ฟันน้ำนมผุ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง, พฤติกรรมการกินขนมหรือของหวานบ่อย หรืออาจเกิดจากเนื้อฟันน้ำนมเดิมที่ไม่ค่อยแข็งแรง เป็นต้น
การรักษาฟันน้ำนมที่ผุ สามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระดับการผุของฟันน้ำนมซี่นั้นๆ เช่น การอุดฟัน, การครอบฟัน ในกรณีที่ยังผุไม่ถึงโพรงประสาทฟัน หรืออาจรักษาโดยการรักษารากฟันร่วมกับการรักษารากฟัน หรือแม้กระทั่งการถอนฟันน้ำนมออก ในกรณีที่รอยผุลุกลามมากแล้วจนไม่สามารถเก็บฟันซี่นั้นๆไว้ได้ค่ะ
ซึ่งการรักษาฟันน้ำนมที่ผุ จะต้องรักษาผ่านหมอฟันเด็กเท่านั้น ดังนั้น ขอเชิญทุกท่านที่สนใจเกี่ยวกับทุกรายละเอียดของการรักษาฟันน้ำนมที่ผุ ติดตามอ่านบทความด้านล่างได้เลยค่ะ
หัวข้อที่น่าสนใจ – ฟันน้ำนมผุ
ฟันน้ำนมผุ เกิดจากอะไร?
สาเหตุของการเกิดฟันผุในเด็ก มีได้หลากหลายกรณี เนื่องจากฟันผุ เป็นภาวะที่เกิดจากปัจจัยหลายๆอย่างร่วมกัน ได้แก่
1. การทำความสะอาดไม่ทั่วถึง
การแปรงฟันที่ไม่สะอาด หรือไม่ทั่วถึงทุกซี่ เป็นสาเหตุทำให้เศษอาหารและขนมยังคงตกค้างอยู่ในช่องปาก ซึ่งอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล จะถูกย่อยสลายโดยเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก และเกิดเป็นกรดขึ้นมาทำลายผิวฟัน ทำให้ลูกฟันผุได้
รวมถึงบางบริเวณที่การแปรงฟันอย่างเดียว จะไม่สามารถทำความสะอาดได้ทั่วถึง เช่น บริเวณซอกฟัน หรือด้านประชิดของฟัน ซึ่งต้องทำความสะอาดโดยการใช้ไหมขัดฟัน หากเด็กๆหรือผู้ปกครองไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ ก็จะมีโอกาสทำให้ลูกฟันผุได้ค่ะ
ในเด็กเล็ก ที่กล้ามเนื้อมัดเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ การปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง จะไม่สะอาดเพียงพอ คุณพ่อคุณแม่ควรจะต้องดูแลการแปรงฟันของเด็ก โดยการแปรงฟันให้ หรือตรวจความสะอาดจนเด็กอายุประมาณ 6 ขวบ จึงจะสามารถปล่อยให้เด็กแปรงฟันเองได้แบบสะอาดทั่วถึงค่ะ
2. การทานอาหาร หรือขนมที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมาก
อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล สามารถถูกแบคทีเรียในช่องปากย่อยสลาย และทำให้เกิดกรดออกมากัดกร่อนผิวฟัน และทำให้เกิดฟันผุได้ การที่เด็กบริโภคของหวานเป็นประจำ หรือทานขนมที่มีรสหวาน และมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่บ่อยๆ จะส่งผลทำให้เด็กมีฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าเด็กที่ไม่ทานของหวานค่ะ
อาหารบางประเภท โดยเฉพาะที่เหนียวติดฟัน จะส่งผลให้เกิดฟันน้ำนมผุได้ง่ายกว่าอาหารที่ไม่ติดหนึบที่ผิวฟัน เนื่องจากอาหารที่เหนียว จะไม่สามารถถูกชะล้างออกจากผิวฟันด้วยน้ำลาย หรือการดื่มน้ำ ทำให้แบคทีเรียสามารถสร้างกรดออกมาย่อยสลายผิวฟันได้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้เกิดฟันผุได้เร็วกว่าอาหารประเภทอื่นๆ ตัวอย่างอาหารหรือขนมที่เหนียวติดฟัน เช่น เยลลี่ กัมมี่ ทอฟฟี่แบบที่เคี้ยวหนึบ เป็นต้น
3. การได้รับฟลูออไรด์ไม่เพียงพอ
ฟลูออไรด์ มีคุณสมบัติช่วยให้เนื้อฟันแข็งแรงขึ้น ทนทานต่อการย่อยสลายของกรดได้มากกว่าฟันที่ไม่ได้รับฟลูออไรด์ ดังนั้น พ่อแม่ควรเลือกยาสีฟันเด็กที่ผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm ให้ลูกใช้ เพื่อช่วยให้โครงสร้างฟันของเด็กแข็งแรง และทำให้ลูกฟันผุยากขึ้นค่ะ
การเคลือบฟลูออไรด์โดยหมอฟันเด็ก ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้เนื้อฟันโดยรวมของเด็กแข็งแรง ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดมากขึ้น ดังนั้น พ่อแม่จึงควรพาลูกมาพบทันตแพทย์ทุกๆ6เดือน หรือตามกำหนดที่ทันตแพทย์นัดหมาย เพื่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี
ในบางกรณี ที่เด็กมีโอกาสเกิดฟันน้ำนมผุมากๆ คุณหมอฟันเด็ก อาจจะมีการสั่งจ่ายฟลูออไรด์เม็ด หรือน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ให้เด็กๆใช้ แต่ทั้งนี้ ควรอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากทันตแพทย์เฉพาะทางเด็ก เพื่อความปลอดภัย และลดโอกาสการเกิดผลเสียจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปค่ะ
4. เด็กที่มีเนื้อฟันไม่ดี
เด็กบางคน จะมีโครงสร้างฟันที่ไม่แข็งแรง เช่น มีชั้นเคลือบฟันที่บาง หรือไม่สมบูรณ์ ซึ่งเด็กๆกลุ่มดังกล่าวนี้ จะมีแนวโน้มเป็นเด็กฟันน้ำนมผุ ง่ายกว่าเด็กที่มีเนื้อฟันปกติ
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่พบว่าลูกมีลักษณะฟันแบบดังกล่าว อาจต้องปรึกษาทันตแพทย์ เพื่อเพิ่มกระบวนการทางทันตกรรมป้องกัน จะได้ช่วยลดโอกาสที่จะเกิดฟันผุได้ค่ะ
5. มีเชื้อแบคทีเรียในช่องปากจำนวนมาก
โรคฟันผุ นับเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดฟันผุ สามารถติดต่อระหว่างกันได้ทางน้ำลาย พบว่า การที่แม่มีเชื้อที่ก่อโรคฟันผุในปากมากๆ (เช่น มีฟันผุที่ไม่ได้อุดหลายซี่) จะส่งต่อเชื้อดังกล่าวให้ลูกผ่านทางการจูบ หรือการเป่าอาหารก่อนให้ลูกรับประทาน
ดังนั้น เพื่อช่วยให้ลูกไม่เป็นเด็กฟันน้ำนมผุ ผู้หญิงตั้งครรภ์ทุกคน ควรได้รับการทำความสะอาดช่องปาก และอุดฟันให้เรียบร้อยก่อนคลอดลูก รวมถึงการเลือกผู้ดูแลเด็ก (เช่น พี่เลี้ยง) ก็ควรจะพามารับบริการทำฟัน อุดฟัน ทำความสะอาดฟัน ก่อนที่จะเลี้ยงเด็ก เพื่อลดโอกาสการส่งผ่านเชื้อไปยังเด็กค่ะ
ฟันน้ำนมผุ มีระดับความรุนแรงแตกต่างกันอย่างไร?
เด็กฟันน้ำนมผุ มีได้หลายระดับ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความลึกในการผุของฟันน้ำนม โดยจะสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 ระยะ คือ
1. ระยะเริ่มต้น – ฟันผุบริเวณชั้นเคลือบฟัน (Enamel)
ฟันน้ำนมที่ผุระดับนี้ จะเกิดขึ้นแค่บริเวณผิวด้านนอกของฟัน อาจสังเกตเห็นเป็นสีขาวขุ่นบริเวณตัวฟัน หรือเป็นเส้นๆสีดำกหรือสีน้ำตาล บริเวณหลุมและร่องฟันที่ลึก
การผุระดับชั้นเคลือบฟัน จะไม่ส่งผลให้เกิดอาการเสียวฟัน หรือปวดฟันใดๆ เนื่องจากบริเวณชั้นเคลือบฟัน ยังเป็นระดับที่ตื้นอยู่มากค่ะ
2. ระยะปานกลาง – รอยผุกินเข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน (Dentin)
ระดับต่อจากชั้นเคลือบฟัน คือบริเวณเนื้อฟัน ซึ่งนับเป็นระดับความลึกที่เพิ่มขึ้น ฟันผุระดับนี้ จะสังเกตได้จากสีจะดำกว้าง และเข้มขึ้น ในบางกรณี รอยผุอาจมีสีน้ำตาล หรือเหลืองๆได้
ในกรณีนี้ ส่วนใหญ่เด็กจะมีอาการเสียวฟัน เมื่อทานน้ำเย็น หรืออาหารที่มีรสหวาน แต่จะยังไม่ถึงกับปวดฟัน เนื่องจากบริเวณเนื้อฟัน จะมีท่อเนื้อฟันเล็กๆแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการกระตุ้นด้วยอาหารเย็น หรืออาหารหวาน จะส่งผลให้เกิดอาการแปล๊บ หรือที่เรียกกันว่าเสียวฟันนั่นเองค่ะ
3. ระยะลุกลาม – ผุลึกเกือบถึงชั้นโพรงประสาทฟัน
โครงสร้างของฟัน คือเนื้อเยื่อแข็ง ที่ล้อมรอบเส้นเลือดและเส้นประสาทในโพรงรากฟันเอาไว้ หากรอยผุกินลึกเข้าไปจนเกือบจะทะลุถึงโพรงประสาทฟัน จะส่งผลทำให้เด็กๆมีอาการปวดฟันเวลาเศษอาหารเข้าไปติด แต่อาการจะดีขึ้น เมื่อนำเศษอาหารออก และถ้าไม่มีเศษอาหารไปกระตุ้น ก็จะไม่มีอาการใดๆ รวมถึงไม่มีการปวดฟันตอนกลางคืน และไม่มีว่า อยู่ๆก็ปวดฟันขึ้นมาเอง
ลักษณะของฟันน้ำนมผุที่กินลึกเข้าไปขนาดนี้ มักจะมาด้วยรอยสีดำขนาดใหญ่ กว้าง แต่ก็มีบ้างบางกรณีที่รอยผุมีขนาดไม่ใหญ่มาก แต่กินลึกลงไป หรือบางคน อาจมาด้วยอาการฟันแตกหรือบิ่นออก เนื่องจากเนื้อฟันด้านบน กะเทาะออกไปเพราะโครงสร้างฟันที่ผุ มีความแข็งแรงลดลงมาก
การผุระดับนี้ อาจเกิดได้ทั้งบริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน หรือด้านซอกฟันค่ะ
4. ระยะรุนแรง – ฟันน้ำนมผุลึกถึงชั้นโพรงประสาทฟัน
เป็นระดับการผุที่ลึกและรุนแรงที่สุด เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่บริเวณเส้นเลือดและเส้นประสาทในโพรงรากฟัน ส่งผลให้เด็กที่มีฟันน้ำนมผุระดับนี้ มีอาการปวดฟัน อาจปวดเมื่อเวลาเศษอาหารติด แต่พอเอาเศษอาหารออกแล้วก็ยังไม่หายปวด หรืออาจมีอาการปวดฟันขึ้นมาได้เอง แม้ไม่มีสิ่งกระตุ้นใดๆ ปวดฟันตอนกลางคืน มีการตื่นขึ้นมาร้องไห้งอแงกลางดีก อาจมีตุ่มหนองขึ้นที่เหงือก หรือหนักกว่านั้น อาจมีการบวมบริเวณหน้าหรือคางร่วมด้วย
เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ รักษาอย่างไร?
การรักษาฟันกรณีสำหรับ เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ จะขึ้นอยู่กับระดับของการผุ โดยสามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆได้ดังนี้
1. ฟันน้ำนมผุ ในระยะเริ่มต้น
รักษาด้วยการเคลือบหลุมร่องฟัน – ใช้ในกรณีที่รอยผุลึกแค่ระดับชั้นเคลือบฟัน หรือรอยผุอยู่ตื้นมากๆ ทันตแพทย์เด็กอาจใช้วิธีนี้ในการหยุดยั้งฟันผุได้ เนื่องจากการเคลือบร่องฟัน จะช่วยไม่ให้อาหารเข้าไปเกาะติดบริเวณหลุมและร่องฟันที่ลึก ทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อาจมีอยู่ปริมาณน้อยมากบริเวณฟัน ไม่สามารถผลิตกรดมากัดเนื้อฟันเพิ่มได้อีก
บางกรณี ทันตแพทย์เด็ก อาจมีการกรอเนื้อฟันที่ผุออกในปริมาณน้อยๆ และใช้วัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน ปิดผนึกและทดแทนผิวฟันบริเวณดังกล่าวไปเลยค่ะ
วิธีการเคลือบหลุมร่องฟัน คือการเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆฟันซี่นั้น มีจุดประสงค์หลักเพื่อไม่ให้เศษอาหารและน้ำตาลเข้าไปฝังตัวที่บริเวณร่องและหลุมที่ทำความสะอาดได้ยาก ดังนั้น การเคลือบหลุมร่องฟัน อาจใช้เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกฟันผุได้ด้วยนะคะ
2. ฟันน้ำนมผุ ระยะปานกลาง
รักษาด้วยการอุดฟัน – โดยทันตแพทย์จะกรอเอาเนื้อฟันส่วนที่ผุออก แล้วบูรณะทดแทนด้วยวัสดุอุดฟันน้ำนม ที่มีอยู่หลายประเภท โดยหมอฟันเด็กจะพิจารณาตามความเหมาะสม ว่าฟันซี่นั้นๆ ควรบูรณะด้วยวัสดุประเภทใด
โดยวัสดุอุดฟันน้ำนม สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆคือ อมัลกัมสีเงิน, คอมโพสิตเรซิน และกลาสไอโอโนเมอร์ซีเมนต์ค่ะ ซึ่งวัสดุแต่ละประเภท จะมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันไป ทันตแพทย์ จะเป็นผู้ตัดสินใจ ว่าควรเลือกใช้วัสดุชนิดไหน ในการจัการฟันผุค่ะ
บางกรณี หากรอยผุอยู่ลึกมากๆ อาจทำให้เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ เกิดอาการเสียวฟันหลังอุดได้ ทันตแพทย์เด็ก อาจพิจารณาใช้วัสดุรองพื้น ที่มีคุณสมบัติในการปลดปล่อยฟลูออไรด์ เพื่อลดอาการแทรกซ้อนภายหลังการอุดฟันซี่ที่ลึกค่ะ
3. ฟันน้ำนมผุ ระยะลุกลาม
รักษาด้วยการครอบฟันน้ำนมหรือครอบฟันเด็ก – โดยการครอบฟันน้ำนมนี้จะใช้ในกรณีที่ลูกฟันผุกว้างเกินกว่าจะบูรณะด้วยการอุดฟัน ซึ่งการครอบฟัน จะมีด้วยกัน 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ ครอบฟันสีเงิน กับครอบฟันสีขาว
ในกรณีของการผุที่ฟันหลัง ทันตแพทย์เด็กมักจะใช้ครอบฟันสีเงินในการรักษา เนื่องจากมีความแข็งแรงทนทาน และทำได้ง่าย ราคาไม่แพง แต่ถ้าหากเป็นการผุบริเวณฟันหน้าที่ต้องการความสวยงาม คุณหมอฟันเด็ก อาจเลือกใช้ครอบฟันสีขาว เพื่อเพิ่มความมั่นใจในรอยยิ้ม และการใช้ชีวิตของเด็กๆค่ะ
4. ฟันน้ำนมผุ ระยะรุนแรง
รักษาด้วยรักษารากฟันน้ำนมร่วมกับครอบฟันน้ำนม – หากฟันน้ำนมผุเข้าไปถึงบริเวณโพรงประสาทฟัน ทันตแพทย์จะต้องทำการรักษารากฟันเพื่อกำจัดการติดเชื้อที่ลุกลามเข้าไปถึงส่วนรากฟันเสียก่อน เนื่องจากหากอุดฟันหรือครอบฟันเลย โดยไม่ได้รักษารากฟัน จะเป็นการขังเชื้อเอาไว้ภายในโพรงรากฟัน ส่งผลให้เด็กมีอาการปวดฟัน และอาจเกิดการบวมได้
ภายหลังการรักษารากฟันเรียบร้อย ทันตแพทย์เด็กมักจะแนะนำให้ทำการครอบฟันต่อ เพราะเนื้อฟันที่ผ่านการรักษารากฟันมาแล้ว มักจะมีลักษณะเปราะ ซึ่งถ้าไม่ได้ครอบฟันไป มักจะแตกหักได้ง่ายจากการใช้งาน และถ้าหากฟันแตกขึ้นมา ก็จะต้องถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆทิ้งค่ะ
5. ฟันน้ำนมผุ ระยะสุดท้าย
รักษาด้วยการถอนฟันน้ำนม – เด็กที่มีฟันน้ำนมผุ ลุกลามไปมากเกินกว่าจะรักษาเอาไว้ได้ ทันตแพทย์เด็กอาจจะต้องถอนฟันน้ำนมซี่นั้นๆออก เพื่อเป็นการรักษาอาการปวดฟันในเด็ก
ลักษณะของฟันน้ำนมผุ ที่อาจจะต้องถอน มีดังนี้
- อาจจะมาด้วยการผุกว้างมากๆ หรือผุแตกลงไปใต้เหงือก จนไม่สามารถบูรณะด้วยการอุดฟันหรือครอบฟันได้
- มีตุ่มหนองที่เหงือก หรือมีลักษณะบวมที่ใบหน้า
- มีการบวมของอวัยวะข้างเคียง เช่น คางบวม หน้าบวม หรือบวมไปยังใต้ตา
- ฟันน้ำนมที่ผุ และจะมีอายุอยู่ในช่องปากอีกไม่ถึง 6 เดือน
บทสรุปเกี่ยวกับฟันน้ำนมผุ
ฟันน้ำนมมีหน้าที่สำคัญในช่องปากมากมายหลายประการ ซึ่งหากฟันน้ำนมผุ อาจจะทำให้ต้องสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ลูกฟันผุนั้น สามารถป้องกันได้ โดยการทำความสะอาดฟันให้ดี ลดการทานขนมหวานหรือทานจุบจิบ รวมถึงมาพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน เพื่อรับการรักษาทางทันตกรรมป้องกัน หรือรักษาฟันผุตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ฟันน้ำนมอยู่ในช่องปากกับลูกไปจนถึงเวลาที่เหมาะสมและหลุดไปเองค่ะ
คำถามน่ารู้เกี่ยวกับฟันน้ำนมผุ
คำตอบคือ ไม่ควรค่ะ เพราะจะทำให้ระดับของการผุลุกลามไปไกล จนลูกเกิดอาการปวดฟัน และอาจต้องสูยเสียฟันไปก่อนกำหนด
ดังนั้น หากเด็กฟันน้ำนมผุ ควรพามารักษากับทันตแพทย์เด็กโดยด่วนค่ะ
ฟันน้ำนมผุ เป็นโรคที่ต้องรักษาโดยทันตแพทย์เท่านั้นค่ะ ผู้ปกครองและพ่อแม่ ไม่สามารถรักษาฟันน้ำนมที่ผุได้ค่ะ แต่อาจช่วยป้องกันไม่ให้ลูกฟันผุด้วยการทำความสะอาดฟันลูกให้ดี และช่วยลูกเลือกอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดฟันผุได้ค่ะ
อาจต้องมาปรึกษากับทันตแพทย์ เพื่อดูว่าระดับการผุอยู่แค่ไหนค่ะ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า อาจต้องอุดฟัน หรืออาจต้องครอบฟัน ทั้งนี้ ขึ้นกับขนาดและความลึกของรอยผุในเด็กค่ะ
= = = = = = = = = = = = = = = =
สอบถามนัดหมาย
กรณีมีคำถามเพิ่มเติม ตรวจสอบค่าบริการทันตกรรม หรือต้องการนัดหมายกับคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทาง ที่คลินิกทันตกรรม SmileDC สามารถติดต่อได้ตามช่องทางด้านนี้เลยนะคะ ยินดีให้บริการค่ะ