ฟันตกกระ หรือที่รู้จักกันในภาษาอังกฤษว่า Dental Fluorosis เป็นภาวะของฟันที่มีลักษณะผิดปกติไป จากเนื้อฟันที่ควรจะเป็นสีขาวอมเหลืองอ่อนๆ ใส มันวาว และแข็ง แต่ฟันตกกระ จะมีลักษณะของเนื้อฟันที่เป็นสีขาวขุ่น ไปจนถึงสีเหลืองจัด และอาจเป็นสีน้ำตาลได้ ในรายที่มีความรุนแรงของฟันตกกระมากๆ
สารบัญ
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจด้านล่างนี้ค่ะ
สาเหตุของการเกิดฟันตกกระ
ฟันตกกระ คือ ภาวะผิดปกติของฟัน ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินปกติในช่วงระยะที่มีการสร้างเนื้อฟัน โดยได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งฟลูออไรด์ที่ได้รับผ่านทางระบบย่อยอาหาร จะถูกดูดซึมเข้าไปขัดขวางกระบวนการสร้างชั้นเคลือบฟัน (enamel) ที่ปกติจะมีความแข็ง เงา มันวาว และมีสีขาวใส ให้กลายเป็นชั้นเคลือบฟันที่มีรูพรุน และมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ รวมถึง จะทำให้ชั้นเคลือบฟันมีปัญหาในการสะท้อนแสง ทำให้มองเห็นเป็นผิวฟันที่มีสีขาวขุ่น หรือเป็นสีเหลือง ไปจนถึงน้ำตาล หากมีระดับความรุนแรงมากๆ อีกทั้งผิวเคลือบฟันในบริเวณที่มีฟันตกกระ จะมีโอกาสแตกหักได้ง่ายกว่าในบริเวณเคลือบฟันปกติ ในบางรายอาจพบการสูญเสียผิวเคลือบฟันไปบางส่วน เกิดเป็นผิวฟันที่กะเทาะแตกหัก หรือเป็นรูพรุน รายที่มีความรุนแรงมาก อาจสูญเสียผิวเคลือบฟันไปทั้งหมด เหลือแต่เนื้อฟันส่วนเดนทีน (dentine) ที่ไม่แข็งแรงเพียงพอจะรับแรงบดเคี้ยวได้
ฟลูออไรด์ที่ได้รับเหล่านี้ อาจจะมาจากกรณีของผู้อยู่อาศัยในเขตที่มีฟลูออไรด์สูง ในแหล่งน้ำที่ใช้เพื่อการบริโภค โดยในประเทศไทย พบมีหลายพื้นที่ในเขตภาคตะวันตก ที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำสูงโดยธรรมชาติ เนื่องมาจากลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าว เป็นจุดที่มีสายแร่ฟลูออไรด์อยู่ ทำให้ฝน และน้ำจากบนพื้นดิน ที่ไหลผ่านชั้นดินและชั้นหินบริเวณดังกล่าว เกิดดูดซับ และละลายแร่ธาตุต่างๆ รวมถึงฟลูออไรด์ จากนั้นน้ำที่ผ่านการละลายแร่ธาตุเหล่านี้ จะลงไปสะสมและขังตัวกลายเป็นแหล่งน้ำใต้ดิน บางส่วนจะซึมกลับขึ้นมาเป็นน้ำผิวดิน น้ำบางส่วนไหลไปเกิดเป็นน้ำแร่ธรรมชาติ และน้ำพุร้อน ดังนั้น ในพื้นที่ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย จึงพบแหล่งน้ำที่มีฟลูออไรด์อยู่ในปริมาณสูง ทำให้คนในพื้นที่ดังกล่าว มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดฟันตกกระได้
อีกสาเหตุหนึ่งของการพบฟันตกกระ ในเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเขตที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำสูง หรือไม่ได้มีการดื่มน้ำที่มาจากแหล่งธรรมชาติเหล่านั้น คือ การบริโภคฟลูออไรด์ในรูปแบบอื่นๆ เป็นปริมาณมาก ในระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน โดยช่วงอายุที่ได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปนี้ อยู่ในช่วงที่มีการสร้างหน่อฟันแท้พอดี คือ อายุประมาณ 0-8 ปี โดยช่วงอายุที่จะมีการสร้างผิวเคลือบฟันของฟันหน้า คือประมาณ 0-4 ปี ส่วนในฟันหลัง จะเป็นอายุช่วง 3-8 ปี ซึ่งรูปแบบของฟลูออไรด์ที่ได้รับในปริมาณมากนี้ มีตั้งแต่ เด็กที่กลืนหรือกินยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบเข้าไป หรือเด็กที่รับประทานฟลูออไรด์เสริมชนิดเม็ดในปริมาณมาก โดยไม่ได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กที่มีประวัติกลืนน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนประกอบของฟลูออไรด์เข้าไป เหล่านี้ ทำให้เกิดภาวะฟันตกกระได้ทั้งสิ้น
= = = = = = = = = = = = = = = =
ลักษณะของฟันตกกระ
ลักษณะที่แสดงออกทางคลินิกของฟันตกกระ มีได้หลายแบบ ขึ้นกับระดับความรุนแรงของรอยโรค โดยในกรณีที่เป็นฟันตกกระน้อยๆ อาจพบว่าผิวเคลือบฟันมีลักษณะขุ่นขาว หรือมีสีขาวเข้มแตกต่างกับเนื้อฟันปกติเพียงเล็กน้อย มีผิวของฟันเรียบเนียนเหมือนฟันปกติ และเป็นแค่จุดหรือบริเวณเล็กๆ บางตำแหน่งของผิวฟันเท่านั้น
ในรายที่มีความรุนแรงมากขึ้น อาจพบการเปลี่ยนสีของเคลือบฟันเป็นสีเหลืองเข้ม รวมทั้งผิวเคลือบฟันอาจมีการกะเทาะ แตกหัก เป็นรูพรุนได้ ซึ่งรอยผิดปกติดังกล่าว อาจกินพื้นที่ไม่มาก หรือเกิดขึ้นเกือบทั้งผิวหน้าฟันก็เป็นได้
ส่วนในรายที่มีความรุนแรงของฟันตกกระ มากๆ อาจพบผิวเคลือบฟันกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม และมักพบร่วมกับการที่ชั้นเคลือบฟันแตกหัก กลายเป็นผิวขรุขระ ในบางรายที่พบมีความรุนแรงมากๆ อาจไม่พบมีสีน้ำตาลที่ตัวฟัน เนื่องจากบริเวณผิวเคลือบฟันที่มีสีน้ำตาลนั้นได้แตกหักออกไปจนหมด คงเหลือแต่ส่วนของเนื้อฟัน (Dentine) ที่มีสีเหลือง และมีลักษณะนิ่มกว่าผิวเคลือบฟัน คงอยุ่เท่านั้น
= = = = = = = = = = = = = = = =
ฟันตกกระ รักษายังไง
ภาวะฟันตกกระ คือ การที่เนื้อฟันเกิดความผิดปกติขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสวยงาม ความมั่นใจ และบุคลิกภาพของผู้ที่เป็น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับฟันตกกระ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดฟันตกกระขึ้น
การป้องกันไม่ให้เกิดฟันตกกระ
วิธีการที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดฟันตกกระ คือ การควบคุมไม่ให้เด็กในวัย 0-8 ปี ได้รับฟลูออไรด์มากเกินระดับที่ปลอดภัย โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการกำหนดค่ามาตรฐานปริมาณฟลูออไรด์สำหรับน้ำประปาดื่มได้ คือต้องมีความเข้มข้นของฟลูออไรด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัม ต่อน้ำ1ลิตร หรือ 0.7 ส่วนในล้านส่วน (0.7 ppm) สำหรับวิธีที่จะทราบได้ว่า น้ำประปาที่นำมาใช้ในการบริโภคในชีวิตประจำวันของเรา มีค่าความเข้มข้นของฟลูออไรด์อยู่ที่เท่าใด ก็สามารถนำตัวอย่างน้ำ ไปส่งตรวจหาปริมาณฟลูออไรด์ได้ที่ ศูนย์ห้องปฏิบัติการ กรมอนามัย หรือที่ สำนักทันตสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร หากในกรณีที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถส่งตัวอย่างน้ำเข้ารับการตรวจหาปริมาณฟลูออไรด์ได้ผ่านทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด
ในกรณีที่มีปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำประปาเกิน 0.7 ppm ซึ่งเป็นปริมาณที่หากได้รับในระยะยาว จะทำให้เกิดฟันตกกระ จะมีวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดฟันตกกระ โดยการเปลี่ยนแหล่งน้ำสำหรับบริโภค เช่น ใช้น้ำดื่มบรรจุขวด แทนการต้มน้ำประปาดื่ม หรือการเลือกใช้เครื่องกรองน้ำที่มีเทคโนโลยีกรองฟลูออไรด์ออกจากน้ำ เช่น การใช้เครื่องกรองที่มีระบบรีเวอร์สออสโมซิส (RO) เหล่านี้ จะสามารถป้องกันการเกิดฟันตกกระ จากการดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์สะสมอยู่ในปริมาณมากได้
ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงเกิดฟันตกกระ จากการกินหรือกลืนฟลูออไรด์จากแหล่งอื่นๆ เช่น จากยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ หรือจากยาเม็ดฟลูออไรด์ เหล่านี้ สามารถป้องกันได้โดย การให้ผู้ปกครองเป็นผู้บีบยาสีฟัน และแปรงฟันให้เด็กพร้อมกับเช็ดฟองออก รวมถึงควบคุมการทานยาเม็ดฟลูออไรด์ ไม่ให้เกินปริมาณที่กำหนดไว้ ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดฟันตกกระ ในเด็กได้
การรักษาฟันตกกระ
กรณีที่เกิดฟันตกกระขึ้นมาแล้ว การรักษาหรือแก้ไขให้เนื้อฟันกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการเกิดฟันตกกระ โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆของ ฟันตกกระ รักษายังไง ได้ดังนี้
- กรณีที่ฟันตกกระไม่รุนแรง: เช่นผิวฟันมีสีขาวขุ่นเพียงเล็กน้อย ผิวฟันยังมีลักษณะเรียบเหมือนฟันปกติ ชั้นเคลือบฟันไม่มีการแตกหัก หรือบิ่นไป เช่นนี้ สามารถช่วยลดสีขาวขุ่นของฟันตกกระ ได้โดย 2 วิธี ดังต่อไปนี้ คือ
- ฟันตกกระ รักษา ได้โดยการทำ microabrasion หรือการขัดเอาผิวฟันส่วนบนที่มีลักษณะขุ่นขาวออกไป ร่วมกับการใช้สารที่ช่วยส่งเสริมการคืนกลับของแร่ธาตุเข้าสู่ผิวฟัน เช่น CPP-ACP ทาที่ผิวฟัน ซึ่งวิธีการในการขัดและทา อาจมีความแตกต่างกันบ้างในแต่ละคน แต่หลักการโดยรวมของการแก้ไข ฟันตกกระ รักษา โดยวิธีนี้คือการรีบนำสารที่เสริมแร่ธาตุเข้าไปในผิวฟันทันทีที่มีการเปิดผิวฟันออก โดยหมอฟันเด็กจะทาสารที่เสริมการคืนกลับแร่ธาตุลงบนผิวฟัน ทันทีที่ขัดผิวฟันส่วนบนๆออก และจะแนะนำให้กลับไปทาสารตัวดังกล่าวที่บ้านทุกวัน ภายหลังการแปรงฟันทันที และทิ้งให้ CPP-ACP ได้มีโอกาสสัมผัสกับผิวฟันโดยไม่มีอะไรมาชะล้างออกเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดการคืนกลับแร่ธาตุได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- การรักษาฟันตกกระ โดยการ ฟอกสีฟัน เพื่อปรับให้ผิวฟันส่วนที่เหลือขาวขึ้นจนใกล้เคียงกับสีของฟันส่วนที่มีการตกกระ วิธีนี้ อาจใช้ได้ผลในกรณีที่ฟันมีการตกกระไม่มาก และมีสีแตกต่างกับฟันข้างเคียงเพียงเล็กน้อย วิธีการรักษาฟันตกกระ โดยการ ฟอกสีฟัน นี้ เป็นวิธีที่ง่าย และสามารถเห็นผลในการรักษาได้ทันที แต่มีข้อจำกัด คือ อาจไม่สามารถทำการฟอกสีฟันในเด็กได้ เนื่องจากเด็กยังมีโพรงประสาทฟันที่ใหญ่ อาจทำให้เกิดการเสียวฟันได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่
- หากมีฟันตกกระในระดับที่รุนแรง: จนไม่สามารถรักษาได้โดยการทำ microabrasion หรือการฟอกสีฟัน เช่น ในกรณีที่มีการแตกหักของเคลือบฟันไปแล้ว ทันตแพทย์ อาจแก้ไขฟันตกกระ โดยการอุดฟันด้วยวัสดุที่มีสีเหมือนฟัน หรือในกรณีของฟันหน้า ที่ต้องการความสวยงาม อาจเลือกรักษาฟันตกกระ ด้วยวีเนียร์ หรือแผ่นเคลือบฟัน
- กรณีที่มีการสูญเสียชั้นเคลือบฟันออกไปในปริมาณมาก: จนเหลือแต่ชั้นเนื้อฟัน การรักษาจะต้องมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความแข็งแรงของเนื้อฟันส่วนที่เหลืออยู่ รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการเสียวฟัน จากการที่เนื้อฟันไม่มีชั้นเคลือบฟันที่แข็งแรงคอยปกป้องอีกด้วย ดังนั้น การรักษาฟันตกกระในกรณีเช่นนี้ คือการทำครอบฟัน เพื่อช่วยให้การบดเคี้ยวดีขึ้น และส่งเสริมเรื่องของความสวยงามเช่นกัน
= = = = = = = = = = = = = = = =
บทสรุปเกี่ยวกับ ฟันตกกระ
ฟันตกกระเกิดขึ้นมาจากการบริโภคฟลูออไรด์เกินปริมาณที่พอดี ในช่วงวัยเด็กที่มีการสร้างตัวฟัน การป้องกันไม่ให้เกิดฟันตกกระจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด แต่ในกรณีที่มีฟันตกกระเกิดขึ้นมาแล้ว การเข้ารับคำปรึกษาจากทันตแพทย์เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการรักษาฟันตกกระโดยการฟอกสีฟัน , การทำ microabrasion, การบูรณะฟัน, การทำวีเนียร์ หรือการครอบฟัน ต่างก็เป็นวิธีที่จะทำให้ฟันซี่ดังกล่าวกลับมามีความสวยงาม และใช้งานได้ตามปกติ
= = = = = = = = = = = = = = = =
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ ฟันตกกระ
การเคลือบฟลูออไรด์โดยความควบคุมของทันตแพทย์ จะเป็นการใช้ฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง เคลือบที่ผิวฟัน ประมาณปีละ2ครั้ง ซึ่งการเคลือบนี้ ทันตแพทย์จะกำหนดปริมาณของฟลูออไรด์ไม่ให้มากเกินระดับที่เหมาะสม รวมถึงไม่ทำให้มีการสะสมต่อเนื่องยาวนาน จึงไม่ทำให้เกิดฟันตกกระค่ะ
ส่วนมากแล้วฟันตกกระจะเกิดจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไประหว่างที่มีการสร้างเนื้อฟัน ซึ่งกระบวนการสร้างเนื้อฟันของฟันน้ำนมจะเกิดตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ และฟลูออไรด์ไม่สามารถผ่านรกเข้าไปสู่เด็กได้ หากมีพบคราบสีขาวขุ่นหรือสีดำในฟันน้ำนม ส่วนใหญ่จะเป็นรอยผุมากกว่าเป็นฟันตกกระค่ะ
ฟลูออไรด์ มีผลดีในการป้องกันฟันผุทั้งในฟันแท้และฟันน้ำนม หากผู้ปกครองแปรงฟันให้ลูกด้วยยาสีฟันฟลูออไรด์ ในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงอายุ และเช็ดฟองออก หรือให้เด็กบ้วนออก โดยไม่มีการกินหรือกลืนยาสีฟันลงไป จะไม่ทำให้เกิดฟันตกกระในฟันแท้แน่นอน กลับกัน ถ้าแปรงด้วยยาสีฟันที่ไม่มีฟลูออไรด์ จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุในเด็กค่ะ
= = = = = = = = = = = = = = = =
แชร์บทความ – เพราะการแบ่งปันคือความห่วงใย
บริการทันตกรรมเด็ก
นอกเหนือจากการให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกใช้ ยาสีฟันเด็ก ทาง SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ยังมีให้บริการทันตกรรมเด็ก ด้านอื่นๆ ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ตรวจสุขภาพฟันเด็ก
- ขูดหินปูน
- เคลือบฟลูออไรด์
- อุดฟันเด็ก
- ถอนฟันน้ำนม
- เคลือบหลุมร่องฟัน
- รักษารากฟันน้ำนม
- รักษารากฟันแท้
- ครอบฟันน้ำนม
- ใส่เครื่องมือกันฟันล้ม
- ทำฟันเด็กพิเศษ
สอบถามปรึกษา – ฟันตกกระ
กรณีมีคำถามเพิ่มเติม ตรวจสอบค่าบริการทันตกรรม หรือต้องการนัดหมายกับคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านนี้เลยนะคะ ยินดีให้บริการค่ะ
เวลาทำการสำหรับนัดหมายรักษา ฟันตกกระ
จันทร์-เสาร์ | 10:00 – 19:00 น. |
อาทิตย์ | 10:00 – 12:00 น. |
คำถามที่พบบ่อย – คลินิกทันตกรรม SmileDC อยู่ตรงไหน?
คลินิกทันตกรรม SmileDC ตั้งอยู่ในโครงการดิไอเฟล บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก เขตสะพานสูง/รามคำแหง ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) นะคะ สามารถดูแผนที่ และกดปุ่มด้านล่างเพื่อนำทางด้วย Google Maps มายังคลินิกของเราได้เลยค่ะ