ทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็ก คืออะไร?
ทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็ก (Preventive Dentistry) คือ วิธีการป้องกันปัญหาฟันผุและโรคในช่องปากของเด็กๆ ตั้งแต่เริ่มมีฟันน้ำนมซี่แรกขึ้นมาในช่องปาก (อายุประมาณ 8 เดือน) นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาฟันผุของเด็กๆได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ก่อนที่ปัญหาฟันผุเล็กๆเหล่านี้จะลุกลามใหญ่โต และส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงตามมาสำหรับการรักษาปัญหาฟันผุที่ลุกลามแล้ว เช่น การอุดฟันน้ำนมในเด็กเล็ก การรักษารากฟันน้ำนมร่วมกับการครอบฟันน้ำนม เป็นต้น
ทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็ก ได้แก่อะไรบ้าง?
จากที่ได้กล่าวมาในตอนต้น ทันตกรรมเชิงป้องกันในเด็ก จะเน้นการป้องกันปัญหาก่อนที่ฟันน้ำนมของเด็กๆจะเริ่มผุ บริการทันตกรรมเชิงป้องกันที่คุณหมอฟันเด็กแนะนำ ได้แก่
- การให้คำแนะนำเพื่อให้มีสุขภาพฟันที่ดีและมีสุขภาพช่องปากที่แข็งแรง
- การสอนการแปรงฟันและการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกต้องให้กับคุณพ่อคุณแม่
- การให้คำแนะนำในการเลิกขวดนม หรือการติดนิสัยดูดนิ้วมือในเด็กเล็ก รวมถึงการเลือกทานอาหารที่จะช่วยให้เด็กๆมีสุขภาพฟันที่แข็งแรง ห่างไกลจากฟันผุ
- การทำความสะอาดฟันด้วยการขัดฟันและตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 3-6 เดือน
- การเคลือบฟลูออไรด์ เพื่อช่วยป้องกันฟันผุได้ดียิ่งขึ้น
- การเคลือบหลุมร่องฟัน เพื่อทำให้หลุมร่องฟันตื้นขึ้นสำหรับฟันกรามน้ำนมด้านในที่ทำความสะอาดได้ยาก ช่วยลดโอกาสเกิดฟันผุเนื่องจากเศษอาหารตกลงไปในหลุมร่องฟันและทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ
- การเอ็กซ์เรย์ เพื่อตรวจหารอยผุเล็กๆในระยะเริ่มต้น ตรวจพัฒนาการของฟันและกระดูกขากรรไกร
- การทำ Mouth Guards สำหรับเด็กๆที่เป็นนักกีฬา เช่น ว่ายน้ำ เพื่อช่วยลดการผุกร่อนของฟันจากคลอรีนในสระว่ายน้ำ
- การจัดฟันในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เด็กที่มีการสบของฟันผิดปกติ หรือ มีฟันล่างคร่อมฟันบน เป็นต้น
- การส่งต่อทันตแพทย์เฉพาะทางด้านอื่นๆตามความจำเป็น เช่น การรักษารากฟันแท้
- ช่วยตรวจหาปัญหาสุขภาพอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับช่องปาก เช่น โรคเริมที่ปาก โรคตุ่มแผลในปากเด็ก (เฮอร์แปงไจน่า) เป็นต้น
ทันตกรรมป้องกัน มีประโยชน์อย่างไร?
หลังจากที่เราได้เรียนรู้บริการของคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับ ทันตกรรมป้องกัน มาแล้ว มาดูประโยชน์ของทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็กทั้ง 8 ข้อได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ช่วยให้สามารถตรวจพบปัญหาฟันผุได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ทำให้ลดระยะเวลาในการรักษาและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (หลักร้อย ถึง หลักพันบาท) เมื่อเทียบกับปัญหาฟันผุในระยะลุกลามที่ใช้ระยะเวลาในการรักษาที่ยาวนานรวมถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง (หลักหมื่น ถึง หลักแสน) เช่น เด็กที่มีฟันผุทั้งปากและต้องเข้ารับการรักษาด้วยการดมยาในห้องผ่าตัด เป็นต้น
- ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ โรคเหงือกอักเสบ หรือปัญหาสุขภาพช่องปากอื่นๆที่มีความความรุนแรงและส่งผลกระทบกับพัฒนาของเด็ก
- ช่วยส่งเสริมให้เกิดสุขลักษณะนิสัยที่ดีต่อสุขภาพฟันและช่องปาก เช่น การแปรงฟันวันละ 2 ครั้งต่อวัน และการใช้ไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาด
- ช่วยลดปัญหาทางทันตกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังบางอย่างได้ เช่น โรคเหงือกอักเสบที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวาน เนื้องอกหรือมะเร็จในช่องปากที่มีโอกาสตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังเหล่านี้ การดูแลสุขภาพฟันและช่องปากที่ดี อย่างสม่ำเสมอเป็นส่วนสำคัญของสุขภาพโดยรวม
- เด็กที่มีสุขภาพฟันที่แข็งแรง จะเคี้ยวและทานอาหารได้มากขึ้น ทำให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกายและส่งผลที่ดีต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกาย สติปัญหา และอารมณ์
- เด็กที่มีสุขภาพฟันที่ดี ไม่มีฟันผุในระยะรุนแรงที่ต้องถูกถอนฟันน้ำนมออกไปก่อนกำหนด จะมีพัฒนาการในการพูดได้เร็วและออกเสียงได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะฟันหน้าที่ใช้สำหรับการออกเสียง “ฟ” “ฝ” ในภาษาไทย และเสียง “f” “s” ในภาษาอังกฤษ มีงานวิจัยและข้อมูลทางทันตกรรมที่พบว่า เด็กที่สูญเสียฟันหน้า ที่เป็นฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็มักจะยังออกเสียงได้ไม่ชัดเจน แม้จะมีฟันหน้า ที่เป็นฟันแท้ขึ้นมาภายหลัง ทั้งนี้เพราะเคยชินกับการออกเสียงไม่ชัดแบบไม่มีฟันหน้าตอนสมัยเด็กๆนั่นเอง
- มีสุขภาพโดยรวมที่แข็งแรง เป็นผลดีต่อพัฒนาการของเด็ก เพราะเด็กที่มีฟันผุมากๆ แบคทีเรียในช่องปาก จะเข้าสู่ร่างกายและทำให้เกิดโรคเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าเด็กที่มีสุขภาพฟันที่แข็งแรง
- เด็กที่มีสุขภาพฟันที่แข็งแรงและมีสุขภาพช่องปากที่ดี จะช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพที่ดีและสร้างความมั่นใจในตัวเองจากรอยยิ้มที่สดใส
บทสรุปของทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็ก
ทันกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็ก เป็นการป้องกันปัญหาฟันผุ โรคเหงือก และโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับช่องปาก จะเห็นได้ว่าทันตกรรมเชิงป้องกันสำหรับเด็กนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมาก “การป้องกัน ย่อมดีกว่าการแก้ไขปัญหาภายหลัง” ดังนั้นการดูแลเอาใจใส่สุขภาพฟันของเด็กๆให้แข็งแรง ย่อมดีกว่าการต้องเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพฟันและช่องปากในภายหลังอย่างแน่นอน
กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ คือ การช่วยเด็กๆในการดูแลรักษาความสะอาดของฟันและช่องปากด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟัน รวมถึงการช่วยเลือกอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ และนัดพบคุณหมอฟันเด็กเฉพาะทางเพื่อตรวจสุขภาพฟันอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 6 เดือน เพียงเท่านี้คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองก็สามารถมั่นใจได้ว่า เด็กๆจะมีสุขภาพฟันที่แข็งแรงและมีสุขภาพช่องปากที่ดีอย่างแน่นอนค่ะ แล้วพบกันใหม่สำหรับบทความทันตกรรมเด็กในครั้งหน้านะคะ
ที่มาของแหล่งข้อมูล:
- https://store.aapd.org/index.php/patient-education/preventive-dentistry.html
- https://ppdental.anamai.moph.go.th/elderly/PR/media/family/f01.htm
- https://www2.nmd.go.th/dc/index.php?option=com_content&view=article&id=62&Itemid=73
- https://www.cigna.com/knowledge-center/what-is-preventive-dentistry