้ไม่ทั่วถึง

ในเด็กเล็ก ที่กล้ามเนื้อมัดเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ การปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง จะไม่สะอาดเพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องดูแลการแปรงฟันของเด็ก โดยการแปรงฟันให้ หรือตรวจความสะอาดจนเด็กอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะสามารถปล่อยให้เด็กแปรงฟันเองได้แบบสะอาดทั่วถึงค่ะ

2. การทานอาหาร หรือขนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมาก

อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล สามารถถูกแบคทีเรียในช่องปากย่อยสลาย และทำให้เกิดกรดออกมากัดกร่อนผิวฟัน และทำให้เกิดฟันผุได้ การที่เด็กบริโภคของหวานเป็นประจำ หรือทานขนมที่มีรสหวาน และมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่บ่อยๆ จะส่งผลทำให้เด็กมีฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่ทานของหวานค่ะ

สาเหตุของฟันน้ำนมผุ - ทานขนมที่มีน้ำตาลสูง
สาเหตุของฟันน้ำนมผุ – ทานขนมที่มีน้ำตาลสูง

อาหารบางประเภท โดยเฉพาะที่เหนียวติดฟัน จะส่งผลให้เกิดฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าอาหารที่ไม่ติดหนึบที่ผิวฟัน เนื่องจากอาหารที่เหนียว จะไม่สามารถถูกชะล้างออกจากผิวฟันด้วยน้ำลาย หรือการดื่มน้ำ ทำให้แบคทีเรียสามารถสร้างกรดออกมาย่อยสลายผิวฟันได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดฟันผุได้เร็วกว่าอาหารประเภทอื่นๆ ตัวอย่างอาหารหรือขนมที่เหนียวติดฟัน เช่น เยลลี่ กัมมี่ ทอฟฟี่แบบที่เคี้ยวหนึบ เป็นต้น

3. การได้รับฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ

ฟลูออไรด์ มีคุณสมบัติช่วยให้เนื้อฟันแข็งแรงขึ้น ทนทานต่อการย่อยสลายของกรดได้มากกว่าฟันที่ไม่ได้รับฟลูออไรด์ ดังนั้น พ่อแม่ควรเลือกยาสีฟันเด็กที่ผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm ให้ลูกใช้ เพื่อช่วยให้โครงสร้างฟันของเด็กแข็งแรง และทำให้ลูกฟันผุยากขึ้นค่ะ

การเคลือบฟลูออไรด์โดยหมอฟันเด็ก ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้เนื้อฟันโดยรวมของเด็กแข็งแรง ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จึงควรพาลูกมาพบทันตแพทย์ทุกๆ6เดือน หรือตามกำหนดที่ทันตแพทย์นัดหมาย เพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี

สาเหตุของฟันน้ำนมผุ - ได้รับฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ
สาเหตุของฟันน้ำนมผุ – ได้รับฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ

ในบางกรณี ที่เด็กมีโอกาสเกิดฟันน้ำนมผุมากๆ คุณหมอฟันเด็ก อาจจะมีการสั่งจ่ายฟลูออไรด์เม็ด หรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ให้เด็กๆใช้ แต่ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากทันตแพทย์เฉพาะทางเด็ก เพื่อความปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดผลเสียจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปค่ะ

4. เด็กที่มีเนื้อฟันไม่ดี

เด็กบางคน จะมีโครงสร้างฟันที่ไม่แข็งแรง เช่น มีชั้นเคลือบฟันที่บาง หรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งเด็กๆกลุ่มดังกล่าวนี้ จะมีแนวโน้มเป็นเด็กฟันน้ำนมผุ ง่ายกว่าเด็กที่มีเนื้อฟันปกติ

สาเหตุของฟันน้ำนมผุ - มีเนื้อฟันไม่ดี โครงสร้างฟันไม่แข็งแรง
สาเหตุของฟันน้ำนมผุ – มีเนื้อฟันไม่ดี โครงสร้างฟันไม่แข็งแรง

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกมีลักษณะฟันแบบดังกล่าว อาจต้องปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อเพิ่มกระบวนการทางทันตกรรมป้องกัน จะได้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุได้ค่ะ

5. มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจำนวนมาก

โรคฟันผุ นับเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ สามารถติดต่อระหว่างกันได้ทางน้ำลาย พบว่า การที่แม่มีเชื้อที่ก่อโรคฟันผุในปากมากๆ (เช่น มีฟันผุที่ไม่ได้อุดหลายซี่) จะส่งต่อเชื้อดังกล่าวให้ลูกผ่านทางการจูบ หรือการเป่าอาหารก่อนให้ลูกรับประทาน

สาเหตุของฟันน้ำนมผุ - มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจำนวนมาก
สาเหตุของฟันน้ำนมผุ – มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจำนวนมาก

ดังนั้น เพื่อช่วยให้ลูกไม่เป็นเด็กฟันน้ำนมผุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรได้รับการทำความสะอาดช่องปาก และอุดฟันให้เรียบร้อยก่อนคลอดลูก รวมถึงการเลือกผู้ดูแลเด็ก (เช่น พี่เลี้ยง) ก็ควรจะพามารับบริการทำฟัน อุดฟัน ทำความสะอาดฟัน ก่อนที่จะเลี้ยงเด็ก เพื่อลดโอกาสการส่งผ่านเชื้อไปยังเด็กค่ะ

ฟันน้ำนมผุ มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันอย่างไร?

เด็กฟันน้ำนมผุ มีได้หลายระดับ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความลึกในการผุของฟันน้ำนม โดยจะสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 ระยะ คือ

1. ระยะเริ่มต้น – ฟันผุบริเวณชั้นเคลือบฟัน (Enamel)

ฟันน้ำนมที่ผุระดับนี้ จะเกิดขึ้นแค่บริเวณผิวด้านนอกของฟัน อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวขุ่นบริเวณตัวฟัน หรือเป็นเส้นๆสีดำกหรือสีน้ำตาล บริเวณหลุมและร่องฟันที่ลึก

การผุระดับชั้นเคลือบฟัน จะไม่ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันใดๆ เนื่องจากบริเวณชั้นเคลือบฟัน ยังเป็นระดับที่ตื้นอยู่มากค่ะ

2. ระยะปานกลาง – รอยผุกินเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin)

ระดับต่อจากชั้นเคลือบฟัน คือบริเวณเนื้อฟัน ซึ่งนับเป็นระดับความลึกที่เพิ่มขึ้น ฟันผุระดับนี้ จะสังเกตได้จากสีจะดำกว้าง และเข้มขึ้น ในบางกรณี รอยผุอาจมีสีน้ำตาล หรือเหลืองๆได้

ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการเสียวฟัน เมื่อทานน้ำเย็น หรืออาหารที่มีรสหวาน แต่จะยังไม่ถึงกับปวดฟัน เนื่องจากบริเวณเนื้อฟัน จะมีท่อเนื้อฟันเล็กๆแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการกระตุ้นด้วยอาหารเย็น หรืออาหารหวาน จะส่งผลให้เกิดอาการแปล๊บ หรือที่เรียกกันว่าเสียวฟันนั่นเองค่ะ

3. ระยะลุกลาม – ผุลึกเกือบถึงชั้นโพรงประสาทฟัน

โครงสร้างของฟัน คือเนื้อเยื่อแข็ง ที่ล้อมรอบเส้นเลือดและเส้นประสาทในโพรงรากฟันเอาไว้ หากรอยผุกินลึกเข้าไปจนเกือบจะทะลุถึงโพรงประสาทฟัน จะส่งผลทำให้เด็กๆมีอาการปวดฟันเวลาเศษอาหารเข้าไปติด แต่อาการจะดีขึ้น เมื่อนำเศษอาหารออก และถ้าไม่มีเศษอาหารไปกระตุ้น ก็จะไม่มีอาการใดๆ รวมถึงไม่มีการปวดฟันตอนกลางคืน และไม่มีว่า อยู่ๆก็ปวดฟันขึ้นมาเอง

ลักษณะของฟันน้ำนมผุที่กินลึกเข้าไปขนาดนี้ มักจะมาด้วยรอยสีดำขนาดใหญ่ กว้าง แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่รอยผุมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่กินลึกลงไป หรือบางคน อาจมาด้วยอาการฟันแตกหรือบิ่นออก เนื่องจากเนื้อฟันด้านบน กะเทาะออกไปเพราะโครงสร้างฟันที่ผุ มีความแข็งแรงลดลงมาก

การผุระดับนี้ อาจเกิดได้ทั้งบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน หรือด้านซอกฟันค่ะ

4. ระยะรุนแรง – ฟันน้ำนมผุลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน

เป็นระดับการผุที่ลึกและรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเส้นเลือดและเส้นประสาทในโพรงรากฟัน ส่งผลให้เด็กที่มีฟันน้ำนมผุระดับนี้ มีอาการปวดฟัน อาจปวดเมื่อเวลาเศษอาหารติด แต่พอเอาเศษอาหารออกแล้วก็ยังไม่หายปวด หรืออาจมีอาการปวดฟันขึ้นมาได้เอง แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ ปวดฟันตอนกลางคืน มีการตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงกลางดีก อาจมีตุ่มหนองขึ้นที่เหงือก หรือหนักกว่านั้น อาจมีการบวมบริเวณหน้าหรือคางร่วมด้วย

เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ รักษาอย่างไร?

การรักษาฟันกรณีสำหรับ เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ จะขึ้นอยู่กับระดับของการผุ โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้

1. ฟันน้ำนมผุ ในระยะเริ่มต้น

รักษาด้วยการเคลือบหลุมร่องฟัน – ใช้ในกรณีที่รอยผุลึกแค่ระดับชั้นเคลือบฟัน หรือรอยผุอยู่ตื้นมากๆ ทันตแพทย์เด็กอาจใช้วิธีนี้ในการหยุดยั้งฟันผุได้ เนื่องจากการเคลือบร่องฟัน จะช่วยไม่ให้อาหารเข้าไปเกาะติดบริเวณหลุมและร่องฟันที่ลึก ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ปริมาณน้อยมากบริเวณฟัน ไม่สามารถผลิตกรดมากัดเนื้อฟันเพิ่มได้อีก

บางกรณี ทันตแพทย์เด็ก อาจมีการกรอเนื้อฟันที่ผุออกในปริมาณน้อยๆ และใช้วัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน ปิดผนึกและทดแทนผิวฟันบริเวณดังกล่าวไปเลยค่ะ

วิธีการเคลือบหลุมร่องฟัน คือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆฟันซี่นั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อไม่ให้เศษอาหารและน้ำตาลเข้าไปฝังตัวที่บริเวณร่องและหลุมที่ทำความสะอาดได้ยาก ดังนั้น การเคลือบหลุมร่องฟัน อาจใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกฟันผุได้ด้วยนะคะ

2. ฟันน้ำนมผุ ระยะปานกลาง

รักษาด้วยการอุดฟัน – โดยทันตแพทย์จะกรอเอาเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วบูรณะทดแทนด้วยวัสดุอุดฟันน้ำนม ที่มีอยู่หลายประเภท โดยหมอฟันเด็กจะพิจารณาตามความเหมาะสม ว่าฟันซี่นั้นๆ ควรบูรณะด้วยวัสดุประเภทใด

โดยวัสดุอุดฟันน้ำนม สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆคือ อมัลกัมสีเงิน, คอมโพสิตเรซิน และกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ค่ะ ซึ่งวัสดุแต่ละประเภท จะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป ทันตแพทย์ จะเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าควรเลือกใช้วัสดุชนิดไหน ในการจัการฟันผุค่ะ

บางกรณี หากรอยผุอยู่ลึกมากๆ อาจทำให้เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ เกิดอาการเสียวฟันหลังอุดได้ ทันตแพทย์เด็ก อาจพิจารณาใช้วัสดุรองพื้น ที่มีคุณสมบัติในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ เพื่อลดอาการแทรกซ้อนภายหลังการอุดฟันซี่ที่ลึกค่ะ

3. ฟันน้ำนมผุ ระยะลุกลาม

รักษาด้วยการครอบฟันน้ำนมหรือครอบฟันเด็ก – โดยการครอบฟันน้ำนมนี้จะใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุกว้างเกินกว่าจะบูรณะด้วยการอุดฟัน ซึ่งการครอบฟัน จะมีด้วยกัน 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ครอบฟันสีเงิน กับครอบฟันสีขาว

ในกรณีของการผุที่ฟันหลัง ทันตแพทย์เด็กมักจะใช้ครอบฟันสีเงินในการรักษา เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทาน และทำได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ถ้าหากเป็นการผุบริเวณฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม คุณหมอฟันเด็ก อาจเลือกใช้ครอบฟันสีขาว เพื่อเพิ่มความมั่นใจในรอยยิ้ม และการใช้ชีวิตของเด็กๆค่ะ

4. ฟันน้ำนมผุ ระยะรุนแรง

รักษาด้วยรักษารากฟันน้ำนมร่วมกับครอบฟันน้ำนม – หากฟันน้ำนมผุเข้าไปถึงบริเวณโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะต้องทำการรักษารากฟันเพื่อกำจัดการติดเชื้อที่ลุกลามเข้าไปถึงส่วนรากฟันเสียก่อน เนื่องจากหากอุดฟันหรือครอบฟันเลย โดยไม่ได้รักษารากฟัน จะเป็นการขังเชื้อเอาไว้ภายในโพรงรากฟัน ส่งผลให้เด็กมีอาการปวดฟัน และอาจเกิดการบวมได้

ภายหลังการรักษารากฟันเรียบร้อย ทันตแพทย์เด็กมักจะแนะนำให้ทำการครอบฟันต่อ เพราะเนื้อฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว มักจะมีลักษณะเปราะ ซึ่งถ้าไม่ได้ครอบฟันไป มักจะแตกหักได้ง่ายจากการใช้งาน และถ้าหากฟันแตกขึ้นมา ก็จะต้องถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆทิ้งค่ะ

5. ฟันน้ำนมผุ ระยะสุดท้าย

รักษาด้วยการถอนฟันน้ำนม – เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ ลุกลามไปมากเกินกว่าจะรักษาเอาไว้ได้ ทันตแพทย์เด็กอาจจะต้องถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆออก เพื่อเป็นการรักษาอาการปวดฟันในเด็ก

ลักษณะของฟันน้ำนมผุ ที่อาจจะต้องถอน มีดังนี้

  • อาจจะมาด้วยการผุกว้างมากๆ หรือผุแตกลงไปใต้เหงือก จนไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันได้
  • มีตุ่มหนองที่เหงือก หรือมีลักษณะบวมที่ใบหน้า
  • มีการบวมของอวัยวะข้างเคียง เช่น คางบวม หน้าบวม หรือบวมไปยังใต้ตา
  • ฟันน้ำนมที่ผุ และจะมีอายุอยู่ในช่องปากอีกไม่ถึง 6 เดือน

บทสรุปเกี่ยวกับฟันน้ำนมผุ

ฟันน้ำนมมีหน้าที่สำคัญในช่องปากมากมายหลายประการ ซึ่งหากฟันน้ำนมผุ อาจจะทำให้ต้องสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกฟันผุนั้น สามารถป้องกันได้ โดยการทำความสะอาดฟันให้ดี ลดการทานขนมหวานหรือทานจุบจิบ รวมถึงมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน เพื่อรับการรักษาทางทันตกรรมป้องกัน หรือรักษาฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ฟันน้ำนมอยู่ในช่องปากกับลูกไปจนถึงเวลาที่เหมาะสมและหลุดไปเองค่ะ

คำถามน่ารู้เกี่ยวกับฟันน้ำนมผุ

ฟันน้ำนมผุ ไม่ต้องรักษาได้มั้ย?

คำตอบคือ ไม่ควรค่ะ เพราะจะทำให้ระดับของการผุลุกลามไปไกล จนลูกเกิดอาการปวดฟัน และอาจต้องสูยเสียฟันไปก่อนกำหนด
ดังนั้น หากเด็กฟันน้ำนมผุ ควรพามารักษากับทันตแพทย์เด็กโดยด่วนค่ะ

รักษาฟันน้ำนมผุด้วยตัวเองได้มั้ย?

ฟันน้ำนมผุ เป็นโรคที่ต้องรักษาโดยทันตแพทย์เท่านั้นค่ะ ผู้ปกครองและพ่อแม่ ไม่สามารถรักษาฟันน้ำนมที่ผุได้ค่ะ แต่อาจช่วยป้องกันไม่ให้ลูกฟันผุด้วยการทำความสะอาดฟันลูกให้ดี และช่วยลูกเลือกอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุได้ค่ะ

ลูกฟันผุแต่ไม่ปวด ต้องรักษายังไง?

อาจต้องมาปรึกษากับทันตแพทย์ เพื่อดูว่าระดับการผุอยู่แค่ไหนค่ะ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า อาจต้องอุดฟัน หรืออาจต้องครอบฟัน ทั้งนี้ ขึ้นกับขนาดและความลึกของรอยผุในเด็กค่ะ

= = = = = = = = = = = = = = = =

กลับสู่สารบัญ


สอบถามนัดหมาย

กรณีมีคำถามเพิ่มเติม ตรวจสอบค่าบริการทันตกรรม หรือต้องการนัดหมายกับคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านนี้เลยนะคะ ยินดีให้บริการค่ะ

โทร 096-942-0057 คลินิกทันตกรรม SmileDC
ไลน์แชทหาเรา คลินิกทันตกรรม SmileDC

บทความที่เกี่ยวข้อง – ฟันน้ำนมผุ เด็กมีฟันผุน้ำนมผุ รักษาอย่างไร?

ลิ้นเป็นฝ้าเกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

รู้จักสาเหตุ และวิธีการป้องกันอาการลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก

ลิ้นเป็นฝ้าในเด็ก มักเกิดขึ้นจากการละเลยการรักษาความสะอาดช่องปาก ฟัน และลิ้นอย่างถูกวิธี มาดูกันเลยว่าจะป้องกันได้อย่างไร และฝ้าบนลิ้นแบบไหนที่ควรไปพบแพทย์
อ่านเพิ่มเติม
วิธีแปรงฟันเด็กให้สะอาด

เทคนิคดี ๆ ที่พ่อแม่ควรรู้ สอนเด็กแปรงฟันอย่างไรให้สะอาด

ฟันเป็นอวัยวะที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร จึงมีความสำคัญต่อเด็กวัยกำลังโต พ่อแม่ควรสอนเด็กแปรงฟันให้สะอาด เพื่อสุขภาพช่องปากที่ดี ซึ่งเรามีวิธีมาบอกกัน
อ่านเพิ่มเติม
การจัดฟันน้ำนมในเด็ก สามารถเริ่มทำการ จัดฟันเด็ก ได้เมื่ออายุเท่าไหร่?

จัดฟันเด็ก เริ่มทำได้เมื่อไหร่ พร้อมเหตุผลทำไมต้องจัดฟันน้ำนม?

จัดฟันน้ำนม เป็นหนึ่งในคำถามที่มีคุณพ่อคุณแม่สนใจสอบถามเข้ามามาก ซึ่งมีหลายๆคำถามเกี่ยวกับการจัดฟันน้ำนมในเด็กที่น่าสนใจ เช่น เด็กๆสามารถจะเริ่มจัดฟันได้ตั้งแต่อายุเท่าไหร่? ลูกมีฟันซ้อนเกหรือฟันล้มเอียงสามารถจัดฟันเด็กช่วยได้มั๊ย? ควรรอให้ฟันน้ำนมหลุดออกหมดและมีฟันแท้ขึ้นครบก่อนค่อยจัดฟันเด็กหรือไม่? การจัดฟันน้ำนมในเด็กช่วยแก้ปัญหาฟันแบบไหนได้บ้าง?…
อ่านเพิ่มเติม
ครอบฟันเด็ก ช่วยหยุดการเกิดฟันน้ำนมผุในเด็กได้อย่างไร?

ครอบฟันเด็ก ช่วยหยุดฟันน้ำนมผุในเด็กได้อย่างไร?

ครอบฟันเด็กกับบทบาทที่ช่วยหยุดการเกิดฟันน้ำนมผุในเด็ก – ฟันน้ำนมผุหรือที่เรียกกันทั่วไปว่าฟันผุเป็นหนึ่งในโรคที่พบบ่อยที่สุดในวัยเด็ก เด็กบางคนจะไวต่อปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดฟันผุได้ง่าย สําหรับเด็กๆเหล่านี้การเลือกทำการรักษาด้วยการทำครอบฟันเด็กโดยเฉพาะสำหรับ…
อ่านเพิ่มเติม