ถอนฟันน้ำนม คืออะไร ทำไมต้องทำ? – เตรียมตัวก่อนและหลังถอนฟันเด็ก
การถอนฟันน้ำนมในเด็กเป็นขั้นตอนที่ทันตแพทย์เลือกทำเมื่อมีความจำเป็น เช่น ฟันผุมากหรือฟันแท้ขึ้นมาทำให้ฟันน้ำนมไม่หลุดเอง บทความนี้จะอธิบายถึงสาเหตุและความจำเป็นของการถอนฟันน้ำนม วิธีการเตรียมตัวก่อนและหลังการถอน และคำแนะนำในการดูแลสุขภาพฟันของเด็ก เพื่อให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองมีความเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับขั้นตอนนี้อย่างเหมาะสม
หัวข้อที่น่าสนใจ: ถอนฟันน้ำนมในเด็ก
ถอนฟันน้ำนม คืออะไร?
ถอนฟันน้ำนม หรือ ถอนฟันเด็ก (Dental Extraction) คือ การรักษาที่ทันตแพทย์เด็กจะวางแผนการรักษาเป็นทางเลือกสุดท้าย สำหรับกรณีที่ไม่สามารถเก็บฟันน้ำนมซี่นั้นๆไว้ได้ เช่น ฟันที่ผุมากๆจนถึงโพรงประสาทฟัน และไม่สามารถรักษารากฟันเพื่อเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้ หรือมีความจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการถอนฟันซี่นั้นๆออก เช่น กรณีที่ฟันน้ำนมยังไม่ยอมหลุดออกและมีฟันแท้เริ่มขึ้นมาแล้ว ทำให้ไม่มีที่เพียงพอสำหรับให้ฟันแท้ขึ้นมาได้อย่างปกติ เป็นต้น
หนึ่งในคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการถอนฟันเด็ก คือ ฟันน้ำนมซี่นั้นๆสมควรจะถอนออกเพื่อให้ฟันแท้ขึ้นมาในช่องปากได้หรือยัง ซึ่งคำตอบนี้หมอฟันเด็กเฉพาะทางจะเป็นผู้ตรวจและพิจารณาจากปัจจัยหลายๆอย่างว่า ฟันน้ำนมซี่นั้นๆยังสมควรเก็บอยู่ในช่องปาก หรือถึงเวลาที่ควรถอนออกได้แล้วค่ะ
ทำไมจึงต้องถอนฟันน้ำนมในเด็ก?
โดยทั่วไปสาเหตุการถอนฟันน้ำนมในเด็ก แบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก คือ
1. เพื่อเปิดทางให้ฟันแท้ขึ้นมา ด้วยการถอนฟันน้ำนมที่ยังไม่ยอมหลุดออก
ใช้ในกรณีที่ฟันน้ำนมขัดขวางการขึ้นของฟันแท้ หรือฟันแท้ขึ้นมาแล้วแต่ฟันน้ำนมยังไม่ยอมหลุด คุณหมอฟันเด็กจะพิจารณาถอนฟันน้ำนมซี่ที่เป็นปัญหาออก เพื่อให้ฟันแท้ได้มีโอกาสขึ้นมาในตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะสม
2. กรณีฟันน้ำนมที่ผุมากจนไม่สามารถรักษาได้ จึงจำเป็นต้องถอนฟันน้ำนมออก
ทันตแพทย์เด็กจะทำการประเมินฟันซี่ที่ผุว่ายังสามารถทำการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆได้หรือไม่ ถ้าหากไม่สามารถเก็บฟันซี่ดังกล่าวได้ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม คุณหมอฟันเด็กจะพิจารณาเพื่อทำการถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆออก เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เกิดการอักเสบลุกลามลงไปจนถึงหน่อฟันแท้ซึ่งอยู่ใต้ซึ่ฟันน้ำนม
3. การถอนฟันน้ำนมเกิน
ในบางกรณีเด็กบางคนจะมีฟันที่งอกเกินมาจากฟันปกติ ซึ่งฟันที่เกินมานี้มักจะไปขัดขวางการขึ้นของหน่อฟันแท้ หรือ ไปเบียดทำให้ฟันแท้ขึ้นเบี้ยว ซ้อนเก หรือขึ้นในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม หากเกิดกรณีดังนี้ขึ้นทันตแพทย์เด็กเฉพาะทาง จะทำการถอนฟันเด็กในซี่ที่เกินมาออก เพื่อเปิดทางให้ฟันแท้ขยับเข้าสู่ตำแหน่งที่ถูกต้องได้
เตรียมตัวลูกก่อนถอนฟันน้ำนมอย่างไรดี?
ข้อแนะนำเพื่อให้การพาลูกไปพบทันตแพทย์เด็กเพื่อให้ถอนฟันเด็กเป็นไปอย่างราบรื่น มีดังต่อไปนี้
1. เตรียมร่างกายลูกให้พร้อมสำหรับการพบหมอฟันเด็ก
เด็กควรมีสุขภาพแข็งแรง ไม่ควรมีอาการไข้หรือเจ็บป่วยใดๆ ถ้าเด็กมีอาการไม่สบาย เช่น ไอหรือเจ็บคอ คุณพ่อคุณแม่ควรจะเลื่อนนัดการพบหมอฟันเพื่อถอนฟันน้ำนมออกก่อน ยกเว้นในกรณีที่เด็กมีอาการปวดฟันมาก ผู้ปกครองอาจพิจารณาพาลูกมาพบหมอฟันเด็กเพื่อให้คุณหมอจ่ายยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้นก่อนได้ค่ะ
2. ก่อนการถอนฟันเด็ก ไม่ควรให้เด็กทานอาหารมามากจนเกินไป
สำหรับการเตรียมตัวก่อนถอนฟันน้ำนมในเด็ก ไม่ควรให้เด็กทานอาหารมามากจนเกินไป เนื่องจากในเด็กบางคนที่อาเจียนง่าย การทานอาหารมามากเกินไปอาจทำให้เด็กรู้สึกอึดอัดและอาจอาเจียนออกมาระหว่างขั้นตอนการถอนฟันเด็กได้ค่ะ
3. ควรให้เด็กนอนพักผ่อนมาให้เพียงพอ
เพื่อช่วยลดอาการงอแงที่อาจเกิดขึ้นถ้าเด็กง่วงนอน รวมถึงผู้ปกครองควรจะหลีกเลี่ยงการนัดพบหมอฟันเด็กเพื่อทำ การถอนฟันน้ำนมในช่วงที่ตรงกับเวลานอนกลางวันของเด็กๆค่ะ
4. ช่วยเตรียมใจของเด็กๆก่อนเข้ารับการถอนฟันน้ำนม
คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่น่ากลัว เช่น จะพาไปถอนฟัน หมอจะฉีดยา จะมีเลือดออก เป็นต้น เนื่องจากเด็กๆส่วนใหญ่มักเกิดความกังวล และจะทำให้ขั้นการถอนฟันน้ำนมในเด็กที่มีจินตนาการและความกังวลเหล่านี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก คุณพ่อคุณแม่ควรบอกลูกแค่ว่าจะพามาให้คุณหมอช่วยขยับฟันออก หรือพามาให้คุณหมอหยดยาเพื่อละลายฟัน โดยส่วนใหญ่แล้วคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทางจะมีคำแทนที่ไม่น่ากลัวสำหรับอธิบายให้เด็กยอมรับการทำฟันเตรียมไว้แล้วค่ะ
5. เตรียมใจคุณพ่อคุณแม่สำหรับการพาลูกมาถอนฟัน
หากคุณพ่อคุณแม่มีความวิตกกังวลมากๆในการพาลูกมาถอนฟันน้ำนมในครั้งแรก จะมีผลทำให้เด็กๆรู้สึกว่าขั้นตอนการทำฟันในครั้งนั้นจะต้องน่ากลัวมากแน่ๆ ผู้ปกครองควรทำใจให้สบายพักผ่อนมาให้เพียงพอ และวางใจฝากฟันของน้องๆไว้ให้คุณหมอเด็กผู้เชี่ยวชาญเป็นคนดูแล ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ทำใจได้ คุณหมอมักจะให้คุณพ่อคุณแม่อยู่กับน้องในห้องทำฟันเพื่อช่วยจับมือเป็นกำลังใจ แต่ถ้าหากทำใจไม่ได้หรือคุณพ่อคุณแม่กลัวเลือดก็สามารถขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อนหรือนั่งรอด้านนอกได้ค่ะ
การถอนฟันเด็ก มีขั้นตอนอย่างไร?
สำหรับขั้นตอนในการถอนฟันน้ำนมโดยทันตแพทย์เด็กเฉพาะทาง มีดังต่อไปนี้
1. ขั้นตอนก่อนการเริ่มถอนฟันน้ำนม
ทันตแพทย์เด็กจะทำการซักประวัติ ได้แก่ โรคประจำตัว และประวัติการแพ้ยา รวมถึงประวัติในการรักษาทางทันตกรรมของเด็กอย่างละเอียด เพื่อบันทึกและประเมินว่าเด็กมีความพร้อมในการถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆหรือไม่ รวมถึงประเมินว่าควรใช้วิธีการปรับพฤติกรรมวิธีใดในการทำให้เด็กร่วมมือยอมรับการถอนฟันเด็กออกได้โดยราบรื่น
2. หมอฟันเด็กจะทำการเอ็กซเรย์ เพื่อวินิจฉัยประกอบการถอนฟันน้ำนม
ทั้งนี้เพื่อประเมินดูลักษณะของรากฟันน้ำนมซี่นั้นๆ รวมถึงตรวจดูหน่อฟันแท้ที่อยู่ด้านใต้ฟันน้ำนมซี่ที่จะถอน ซึ่งจะสามารถบอกได้ว่าจำเป็นต้องใส่เครื่องมือกันฟันล้มภายหลังการถอนฟันน้ำนมซี่นั้นหรือไม่ ในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือในการทำฟันและทันตแพทย์เด็กไม่สามารถถ่ายภาพเอ็กซเรย์ได้ คุณหมออาจจะใช้วิธีประเมินจากโครงสร้างฟันภายนอกแทนค่ะ
3. ทันตแพทย์เด็กจะทำการป้ายยาชาเฉพาะที่
โดยใช้เวลาประมาณ 30 วินาที ถึง 1 นาที เพื่อให้เนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากชาก่อนจะทำการฉีดยาชาที่เหงือกบริเวณฟันน้ำนมที่จะทำการถอนออก
4. ทำการทดสอบการชาโดยทันตแพทย์เด็ก ก่อนที่จะถอนฟันเด็กทุกครั้ง
เนื่องจากในเด็กบางครั้งจะร้องไห้ขณะทำฟัน คุณหมอจะต้องทำการทดสอบจนมั่นใจว่าเด็กรู้สึกชาสนิทดีแล้วและการร้องไห้ของเด็กไม่ได้เกิดจากความเจ็บปวด ก่อนที่จะเริ่มต้นทำการถอนฟันเด็กทุกครั้ง
5. ทันตแพทย์เด็กจะทำการแยกเหงือก เพื่อให้ฟันหลวมขึ้น
หลังจากทำการแยกเหงือกเสร็จแล้ว ทันตแพทย์เด็กจะใช้คีมถอนฟันนำฟันออกมา จากนั้นจะทำการกดผ้าก๊อซเพื่อห้ามเลือด บางกรณีอาจมีการใส่ยาห้ามเลือดหรือมีการเย็บแผลเพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลเร็วขึ้น
ข้อควรปฏิบัติหลังการถอนฟันน้ำนม มีอะไรบ้าง?
ภายหลังจากการถอนฟันเด็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรเฝ้าระวังดูแลเด็กๆ ซึ่งมีคำแนะนำภายหลังการถอนฟันน้ำนม ดังต่อไปนี้
1. ภายหลังจากการถอนฟันเด็ก ให้กัดผ้าก๊อซไว้ประมาณ 30 นาที
หรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล โดยคุณพ่อคุณแม่จะต้องพยายามกระตุ้นให้เด็กกลืนน้ำลายหรือเลือดเข้าไป เนื่องจากถ้าอมน้ำลายไว้ หรือบ้วนน้ำลายทิ้งจะทำให้เลือดหยุดช้าลง
2. กรณีที่ครบ 30 นาทีแล้ว ยังมีเลือดออกมาจากปากแผลอยู่
ให้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองล้างมือให้สะอาด แล้วเปลี่ยนผ้าก๊อซชิ้นใหม่ให้เด็กกัดต่ออีกประมาณ 15 นาที หรือจนกว่าเลือดจะหยุดไหล รวมถึงพยายามกระตุ้นให้เด็กกลืนน้ำลายและไม่ดูดแผลเล่น
3. ให้เด็กทานยาแก้ปวด หรือยาแก้อักเสบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
โดยยาแก้ปวดสามารถทานได้ตั้งแต่ยังไม่หมดฤทธิ์ยาชา เพราะจะช่วยให้เด็กๆไม่มีอาการเจ็บปวดภายหลังจากที่หายชาแล้ว และสามารถทานซ้ำได้ในระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง ส่วนยาแก้อักเสบจะต้องทานให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดื้อยาค่ะ
4. ระมัดระวังการรับประทานอาหาร
โดยสามารถทานอาหารอ่อนได้ภายหลังจากที่เลือดหยุดไหลแล้ว และควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง อาหารที่มีรสจัด รวมถึงอาหารที่มีลักษณะเหนียวติดฟัน
5. ยาชาจะมีฤทธิ์อยู่ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
ในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กจะมีความรู้สึกชาหรือเด็กบางคนจะรู้สึกรำคาญจากอาการชา ผู้ปกครองต้องคอยระมัดระวังไม่ให้เด็กกัดหรือหยิกบริเวณที่ชา ทั้งส่วนของริมฝีปาก ลิ้น และแก้ม รวมถึงไม่ดูดเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้มเล่นเพราะอาจทำให้เกิดแผลภายหลังจากหมดฤทธิ์ยาชา
6. หลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดและการดูดจุกนม
ภายหลังการถอนฟันเด็กโดยเฉพาะถ้าเป็นการถอนฟันหน้า เนื่องจากหลอดหรือจุกนมอาจไปขูดบริเวณแผลที่ถอนฟัน ทำให้เกิดการระคายเคืองได้
7. สามารถแปรงฟันในคืนนั้นได้
แต่พยายามหลีกเลี่ยงบริเวณแผลถอนฟันประมาณ 1-2 วัน โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะช่วยทำความสะอาดช่องปากน้องให้สะอาด เพื่อช่วยให้การหายของแผลเป็นไปอย่างราบรื่นและไม่มีการติดเชื้ออักเสบ
8. แผลที่เกิดจากการถอนฟันในเด็ก จะเป็นรูโหว่อยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์
ดังนั้นผู้ปกครองควรกระตุ้นให้เด็กบ้วนปากภายหลังรับประทานอาหาร เพื่อไม่ให้เศษอาหารตกลงไปในช่องโหว่ดังกล่าว แต่ไม่ควรใช้สิ่งของปลายแหลม เช่น ไม้จิ้มฟันแคะเศษอาหารที่ติดออก เนื่องจากอาจทำให้แผลมีอาการอักเสบ หรือระคายเคืองได้
ถอนฟันน้ำนม ราคาเท่าไหร่?
สำหรับคำถามเกี่ยวกับ อัตราค่าบริการถอนฟันน้ำนมราคาเท่าไหร่? คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถดูราคาถอนฟันน้ำนมในเด็กได้จากตารางด้านล่างนี้ค่ะ และสำหรับค่าบริการทางทันตกรรมเด็กด้านอื่นๆ สามารถกดดูได้จากลิ้งค์หรือ ปุ่มด้านล่างตารางนี้นะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ
บริการทันตกรรมเด็ก | ค่าบริการ (บาท) |
ถอนฟันน้ำนม ราคา | 800-1,200 บาท / ซี่ |
บทสรุปการถอนฟันน้ำนมในเด็ก
การถอนฟันน้ำนมในเด็กเป็นการรักษาขั้นสุดท้ายที่ทันตแพทย์เด็กจะพิจารณา โดยมักเกิดในกรณีที่ฟันน้ำนมมีการผุมากจนไม่สามารถเก็บไว้ได้หรือมีฟันแท้ขึ้นผิดตำแหน่ง ก่อนการรักษา จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกายและจิตใจของทั้งเด็กและผู้ปกครอง รวมถึงการตรวจสุขภาพและปรับพฤติกรรม หลังการรักษา ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์เด็กอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนและส่งเสริมให้แผลหายได้เร็วขึ้น
คำถามที่พบบ่อย: ถอนฟันน้ำนมในเด็ก
สำหรับการรับประทานอาหารภายหลังการถอนฟันน้ำนมออก สามารถทานได้หลังจากที่เลือดหยุดแล้ว (โดยปกติหลังจากการถอนฟันและกัดผ้าก๊อซ ปกติประมาณ 30 นาที) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอาหารอ่อนๆที่ไม่แข็ง หรือ ไม่ต้องมีการเคี้ยวมาก เช่น โจ๊กหรือข้าวต้ม และควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดหรืออาหารที่ร้อนจัดค่ะ
หลังการถอนฟันน้ำนมในเด็กเสร็จแล้วควรรอประมาณ 30 นาทีให้เลือดหยุดก่อน หลังจากนั้นจึงสามารถดื่มน้ำเย็น หรือเครื่องดื่มเย็นได้เป็นปกติ แต่มีข้อควรระวัง คือ ให้ดื่มจากแก้วน้ำปกติและห้ามใช้หลอดดูดเด็ดขาด!! เนื่องจากอาจทำให้ปากแผลที่ยังไม่สมานตัวดีเปิดออกและทำให้เลือดไหลออกมาอีกได้ค่ะ
คำแนะนำการแปรงฟันหลังจากการถอนฟันน้ำนม ในกรณีที่เป็นเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถแปรงฟันเองได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยแปรงฟันให้ลูกได้ และควรเพิ่มความระมัดระวังโดยการแปรงฟันให้ลูกน้อย โดยสามารถทำได้ด้วยการออกแรงเบาๆและหลีกเลี่ยงบริเวณที่เพิ่งจะถอนฟันน้ำนมออกไปค่ะ
ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในแต่ละเคสค่ะ เช่น ถ้ามีอาการ ปวด บวม หรืออักเสบมา เนื่องจากฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันอย่างรุนแรงอยู่ก่อนแล้วการถอนฟันน้ำนม คุณหมอฟันเด็กอาจพิจารณาจ่ายยาแก้อักเสบ แต่สำหรับเคสทั่วๆไปที่ไม่มีการอักเสบเช่น เป็นการถอนฟันน้ำนมที่ขึ้นซ้อนกับฟันแท้หรือเป็นการถอนฟันน้ำนมที่เกิน โดยทั่วไปก็จะไม่มีความจำเป็นต้องทานยาแก้อักเสบค่ะ
บทความถอนฟันน้ำนมโดย
ผศ.ทพญ. อาวีพรรณ โกวิทย์สมบูรณ์
ทันตแพทย์เด็กประจำคลินิกทันตกรรม SmileDC2559 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ทันตกรรมเด็ก)
2552 วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (ทันตกรรมเด็ก) มหาวิทยาลัยมหิดล
2548 ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แชร์บทความนี้
เพราะการแบ่งปันคือความห่วงใยที่เรามีให้กัน…(เลือกแชร์บทความให้เพื่อนได้โดยกดปุ่มด้านล่างนี้เลยค่ะ)
แผนที่
คลินิกของเรา ตั้งอยู่ในโครงการดิไอเฟล บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) นะคะ
เวลาทำการ
จันทร์-เสาร์ | 10:00 – 19:00 น. |
อาทิตย์ | 10:00 – 12:00 น. |
สอบถามหรือนัดหมายถอนฟันน้ำนม
ในกรณีที่คุณลูกค้ามีคำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการถอนฟันน้ำนมให้น้อง สามารถติดต่อสอบถามหรือทำนัดหมายได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้ค่ะ