เคลือบหลุมร่องฟัน คืออะไร?! และมีประโยชน์อย่างไร?!
เคลือบหลุมร่องฟัน คืออะไร?
เคลือบหลุมร่องฟัน หรือ เคลือบร่องฟัน (Dental Sealant) คือ การใช้วัสดุประเภทโพลีเมอร์ที่มีคุณสมบัติในการยึดติดกับผิวฟันมาผนึกลงไปในบริเวณของร่องฟันที่ลึก เพื่อทำให้ลักษณะของหลุมร่องฟันที่ลึกนั้นตื้นขึ้น ส่งผลทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาดฟันซี่นั้นๆ โดยวัสดุที่นำมาใช้ในการเคลือบร่องฟันดังกล่าวจะต้องเป็นวัสดุที่มีความปลอดภัยสูง มีการยึดเกาะกับผิวฟันแน่น ไม่หลุดง่าย และสามารถรับแรงเคี้ยวได้ดีพอสมควร
การเคลือบหลุมร่องฟัน ถือเป็นทันตกรรมเชิงป้องกันที่มีราคาไม่แพง และสามารถป้องกันการเกิดฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาฟันผุที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า เช่น การอุดฟันหรือการรักษารากฟัน หรือแม้แต่การรักษารากฟันที่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามาก ดังนั้นทันตแพทย์สำหรับเด็กมักจะแนะนำให้ผู้ปกครองรีบพาบุตรหลานมาเคลือบหลุมร่องฟันเมื่อฟันกรามขึ้นมาในช่องปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อเนื้อฟันภายหลังได้
หัวข้อที่น่าสนใจ – เคลือบหลุมร่องฟัน
- เคลือบหลุมร่องฟัน คืออะไร?
- การเคลือบหลุมร่องฟัน มีประโยชน์อย่างไร?
- ใครควร "เคลือบหลุมร่องฟัน" บ้าง?
- การเคลือบหลุมร่องฟัน ควรทำเมื่อไหร่?
- เคลือบหลุมร่องฟัน มีขั้นตอนอย่างไร?
- หลังการเคลือบหลุมร่องฟัน ควรปฏิบัติอย่างไร?
- ข้อจำกัดของการเคลือบหลุมร่องฟัน
- เคลือบหลุมร่องฟัน มีกี่ประเภท?
- เคลือบหลุมร่องฟัน ราคาเท่าไหร่?
- บทสรุป – เคลือบหลุมร่องฟัน
- คำถามที่พบบ่อย – เคลือบหลุมร่องฟัน
- เลือกอ่านบทความอื่นที่น่าสนใจเกี่ยวกับทันตกรรมเด็ก
การเคลือบหลุมร่องฟัน มีประโยชน์อย่างไร?
การเคลือบหลุมร่องฟันปกติแล้วในการทำฟันเด็ก คุณหมอฟันเด็กมักจะแนะนำให้ทำในฟันกรามน้ำนม และฟันกรามแท้ซี่แรก (First molar) ที่ขึ้นมาในช่องปากตอนอายุประมาณ 6 ขวบ เนื่องจากผู้ปกครองมักไม่ทราบว่าฟันที่ขึ้นนั้นเป็นฟันแท้ เนื่องจากไม่ได้มีฟันน้ำนมซี่ไหนหลุดไปและเด็กๆมักจะทำความสะอาดไม่ถึง เคลือบหลุมร่องฟันมีประโยชน์ดังนี้ คือ
1. ช่วยในการป้องกันฟันผุ
โดยเฉพาะบริเวณฟันกรามที่แปรงไม่ถึง เนื่องจากการเคลือบร่องฟันจะช่วยป้องกันไม่ให้เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ตกลงไปในร่องฟันที่ลึกและแคบ ดังนั้นถ้าไม่มีอะไรตกลงไปฟันจึงไม่ผุ
2. สามารถใช้ในการป้องกันการลุกลามของฟันผุในระยะเริ่มแรกได้
การเกิดฟันผุมีปัจจัยมาจากหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือแบคทีเรียย่อยสลายอาหารน้ำตาลและเกิดกรดออกมากัดผิวฟัน การเคลือบหลุมร่องฟันจะช่วยกำจัดปัจจัยเรื่องของเศษอาหาร ทำให้รอยผุที่เกิดขึ้นน้อยๆหยุดลงและไม่พัฒนาลุกลามต่อ โดยหมอฟันเด็กอาจพิจารณาใช้การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นวิธีการรักษาแทนได้
3. มีส่วนช่วยให้ทำความสะอาดฟันได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากฟันที่เคลือบหลุมร่องฟันแล้วจะมีลักษณะพื้นผิวที่เรียบและลื่น ไม่มีร่องหลุมที่ลึกยากต่อการทำความสะอาด ซี่ฟันที่ผ่านการเคลือบร่องฟันมาแล้วจึงแปรงให้สะอาดได้ง่ายขึ้น
ใครควร “เคลือบหลุมร่องฟัน” บ้าง?
การเคลือบหลุมร่องฟันสามารถทำได้ ในกรณีดังต่อไปนี้ค่ะ
✔ ฟันกรามแท้และฟันน้ำนมซี่ใน ที่มีลักษณะร่องฟันลึกและแคบ
เป็นข้อบ่งชี้ในการเคลือบหลุมร่องฟัน โดยเฉพาะในเด็กที่มีกล้ามเนื้อมัดเล็กยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งจะแปรงฟันได้ไม่สะอาดเท่าที่ควร การเคลือบร่องฟันจะทำให้การทำความสะอาดบริเวณฟันกรามซี่ในที่เข้าถึงยากเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น
✔ ฟันกรามน้อย และฟันหน้าบางซี่
ทันตแพทย์สำหรับเด็กมักจะแนะนำให้ทำการเคลือบหลุมร่องฟันบริเวณฟันกรามน้อยและฟันหน้า โดยเฉพาะในคนที่มีโอกาสเกิดฟันผุง่าย เช่น ผู้ที่ใส่เครื่องมือจัดฟัน หรือผู้ที่ยังแปรงฟันไม่ค่อยสะอาด
✔ ในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยง ในการเกิดฟันผุสูงๆ
ทันตแพทย์อาจแนะนำการเคลือบหลุมร่องฟันเพื่อใช้ป้องกันฟันผุในกลุ่มผู้ที่ได้รับการรักษาโดยการฉายแสง กลุ่มผู้ที่มีน้ำลายคุณภาพไม่ดีหรือน้ำลายน้อย กลุ่มผู้ที่มีเนื้อฟันผิดปกติ หรือผู้ที่มีอุบัติการณ์เกิดฟันผุสูงๆ วิธีการเคลือบร่องฟัน จะช่วยลดการเกิดฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
✔ ผู้ที่รับการรักษาด้วยการจัดฟัน
การติดเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่นจะทำให้มีเศษอาหารไปติดสะสมในฟันมากขึ้นและทำความสะอาดออกได้ยาก รวมถึงผู้ที่มีเครื่องมือจัดฟันในปากจะแปรงฟันได้ยากขึ้นด้วย ดังนั้นทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟันมักจะแนะนำให้ทำการเคลือบหลุมร่องฟันก่อนที่จะนัดหมายเพื่อติดเครื่องมือจัดฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุระหว่างจัดฟันค่ะ
✔ ในกลุ่มเด็กพิเศษ หรือผู้ที่ต้องได้รับการดูแลพิเศษ
การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นวิธีที่แนะนำอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กเหล่านี้ เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงมาก ทั้งจากปัจจัยเรื่องของการแปรงฟันยาก และยาที่ต้องได้รับเป็นประจำบางขนิดที่มีรสหวาน อีกทั้งการรักษาฟันผุในกลุ่มเด็กพิเศษจะทำได้ยากมากๆ การให้ทันตกรรมป้องกันจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำเป็นอย่างมาก
การเคลือบหลุมร่องฟัน ควรทำเมื่อไหร่?
คำแนะนำของทันตแพทย์เด็กโดยทั่วไป คือ สามารถทำการเคลือบหลุมร่องฟันได้ เมื่อฟันน้ำนมหรือฟันแท้ซี่นั้นๆได้ขึ้นมาเต็มทั้งซี่ฟันแล้ว ทั้งนี้เพราะฟันที่ยังขึ้นมาไม่เต็มซี่คุณหมอฟันเด็กจะไม่สามารถกั้นน้ำลายได้อย่างเต็มที่ และไม่ได้ประโยชน์สูงสุดจากการทำการเคลือบหลุมร่องฟันค่ะ
แต่ทั้งนี้ในกรณีของเด็กที่มีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุสูงมากๆถึงแม้ฟันจะยังขึ้นไม่เต็มซี่ ทันตแพทย์เด็กก็อาจจะพิจารณาใช้วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันประเภทกลาสไอโอโนเมอร์ที่มีความอ่อนไหวต่อความชื้นต่ำ คือ สามารถยึดติดได้แม้ฟันจะยังมีเหงือกปกคลุมอยู่ รวมถึงมีความสามารถในการปลดปล่อยฟลูออไรด์มาเคลือบหลุมร่องฟันในฟันกรามที่ยังขึ้นไม่เต็มซี่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ
นอกจากนี้คำแนะนำจากคุณหมอฟันเด็กสำหรับการเคลือบหลุมร่องฟัน โดยแบ่งตามลำดับการขึ้นของซี่ฟัน ทั้งฟันน้ำนมและฟันแท้ตามอายุของเด็กๆที่คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถใช้อ้างอิงได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ
สำหรับเด็กเล็ก (อายุ 3-4 ปี)
เด็กเล็กในช่วงอายุ 3-4 ปี สามารถทำการเคลือบหลุมร่องฟันได้ในฟันกรามน้ำนมซึ่งจะขึ้นครบทุกซี่
สำหรับเด็กปฐมวัย (อายุ 6-7 ปี)
เด็กปฐมวัยในช่วงอายุ 6-7 ปี สามารถทำการเคลือบหลุมร่องฟันได้ในฟันกรามแท้ซี่แรกขึ้นในช่องปาก
สำหรับเด็กโต (อายุ 10-13 ปี)
เด็กโตในช่วงอายุ 10-13 ปี สามารถทำการเคลือบหลุมร่องฟัน ด้ในฟันกรามน้อยและฟันกรามแท้ซี่ที่ 2 ซึ่งจะขึ้นมาในช่วงอายุประมาณ 12 ปี
เคลือบหลุมร่องฟัน มีขั้นตอนอย่างไร?
สำหรับขั้นตอนการเคลือบหลุมร่องฟันโดยคุณหมอฟันเด็กจะมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังต่อไปนี้
1. ทันตแพทย์เด็กจะทำการขัดฟันให้สะอาด
อาจมีการใช้หัวขัดสำหรับขัดฟันหรือใช้เครื่องมือปลายแหลม เขี่ยเอาคราบจุลินทรีย์ที่ติดตามร่องฟันออกให้เกลี้ยง
2. ต่อมาทันตแพทย์เด็กจะทำการกั้นน้ำลาย
โดยคุณหมอฟันเด็กทำการกั้นน้ำลายก่อนการใช้กรดกัดที่ผิวฟัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อน
3. ทำการกัดผิวฟันด้วยกรดความเข้มข้นไม่สูง
ที่นิยมคือกรดฟอสฟอริคความเข้มข้น 37% เป็นเวลาประมาณ 15-20 วินาที เพื่อให้ผิวฟันเป็นรูพรุน อันจะทำให้วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันไหลลงไปตามรูเหล่านี้และผนึกแน่นอยู่กับผิวฟัน
4. ทำการล้างน้ำทำความสะอาดฟันซี่ที่ต้องการเคลือบหลุมร่องฟัน
เพื่อกำจัดกรดออกจากผิวฟันให้เกลี้ยงใช้เวลาประมาณ 15 วินาที โดยมีผู้ช่วยทันตแพทย์ใช้ที่ดูดน้ำลายดูดน้ำและกรดออก
5. ทำการกั้นน้ำลายอีกครั้ง
เพื่อไม่ให้น้ำลายเข้ามาขัดขวางการยึดติดระหว่างวัสดุที่ใช้สำหรับเคลือบร่องฟันกับผิวฟัน หากทันตแพทย์สามารถควบคุมความชื้นได้ 100% โอกาสที่วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันจะยึดติดกับผิวฟันจะสูงมาก แต่ถ้าหากทันตแพทย์กั้นน้ำลายได้ไม่ดีอาจทำให้วัสดุเคลือบร่องฟันหลุดได้ง่าย
6. เป่าลมเพื่อให้ฟันแห้งสนิท
โดยฟันที่เหมาะสมในการเคลือบหลุมร่องฟันจะมีลักษณะสีขาวขุ่น
7. ทาวัสดุเคลือบร่องฟันลงไปบนฟัน
โดยจะทาให้ครอบคลุมทุกร่องฟันที่ลึก ตามลักษณะทางกายวิภาคของฟันซี่นั้นๆ
8. จากนั้นทันตแพทย์เด็กจะฉายแสงสีฟ้า
โดยมีระยะเวลาในการฉาย 20-40 วินาที เพื่อให้วัสดุเคลือบร่องฟันแข็งตัวได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ในกระบวนการทั้งหมด ไม่ควรมีน้ำลายหรือความชื้นอื่นใด มารบกวนในกระบวนการแข็งตัวของวัสดุที่ใช้เคลือบหลุมร่องฟัน
9. คุณหมอฟันเด็กจะเช็ควัสดุเคลือบหลุมร่องฟัน
เพื่อตรวจเช็คความแข็งตัวว่ามีพื้นผิวเรียบดีหรือไม่ หากมีฟองอากาศหรือมีลักษณะขรุขระไม่เรียบ ทันตแพทย์จะทำการเติมวัสดุลงไปอีกครั้ง
10. หลังจากนั้นคุณหมอฟันอาจจะล้างน้ำที่ผิวฟันอีกรอบ
หรือให้เด็กลุกขึ้นมาบ้วนน้ำ เนื่องจากวัสดุเคลือบร่องฟันที่แข็งตัวแล้วจะมีรสชาติค่อนข้างขม
11. สุดท้ายทันตแพทย์เด็กจะทำการตรวจเช็คการสบฟัน
โดยดูว่ามีวัสดุที่สูงหรือค้ำอันจะส่งผลต่อการบดเคี้ยวตามปกติหรือไม่ ถ้ามีจะต้องกรอแก้ออกให้เรียบร้อย
หลังการเคลือบหลุมร่องฟัน ควรปฏิบัติอย่างไร?
เนื่องจากการเคลือบหลุมร่องฟันส่วนใหญ่แล้วจะใช้วัสดุที่แข็งตัวด้วยแสง รวมถึงทันตแพทย์ต้องทำการตรวจเช็คจนแน่ใจว่าวัสดุดังกล่าวแข็งตัว 100% จึงไม่ต้องงดน้ำหรืออาหารภายหลังทำ ผู้ที่ได้รับการเคลือบร่องฟันสามารถเคี้ยวอาหาร ดื่มน้ำ แปรงฟัน และทำกิจกรรมต่างๆได้ตามปกติเลยทันทีหลังเคลือบเสร็จ
ภายหลังการเคลือบหลุมร่องฟัน เด็กจะมีความรู้สึกว่าผิวของฟันเรียบและลื่นมากขึ้น เนื่องจากบริเวณร่องและหลุมของฟันที่เคยมีลักษณะขรุขระ จะถูกปิดด้วยวัสดุที่ทันตแพทย์ใช้เคลือบร่องฟัน
ข้อจำกัดของการเคลือบหลุมร่องฟัน
การเคลือบหลุมร่องฟันเป็นการรักษาทางทันตกรรมป้องกันที่ง่าย ได้ผลสำเร็จในการป้องกันฟันผุสูง ใช้เวลาไม่นาน ค่าใช้จ่ายไม่แพง และไม่มีความเจ็บปวดใดๆ แต่ในบางกรณีอาจไม่เหมาะที่จะทำการเคลือบหลุมร่องฟัน ดังเช่นในกรณีดังต่อไปนี้
- ฟันที่มีรอยผุลุกลามมากแล้ว อาจต้องให้การรักษาด้วยการอุดฟันแทนการเคลือบหลุมร่องฟัน
- เด็กเล็กที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือผู้ที่ไม่สามารถกั้นน้ำลายได้ เนื่องจากวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันมีความอ่อนไหวต่อความชื้นมาก การกั้นน้ำลายไม่ได้หรือมีน้ำลายมาปนเปื้อนระหว่างการทำ อาจทำให้เคลือบไม่อยู่และได้รับประโยชน์จากการเคลือบหลุมร่องฟันไม่เต็มที่
- ฟันซี่ที่อุดหรือครอบมาแล้ว รอยผุไม่สามารถเกิดขึ้นได้บนวัสดุอุดฟัน ถ้าไม่มีเนื้อฟันธรรมชาติก็ไม่จำเป็นต้องทำการเคลือบหลุมร่องฟัน
- ฟันที่สึกมาก จนไม่มีร่องและหลุมที่ลึก เนื่องจากฟันที่สึกมากบริเวณร่องและหลุมจะตื้น และไม่เป็นที่กักเก็บของเศษอาหารอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องทำการเคลือบหลุมร่องฟันซ้ำอีก
เคลือบหลุมร่องฟัน มีกี่ประเภท?
การเคลือบหลุมร่องฟัน แบ่งได้ 3 แบบด้วยกัน คือ
1. เคลือบด้วยวัสดุชนิดเรซิน
การเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุชนิดนี้เป็นที่นิยมที่สุดในการทำฟันเด็ก เนื่องจากวัสดุมีการยึดติดกับตัวฟันดี มีความแข็งแรง ทนทานต่อการบดเคี้ยวได้ ดังนั้นจึงสามารถป้องกันการเกิดฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัสดุที่ใช้ คือโพลิเมอร์ที่ไม่มีอันตรายต่อร่างกายและสามารถแข็งตัวได้ด้วยการฉายแสง โดยฟันที่ผ่านการเคลือบร่องฟันโดยวัสดุตัวนี้ จะมีเส้นสีขาวปรากฎอยู่บริเวณผิวหน้าของฟัน แต่ทั้งนี้วัสดุเรซินบางยี่ห้อจะมีสีใสซึ่งจะตรวจพบว่ามีการเคลือบร่องฟันไว้แล้วหรือยัง โดยการใช้วัสดุปลายแหลมเขี่ยดูว่าฟันมีผิวเรียบและลื่น
2. เคลือบด้วยวัสดุชนิดกลาสไอโอโนเมอร์
การใช้วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์ในการเคลือบหลุมร่องฟัน มักนิยมในกรณีที่ฟันยังขึ้นมาไม่เต็มซี่ อาจมีเหงือกบางส่วนปกคลุมตัวฟันอยู่ทำให้ไม่สามารถกันน้ำลยและความชื้นจากเหงือกได้ 100% ส่งผลให้วัสดุชนิดเรซินไม่สามารถยึดติดได้อย่างสมบูรณ์
เนื่องจากวัสดุกลาสไอโอโนเมอร์เป็นวัสดุที่มีความอ่อนไหวต่อความชื้นต่ำ จึงสามารถยึดติดกับตัวฟันที่ยังขึ้นมาบางส่วนได้ ทันตแพทย์สำหรับเด็กมักจะใช้วัสดุชนิดนี้ในการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กที่มีอัตราการเกิดฟันผุสูงๆ เพราะถ้าหากรอจนฟันขึ้นมาเต็มซี่อาจจะเกิดฟันผุขึ้นมาก่อนได้ค่ะ
ผู้ปกครองจะทราบได้อย่างไรว่าตัวฟันได้รับการเคลือบร่องฟันด้วยวัสดุตัวนี้ คำตอบคือ บริเวณด้านบดเคี้ยวของฟันจะมีวัสดุสีส้มอมชมพูทาทับอยู่ค่ะ แต่ทั้งนี้วัสดุกลาสไอโอโนเมอร์เป็นวัสดุที่หลุดร่อนได้ง่ายกว่าวัสดุเรซิน และมีความทนทานต่อการสึกกร่อนน้อยกว่าโพลิเมอร์ ทันตแพทย์สำหรับเด็กจึงมักจะนัดหมายมาเปลี่ยนเป็นวัสดุเรซินเมื่อฟันขึ้นเต็มซี่แล้ว
3. เคลือบพร้อมกับการอุดฟัน
ในกรณีที่มีฟันผุเกิดขึ้นแล้วบางส่วน ทันตแพทย์จะใช้วิธีการอุดฟันเฉพาะจุดที่มีการผุ และเนื้อฟันส่วนที่ยังไม่ผุจะใช้การเคลือบหลุมร่องฟันปิดทับไปเลย โดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อฟันที่ยังไม่ผุเกิดปัญหาฟันผุขึ้นมา
โดยส่วนใหญ่วัสดุที่เลือกใช้จะเป็นสารเคลือบร่องฟันชนิดเรซินที่แข็งตัวโดยการฉายแสง เพราะเป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่ใช้ในการอุดฟัน และผู้ปกครองจะสามารถสังเกตได้ว่ามีวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันติดอยู่ที่เนื้อฟัน โดยจะเห็นเป็นเส้นสีขาวที่บริเวณด้านบดเคี้ยวของฟัน แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นวัสดุชนิดเรซินบางยี่ห้อก็จะมีสีใสค่ะ
เคลือบหลุมร่องฟัน ราคาเท่าไหร่?
ราคาเคลือบหลุมร่องฟัน ซี่ละ 800 บาท สามารถดูได้ในตารางด้านล่างนี้ค่ะ และสำหรับค่าบริการทางทันตกรรมเด็กด้านอื่นๆ สามารถกดดูได้จากการกดปุ่มด้านล่างตารางนี้นะคะ ขอบพระคุณมากค่ะ
บริการทันตกรรมเด็ก | ค่าบริการ (บาท) |
เคลือบหลุมร่องฟัน (ต่อซี่) | 800 |
บทสรุป – เคลือบหลุมร่องฟัน
การเคลือบหลุมร่องฟัน เป็นวิธีทางทันตกรรมป้องกันที่ทำได้ไม่ยาก ใช้เวลาสั้นๆเพียง 1-2 นาทีต่อซี่ และสามารถป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเด็กทุกคนควรได้รับคำแนะนำให้เคลือบร่องฟัน โดยเฉพาะในฟันกรามแท้ที่เป็นฟันหลักในการบดเคี้ยว
วิธีการเคลือบหลุมร่องฟันนี้ นับเป็นงานทันตกรรมป้องกันที่ทำได้ง่าย ค่าใช้จ่ายไม่แพง ไม่มีความเจ็บปวดใดๆ และสามารถป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทันตแพทย์เด็กมักจะแนะนำให้ทำ เพื่อลดโอกาสในการเกิดฟันผุ สามารถทำได้ทั้งฟันแท้และฟันน้ำนมที่มีความเสี่ยงในการเกิดรอยผุค่ะ
คำถามที่พบบ่อย – เคลือบหลุมร่องฟัน
โดยปกติแล้ว วัสดุที่ใช้ในการเคลือบหลุมร่องฟัน จะสามารถอยู่ได้นาน 2-5 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้งานเป็นสำคัญ แม้ว่าวัสดุที่ใช้ในการเคลือบหลุมร่องฟัน จะอยู่ได้ค่อนข้างนานหลายปี คำแนะนำคือ ควรพาเด็กๆ ไปรับการตรวจเช็คอย่างสม่ำเสมอในทุกๆ 6 เดือน เพื่อดูว่าวัสดุที่ใช้เคลือบนั้น ยังมีสภาพสมบูรณ์ดีอยู่หรือไม่ ซี่งในกรณีที่มีส่วนสึกหายไป คุณหมอฟันเด็ก จะทำการซ่อมแซมให้ใหม่ค่ะ
การเคลือบหลุมร่องฟันสามารถทำในผู้ใหญ่ได้ โดยทันตแพทย์อาจแนะนำให้ทำกรณีที่มีหลุมร่องฟันลึกๆที่เศษอาหารมักลงไปติดบ่อยๆ แต่จะพบน้อยกว่าในเด็ก เนื่องจากเด็กๆมีกล้ามเนื้อที่ยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับฟันที่อยู่ซี่ในๆทำความสะอาดได้ยาก ยิ่งถ้ามีหลุมร่องฟันลึกคุณหมอฟันเด็กมักจะแนะนำให้ทำการเคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่ายขึ้นและช่วยลดโอกาสเกิดฟันผุนั่นเองค่ะ
รีวิวจากลูกค้าที่มาใช้บริการ
อ่านรีวิวจากลูกค้าที่มาใช้บริการด้านล่างนี้ได้เลยนะคะ
แผนที่
SmileDC คลินิกทันตกรรมสมายล์ ตั้งอยู่ในโครงการดิไอเฟล บนถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษก เขตสะพานสูง/รามคำแหง ฝั่งตรงข้ามวัดลาดบัวขาว ใกล้กับสุเหร่าซีรอ (ซอยมิสทีน รามคำแหง) นะคะ สามารถดูแผนที่ และกดปุ่มด้านล่างเพื่อนำทางด้วย Google Maps มายังคลินิกของเราได้เลยค่ะ
ติดต่อนัดหมายเคลือบหลุมร่องฟัน
ในกรณีที่คุณลูกค้ามีคำถามเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามหรือทำนัดหมายได้ทางช่องทางดังต่อไปนี้ค่ะ